The Bangkok Insight

‘ดีอี’ เปิดข่าวปลอมสุดฮอตรอบสัปดาห์ 8-14 มี.ค. เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ เช็คข้อมูลให้ดีก่อนแชร์

ดีอี สรุปข่าวปลอมรายสัปดาห์ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดพบข่าวปลอมด้านสุขภาพ  “มีติ่งเนื้อขึ้นบริเวณคอ แขน ข้อมือ เสี่ยงป่วยเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และไขมันในเลือดสูง” ขึ้นแท่นอันดับ 1 ตามด้วยข่าว “ผู้อื่นรู้ยอดเงินในธนาคารได้ หากรู้เบอร์มือถือที่ผูกพร้อมเพย์” เตือนประชาชนอย่าเสียรู้โจร รู้เท่าทัน ตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้าน ก่อนหลงเชื่อ หรือแชร์ข้อมูล

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฝ่ายข้าราชการประจำ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 8 – 14 มีนาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,199,812 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 143 ข้อความ

ข่าวปลอม

ช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 128 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 14 ข้อความ และแจ้งเบาะแสผ่านเฟซบุ๊กจำนวน 1 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 122 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 72 เรื่อง

ดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1: นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 82 เรื่อง อาทิ เพจเฟซบุ๊ก Summer sup เปิดรับสมัครตัวแทน งานฝีมือ งานสร้างสรรค์ รับรองโดยกรมการจัดหางาน เป็นต้น

กลุ่มที่ 2: ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 26 เรื่อง อาทิ ธนาคาร SCB ส่งเครื่องชาร์จแบตให้ลูกค้า หากเสียบชาร์จจะถูกดูดเงินทันที เป็นต้น

กลุ่มที่ 3: ภัยพิบัติ จำนวน 5 เรื่อง

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 9 เรื่อง อาทิ ตลาดหลักทรัพย์ฯและก.ล.ต. ร่วมกับ CPALL เปิดให้มือใหม่ทำการเทรด 30 หน่วย ราคาเพียง 1,289 บาท ปันผลกำไร 7%-12% เป็นต้น เป็นเรื่องการหลอกลวงธุรกรรมทางการเงิน จำนวน 5 เรื่อง

ข่าวปลอม

ข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชน มากที่สุด 10 อันดับ

อันดับที่ 1: เรื่อง มีติ่งเนื้อขึ้นบริเวณคอ แขน ข้อมือ เสี่ยงป่วยเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และไขมันในเลือดสูง

อันดับที่ 2: เรื่อง ผู้อื่นรู้ยอดเงินในธนาคารได้ หากรู้เบอร์มือถือที่ผูกพร้อมเพย์

อันดับที่ 3: เรื่อง ผู้สูงอายุรับเงิน 2 รอบ คนละ 1,300 บาท โอนทันที 8-13 มี.ค. 67

อันดับที่ 4: เรื่อง ขัดฟันด้วยผงถ่านคาร์บอน ช่วยทำให้ฟันขาว

อันดับที่ 5: เรื่อง สัญลักษณ์ Green Industry บนสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาอิสลาม

อันดับที่ 6: เรื่อง กรมขนส่งทางบกเปิดลงทะเบียนทำใบขับขี่ออนไลน์ ผ่านเพจ DLT Smart Queue ไม่ต้องเสียเวลาไปดำเนินการเอง

ข่าวปลอม

อันดับที่ 7: เรื่อง เติมน้ำมันพืชแทนน้ำมันดีเซล ช่วยให้รถยนต์ประหยัดน้ำมันมากขึ้น

อันดับที่ 8: เรื่อง หากขับรถต่ำกว่า 90 กม. แช่เลนขวา โดนแจ้งจับได้

อันดับที่ 9: เรื่อง เพจเฟซบุ๊กสำนักงานการไฟฟ้า แนะนำขั้นตอนการขอคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า

อันดับที่ 10: เรื่อง แบงก์พันปลอมหมายเลขเดียวกันจากต่างประเทศระบาดเข้าไทย

อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอี ขอให้ประชาชนตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์/โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน และมีการส่งต่อข้อมูลข่าวปลอมเหล่านี้ ก็จะทำให้ได้รับข้อมูลผิดๆ และส่งผลกระทบกับประชาชนที่หลงเชื่อข่าวปลอม ดังกล่าว

สามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่

  • ไลน์ @antifakenewscenter
  • เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/
  • ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand
  • ช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าวปลอม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

 

Avatar photo