The Bangkok Insight

ข่าวดี! บอร์ดวัคซีนชาติ ไฟเขียว ผนึกทวิภาคี จองวัคซีนโควิดล่วงหน้า

บอร์ดวัคซีนชาติ ไฟเขียว แนวทางการจัดหา วัคซีนโควิด ล่วงหน้า ออกประกาศตาม ม.18 พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 

แพทย์หญิงพรรณประภา ยงค์ตระกูล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ หรือ บอร์ดวัคซีนชาติ ครั้งที่ 5/2563 ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม มีมติเห็นชอบ นโยบายในการจัดหาวัคซีน โดยการจองล่วงหน้า

บอร์ดวัคซีนชาติ

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ รับทราบว่า การจัดหาวัคซีน โดยการจองล่วงหน้า มีโอกาสทั้งได้วัคซีน หรือ ไม่ได้วัคซีนดังกล่าว แต่เพื่อให้ การจัดหาวัคซีน มีความรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และ ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงวัคซีน จึงต้องดำเนินการดังกล่าว

ดังนั้น จึงมีการยกร่าง ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การจัดหาวัคซีน ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน หรือ เหตุจำเป็น พ.ศ. 2563 ตามมาตรา 18 (4) แห่งพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561

พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลัก ในการทำข้อตกลง ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในส่วนของ COVAX facility และ การทำความร่วมมือ แบบทวิภาคี กับผู้ผลิตวัคซีน ที่กำลังทำการทดสอบในคน ระยะที่ 3 ทั้งในเอเชีย และยุโรป

สำหรับข้อตกลงดังกล่าว จะอยู่ภายใต้เงื่อนไข ในลักษณะเดียวกันกับ COVAX facility คือ ต้องลงนามทำสัญญา สำหรับการร่วมพัฒนาศักยภาพ การผลิตวัคซีน เพื่อจัดหาวัคซีน และมีการจ่ายเงิน ในการร่วมพัฒนาล่วงหน้า ก่อนที่จะมีวัคซีน

วัคซีนโควิด ๒๐๑๐๐๕

นอกจากนี้ ในที่ประชุม ได้มีการรายงานความคืบหน้า แผนเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีน ป้องกันโรคโควิด 19 ของประชาชนไทย ในโครงการพัฒนา วัคซีนต้นแบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ และ เตรียมความพร้อม รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิตวัคซีนโรคโควิด 19 วงเงิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับการจัดสรรจากงบกลางปี 2563

แผนดังกล่าว โดยแบ่งเป็น 3 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่

  • การพัฒนา วัคซีนต้นแบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ ในประเทศไทยชนิด mRNA โดย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 365 ล้านบาท
  • การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรม การผลิตวัคซีนชนิด Viral vector โดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จำนวน 600 ล้านบาท
  • การเพิ่มศักยภาพ โครงสร้างพื้นฐานด้านสัตว์ทดลอง ดำเนินการโดย ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 35 ล้านบาท

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยย้ำก่อนหน้านี้ว่า คนไทย ต้องได้รับวัคซีน เป็นกลุ่มประเทศแรก ของโลก

ทั้งนี้ ได้มอบหมาย ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ไปดูแลภารกิจดังกล่าว โดย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบเบื้องต้นมาให้ 1,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการ ในเรื่องดังกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo