The Bangkok Insight

สะพรึง!! ไทยพบ ‘สายพันธุ์ XBB.1.16’ แล้ว 1 ราย ‘WHO’ บอกเหตุผล ทำไมสายพันธุ์นี้น่ากังวล

“ศูนย์จีโนมฯ” เผยข้อมูล GISAID พบโอไมครอนสายพันธุ์ XBB.1.16 แล้ว 1 รายในประเทศไทย หลัง WHO เพิ่มในรายชื่อโควิดสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ที่ต้องติดตาม

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เรื่อง องค์การอนามัยโลกระบุ ทุกคนเหนื่อยอ่อนและอยากเลิกที่จะสนใจโควิด-19 กันแล้ว แต่โอไมครอนลูกผสม XBB.1.16 ยังควรเฝ้าติดตาม ทำไม? และประเทศไทยพบ XBB.1.16 แล้ว 1 ราย โดยระบุว่า

สายพันธุ์ XBB.1.16

ดร. มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคด้านโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวเมื่อต้นสัปดาห์ในการแถลงข่าวว่า องค์การอนามัยโลก กำลังเฝ้าติดตามโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ XBB.1.16 ซึ่งถูกขนานนามโดยนักวิจัยบางท่านว่า อาร์คทูรัส (Arcturus) โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมากในอินเดีย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง

XBB.1.16 มีความคล้ายคลึงกับ คราเคน (Kraken) XBB.1.5 ที่พบระบาดมากในสหรัฐฯ ขณะนี้

หมายเหตุ อาร์คทูรัส เป็นชื่อดาวฤกษ์ที่มีชื่อว่า ดาวดวงแก้ว สว่างที่สุดในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ มีค่าความส่องสว่างปรากฏเท่ากับ -0.05 ถือเป็นดาวสว่างที่สุดลำดับที่ 3 บนท้องฟ้ายามราตรี (รองจากดาวซิริอุสและดาวคาโนปุส) ส่วน คราเคน เป็นสัตว์ทะเลในตำนานที่มีขนาดมหึมา ซึ่งว่ากันว่าปรากฏตัวนอกชายฝั่งนอร์เวย์

โอไมครอนลูกผสม XBB.1.16 มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามของไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติม ทำให้สามารถเกาะติดและติดเชื้อในเซลล์ของมนุษย์ ได้ดีกว่าทุกสายพันธุ์ที่ระบาดทั่วโลกในขณะนี้ ส่งผลให้ XBB.1.16 มีศักยภาพในการแพร่เชื้อได้มากขึ้น และอาจก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงขึ้นได้

จับผิววเซล 1

คำเตือนในลักษณะที่ว่า อาจก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงขึ้นได้ นั้น เราเคยได้ยินมาก่อนโดยเฉพาะกับ โอไมครอน ลูกผสม XBB.1.5 ที่อุบัติขึ้นในช่วงปลายปีที่แล้วและต้นปีนี้ โดยอิงจากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของไวรัสทั้งจีโนม ที่อาจไม่ตรงกับการสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงเสมอไป (โอมิครอนลูกผสม XBB.1.5 ไม่ก่อให้เกิดโรคที่รุนแรง) เนื่องจากลักษณะภูมิคุ้มกันของประชากรมีความซับซ้อนสูง

องค์การอนามัยโลก ได้เพิ่ม XBB.1.16 ในรายชื่อ โควิดสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ที่ต้องติดตาม ขององค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา

โอไมครอน XBB.1.16 พบในอินเดีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อิสราเอล แคนาดา มาเลเซีย เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ เยอรมนี เกาหลีใต้ สเปน เนเธอร์แลนด์ ไทย สวีเดน แอฟริกาใต้ อิตาลี และจีน

พบในไทย

มีรายงานพบ XBB.1.16 จำนวน 1 ราย ในประเทศไทย โดยการวิเคราะห์จากรหัสพันธุกรรมจากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก GISAID โดยทีมวิจัยของ ดร. ราช ราชนรายานันท์ จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอาร์คันซอ สหรัฐอเมริกา

องค์การอนามัยโรค รายงานว่า สายพันธุ์ XBB.1.16 มีวิวัฒนาการด้วยการผสมจีโนมรวมกันระหว่างโอมิครอนสองสายพันธุ์ (recombination) จากนั้นมีการกลายพันธุ์เพิ่มไปอีก 3 ตำแหน่งบนจีโนม

กลายพันธุ์

เหตุใดโอไมครอนสายพันธุ์ XBB.1.16 ถึงน่ากังวล

องค์การอนามัยโลกแจ้งว่า สิ่งที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือ การกลายพันธุ์ในตำแหน่ง K478R ซึ่งอาจทำให้สายพันธุ์นี้เอาชนะแอนติบอดีจากการติดเชื้อตามธรรมชาติก่อนหน้า และที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ที่ใช้หัวเชื้อเป็น BA.4 และ BA.5 ทำให้อาจมีผู้ติดเชื้อ และเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น และแพร่กระจายไปทั่วโลก

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมโดย ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี พบว่าโอมิครอนลูกผสม XBB.1.16 ยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการระบาดแซงหน้า XBB.1.5 ที่เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในสหรัฐฯ กล่าวคือมีความได้เปรียบในการเติบโตเหนือกว่า XBB.1.5 ถึง 159% ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา

ความรุนแรง

ดังนั้นจึงเป็นการสุ่มเสี่ยงเกินไปที่จะคาดว่าการรักษาด้วยยาต้านไวรัส เช่น แพกซ์โลวิด (Paxlovid) วัคซีน และการทดสอบการตรวจหาโควิดจากสิ่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการจะยังคงทำงานได้เต็มประสิทธิภาพเพราะไวรัสโควิด-19 ยังคงมีวิวัฒนาการดำเนินต่อไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo