The Bangkok Insight

เกิดอะไรขึ้น?  2 กลุ่มทุนใหญ่ ‘บิ๊กซี’ – ‘เอสซีจี เคมิคอลส์’ แตะเบรกเข้า IPO

เกิดอะไรขึ้น? กับตลาดหุ้นไทย เมื่อ 2 กลุ่มทุนใหญ่ “บิ๊กซี” – “เอสซีจี เคมิคอลส์” พับแผน IPO พร้อมกันถึง 2 แห่งในเวลาไล่เรี่ยกัน

กลายเป็นประเด็นที่ชวนตั้งคำถามไม่น้อยกับกรณีของ 2 บริษัทขนาดใหญ่ คือ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) และ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ออกมาประกาศชะลอแผนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมๆ กันเลย

2 กลุ่มทุนใหญ่

2 กลุ่มทุนใหญ่ พับแผน IPO

เริ่มจากวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ทาง SCC ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าความคืบหน้าของการเสนอขาย IPO ของ SCGC หรือ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) ทางบริษัทเห็นว่ายังไม่สามารถที่จะดำเนินการ IPO ได้ในช่วงเวลานี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 ให้ขยายระยะเวลาการอนุญาตเสนอขายหุ้น IPO ออกไปถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2566 และไม่สามารถขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปได้อีก

โดยบริษัทได้พิจารณาถึงความเหมาะสมต่างๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ที่จะรองรับ IPO ขนาดใหญ่จากบริษัทไทยในขณะนี้ รวมถึงสถานการณ์ภายนอก เช่น ด้านเศรษฐกิจและวิกฤตราคาพลังงาน เป็นต้น

2 กลุ่มทุนใหญ่

อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นในศักยภาพของ SCGC ในฐานะผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน และความสามารถในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผ่านการขยายธุรกิจ และการเข้าเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ประกอบธุรกิจปิโตรเคมีชั้นนำระดับโลก ทั้งนี้ มีความตั้งใจจะดำเนินการ IPO ของ SCGC อีกครั้งเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย

จากนั้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 เป็นคราวของ BRC หรือ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กันบ้าง โดยประกาศว่าจะชะลอการดำเนินการแผน IPO ตามที่ได้มีการสื่อสารออกไปก่อนหน้า การตัดสินใจครั้งนี้ได้พิจารณาจากสถานการณ์ตลาดทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่มีความผันผวนจากสภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวม รวมถึงการพิจารณาร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงิน จึงพิจารณาชะลอการดำเนินการตามแผน IPO ในครั้งนี้ออกไป แม้ว่าที่ผ่านมานักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศจะให้ความสนใจต่อแผน IPO เป็นอย่างดี

2 กลุ่มทุนใหญ่

ทั้งนี้ แผน IPO ของ BRC ได้อนุมัติจากณะกรรมการบริษัท BJC เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 และได้ยื่นไฟลิ่ง เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากนี้ BRC ยันยันว่ายังมีความมั่นใจในการเติบโตของธุรกิจ ที่กำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 และจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัทจะติดตามสภาวะของตลาดทุน และจะทบทวนแผน IPO ของ BRC อย่างใกล้ชิดเมื่อสถานการณ์ภาพรวมตลาดทุนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

คำถามคือเกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นไทย เมื่อมีบริษัทขนาดใหญ่ตัดสินใจพับแผน IPO พร้อมกันถึง 2 แห่งในเวลาไล่เรี่ยกันด้วย ซึ่งเมื่อเราเจาะไปดูเหตุผลในการตัดสินใจครั้งนี้ จะเห็นชัดเจนว่าประเด็นแรกเป็นเรื่องของสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมที่ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้

ส่วนอีกประเด็นนั้ นเป็นเรื่องของความพร้อมของตลาดหุ้นไทยในการรองรับกับเสนอขาย IPO ขนาดใหญ่  ข้อนี้ถือเป็นจุดที่น่ากังวลมากทีเดียว เนื่องจากเราจะเห็นว่าในช่วงหลายปีนี้มานี้ ตลาดหุ้นไทยมี Fund Flow ลดลงชัดเจน ทำให้ส่งผลไปถึงปริมาณการซื้อขายต่อวันที่ลดลงไปด้วย และแน่นอนว่าย่อมเป็นแรงกดดันต่อการเข้าตลาดของหุ้น IPO ขนาดใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แบบที่เราเห็นมาแล้วนักต่อนักในช่วง 1-2 ปีมานี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน