Stock

เจาะกลยุทธ์ร้านกาแฟ ในปั๊ม ‘OR – BCP – PTG’ แข่งกันเข้ม

เจาะกลยุทธ์ร้านกาแฟในปั๊มฯ “OR – BCP – PTG” แข่งกันเข้มข้น ยังคงเป็นธุรกิจที่เนื้อหอม เป็นการต่อยอด Traffic ของคนที่เข้ามาเติมน้ำมัน  ปี 2565 ประเมินว่ามูลค่าตลาดรวมจะอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท 

แม้ว่าตัวเลขตลาดร้านกาแฟ (Chain Cafe) ในช่วง 2-3 ปีมานี้ จะไม่ได้โตหวือหวามากนัก เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด โดยมูลค่าตลาดรวมปี 2563 และ 2564 อยู่ที่ประมาณ 27,000 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2565 ประเมินว่ามูลค่าตลาดรวมจะอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท จากปริมาณการบริโภคกาแฟอยู่ที่ 300 แก้วต่อคนต่อปี

แต่จุดที่น่าสนใจก็คือ ในเวลานี้ผู้เล่นแบรนด์ใหญ่ ๆ ที่แข็งแกร่งในตลาด กลับใช้กลยุทธ์เร่งขยายสาขาชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับเทรนด์การดื่มกาแฟนอกบ้านที่คาดว่ากำลังจะกลับมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดอีกครั้ง หลังการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

ร้านกาแฟ

ปัจจุบันผู้เล่น Top 4 ในตลาดร้านกาแฟ ได้แก่ 1. Cafe Amazon 2. Starbucks 3. Inthanin Coffee และ 4. PunThai Coffee ซึ่งพบว่า 3 ใน 4 เป็นแบรนด์ร้านกาแฟที่เกิดจากสถานีบริการน้ำมันที่ขับเคี้ยวกันอย่างเข้มข้น บทความนี้เราจึงจะพามาดูกันว่าแต่ละบริษัทมีจุดเด่นและกลยุทธ์ขยายตลาดอย่างไรบ้าง

1. ร้าน Cafe Amazon บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR
แบรนด์เบอร์หนึ่งที่ครองส่วนแบ่งการตลาดได้มากกว่า 40% ของตลาดร้านกาแฟไทย อีกทั้งยังเป็นเชนร้านกาแฟที่มีสาขามากเป็นอันดับ 6 ของโลก และมีรายได้จากร้านกาแฟอยู่ที่อันดับ 12 ของโลก ทำให้ Cafe Amazon เป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งและได้เปรียบเชิงการแข่งขันมากทีเดียว

ปัจจุบัน (30 มิ.ย. 2565) มีจำนวนสาขาครอบคลุมทุกพื้นที่กว่า 3,728 สาขา แบ่งเป็นในปั๊มน้ำมัน PTT Station 57% และนอกปั๊มน้ำมัน 43% บริษัทเดินหน้ากลยุทธ์ขยายสาขาเพิ่มเป็น 5,800 สาขา ภายในปี 2568 พร้อมมีแผนตีตลาดต่างประเทศเพิ่มเติม ได้แก่ จีน มาเลเซีย ลาว กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เวียดนาม โอมาน และซาอุดิอาระเบีย

นอกจากจำนวนสาขาที่เยอะและจับกลุ่มแมสแล้ว Cafe Amazon ก็หันไปเจาะตลาดพรีเมียมในกลุุ่ม Specialty coffee อีกด้วย จากการเข้าลงทุนใน Pacamara Coffee Roasters ของบริษัท พีเบอร์รี่ ไทย จำกัด ในสัดส่วนการถือหุ้น 65% ซึ่งจะช่วยขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น และมีความหลากหลายของวัตถุดิบอย่างเมล็ดกาแฟมากยิ่งขึ้น

ร้านกาแฟ

2. ร้าน Inthanin Coffee บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP
ผู้เล่นเบอร์สองที่ปัจจุบัน (30 มิ.ย. 2565) มีจำนวน 886 สาขา อยู่ในปั๊มน้ำมันบางจาก 59% และนอกปั๊มน้ำมัน 41% บริษัทมีเป้าหมายสิ้นปีนี้จะมีเพิ่มจำนวนเป็น 1,000 สาขา โดยให้สัดส่วนในปั๊มและนอกปั๊มเท่ากัน รวมทั้งบุกตลาดต่างประเทศเพิ่มเติม เน้นในประเทศลาวและกัมพูชาที่บริษัทเข้าไปลงทุนตั้งแต่ปี 2561

จุดเด่นที่ Inthanin Coffee แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นๆ ในตลาด นั่นคือการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเป็นแบรนด์แรกๆ ที่เปลี่ยนมาใช้แก้วไบโอพลาสติก หรือ BIO CUP ทั้งหมด 100% สามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติภายใน 180 วัน ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

ร้านกาแฟ

3. ร้าน PunThai Coffee บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG
แบรนด์ร้านกาแฟน้องใหม่ที่ต้องการจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นเบอร์ 2 แทนที่ Inthanin Coffee ด้วยเป้าหมายภายในปี 2566 มีจำนวนสาขา 1,500 แห่ง หรือโต 3 เท่าจากปัจจุบัน (30 มิ.ย. 2565) ที่มีกว่า 500 สาขา แบ่งเป็นสาขาในปั๊มน้ำมันพีที 70% และสาขาที่อยู่นอกปั๊มน้ำมัน 30%

ร้านกาแฟ

PunThai Coffee จะเร่งสปีดการเติบโตผ่านกลยุทธ์ขยายสาขาแฟรนไชส์ด้วยรูปแบบการลงทุนหลากหลายโมเดล เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละทำเลพื้นที่ กลุ่มเป้าหมายหลักคือคนทำงานในเขตเมืองย่านธุรกิจ (CBD)

ทั้งนี้ บริษัทพร้อมช่วยหาแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ที่สนใจร่วมแฟรนไชส์ และจะมีธนาคารที่เป็นพาร์ทเนอร์ พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษเพื่อการลงทุน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมถึงเปิดโอกาสให้เข้ามาร่วมเป็นเอ็กเซ็กคูลซีฟแฟรนไชส์ (Sub-Area Franchise) เพื่อแก้ Pain Point ของผู้ประกอบการร้านกาแฟพร้อมดึงดูดความสนใจมากขึ้น

ร้านกาแฟ

ร้านกาแฟยังคงเป็นธุรกิจที่มีความเนื้อหอม และสร้างเสน่ห์ให้หุ้นปั๊มน้ำมัน เพราะเป็นการต่อยอด Traffic ของคนที่เข้ามาเติมน้ำมันเป็นประจำไปสู่ธุรกิจที่มีมาร์จินสูงขึ้น ซึ่งทุกบริษัทก็ล้วนแต่มีวิสัยทัศน์ก้าวสู่ความเป็น Non-Oil มากขึ้น เพื่อขยายพอร์ตรายได้ และลดความผันผวนของการขายน้ำมันเพียงอย่างเดียว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน