Stock

เก็บภาษีขายหุ้น กระทบใครบ้าง?

เก็บภาษีขายหุ้น กระทบใครบ้าง? หลังจากที่ ครม. มีมติให้กลับมาจัดเก็บภาษีขายหุ้น หรือ Financial Transaction Tax  เฉพาะจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอัตรา 0.1% ของมูลค่าหุ้นที่ขาย 

เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงในวงกว้าง หลังจากที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.ก. ว่าด้วยการ “เก็บภาษีขายหุ้น” ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอในอัตรา 0.10% (คิดเป็น 0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น)

คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2566 โดยปีแรกจะเป็นการเก็บครึ่งหนึ่งที่อัตรา 0.055% จากนั้นจึงจะเพิ่มอัตราการจัดเก็บเป็น 0.11% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป วิธีการจัดเก็บนั้นจะคำนวณจากรายรับก่อนหักรายจ่าย

ภาษีขายหุ้น

ยกตัวอย่างเช่น หากเราขายหุ้นจำนวน 1,000,000 บาท แปลว่าจะเสียภาษีที่ 1,100 บาท

ทั้งนี้ ภาษีการขายหุ้น หรือ Financial Transaction Tax ในความเป็นจริงแล้วเป็นภาษี ที่มีกำหนดไว้อยู่แล้วโดยกฎหมาย แต่ได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2535 หรือนานกว่า 30 ปี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ทว่าการยกเลิกข้อยกเว้นนี้กระทรวงการคลังคาดว่า จะทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นราว10,000 – 20,000 ล้านบาทต่อปี

ปัจจุบันการลงทุนในตลาดหุ้น นักลงทุนจะมีต้นทุนในการซื้อขายจากภาษีต่างๆ ดังนี้

1. ผลกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ (Capital Gain Tax) เป็นภาษีที่เก็บจากส่วนต่างราคาในการขายหุ้น โดยคิดเฉพาะส่วนที่กำไร จะถูกนำไปคำนวณเป็นภาษีเงินได้นั่นเอง  ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีการเก็บภาษีส่วนนี้ สำหรับนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา แต่จะมีการเรียกเก็บกับนิติบุคคลที่มีกำไรส่วนนี้ (มีข้อยกเว้นบางกรณี)

2 ภาษีจากเงินปันผล (Dividend Tax) เป็นภาษีที่เก็บจากการที่นักลงทุนได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่ถือหุ้นอยู่ โดยจะมีการหัก ณ ที่จ่าย ในอัตรา 10% เสมอ และมีทางเลือกให้นักลงทุนสามารถขอเครดิตภาษีคืนได้ผ่านการยื่นภาษีเงินได้ประจำปี

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นภาษีที่เก็บจากค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหุ้น ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่อัตรา 7% ของค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้น จากธุรกรรมการซื้อและขายหุ้น

4. ภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (Financial Transaction Tax) ซึ่งก็คือภาษีที่เป็นประเด็นในตอนนี้นั่นเอง โดยจะเรียกเก็บในอัตรา 0.11% ตั้งแต่บาทแรกที่มีการขาย

ภาษีขายหุ้น

ผลกระทบจากการเก็บภาษีขายหุ้น ถือว่ามีหลายประเด็นที่ต้องกังวล เรื่องแรกเลยคือทุกๆ การซื้อขายของนักลงทุน จะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทันที โดยเฉพาะนักลงทุนสาย Day Trade ที่เน้นเก็งกำไรระยะสั้นจากการซื้อขาย และมีการส่งคำสั่งซื้อขายเป็นปริมาณครั้งที่มากในแต่ละวัน

บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด คาดว่าการเดินหน้าเก็บภาษีการขายหุ้นของภาครัฐ อาจกระทบต่อปริมาณการซื้อขายของตลาด เพราะนักลงทุนรายย่อยอาจมีต้นทุนการซื้อขายเพิ่มขึ้นถึง 40 – 60% ส่วนนักลงทุนรายใหญ่ต้นทุนอาจเพิ่มขึ้นถึง 4 – 5 เท่าตัว นอกจากนี้ อาจกระทบกับจิตวิทยาการลงทุนของตลาดรวมในระยะสั้นได้

นอกจากกลุ่มนักลงทุนที่จะได้รับผลกระทบแล้ว เรื่องนี้ยังกระทบต่อธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) โดยตรง เพราะทำให้คนอยากซื้อขายหุ้นน้อยลง และต้องดูด้วยว่าจะกระทบกับธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เช่น DW, DR และ Block Trade

บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) มองว่าจะเป็นผลกระทบเชิงลบ ต่อสภาพคล่องของตลาดหุ้นโดยรวม โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มหลักทรัพย์ ขณะที่หุ้นขนาดกลางและเล็ก ที่มีปริมาณการซื้อขายมากจากกลุ่มนักลงทุนรายย่อย ก็จะมีสภาพคล่องที่ลดลงด้วย

อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกมากมายที่หลายคนให้ความกังวล เช่น ต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจที่จะยิ่งสูงขึ้น ทั้งที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ยังไม่สามารถกลับมาเติบโตได้เต็มที่ รวมถึงเกิดต้นทุนภาษีซ้ำซ้อน สำหรับการพัฒนาสินค้าตลาดทุนใหม่ๆ อย่าง ETF และ SSF อ้างอิงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ภาษีขายหุ้น

ด้านสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ก็ได้ออกมาเปิดเผยถึงประเด็นนี้ว่าเคยส่งจดหมายทักท้วงต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่างต่อเนื่อง เพราะในช่วงที่ตลาดผันผวนอย่างยิ่ง สินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร ทองคำ ค่าเงิน และสินทรัพย์ใหม่อย่างคริปโต ได้ส่งผลกระทบต่อนักลงทุน และจะผันผวนไปอีกระยะ อีกทั้งยังมีวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นรออยู่ข้างหน้า ทำให้สภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ไทยลดลงเหลือน้อยกว่าครึ่งของก่อนหน้า จึงขอยืนยันว่าช่วงนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมของการเก็บภาษี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน