Stock

ตลาดช็อก! ‘ดาวโจนส์’ ดิ่งเหว ร่วงกว่า 1,000 จุด หวั่น ‘เงินเฟ้อ’ พุ่งสูง หนุน ‘เฟด’ ขึ้นดอกเบี้ยแรง 1%

ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ของสหรัฐ ปิดซื้อขายเมื่อวานนี้ (14 ก.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยที่ “ดาวโจนส์” ทรุดหนัก ดิ่งลงกว่า 1,000 จุด เหตุนักลงทุนพากันเทขายหุ้น หลังข้อมูลแสดงให้เห็นว่า “เงินเฟ้อ” พุ่งสูง ทำให้เกิดความวิตกว่า “เฟด” อาจขึ้นดอกเบี้ยถึง 1% ในการประชุมเดือนนี้ 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดที่ 31,104.97 จุด ร่วงลง 1,276.37 จุด หรือ -3.94% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 3,932.69 จุด ลดลง 177.72 จุด หรือ -4.32% และดัชนีแนสแด็ก ปิดที่ 11,633.57 จุด ร่วงลง 632.84 จุด หรือ -5.16%

ดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีร่วงลงเป็นเปอร์เซ็นต์ในวันเดียวรุนแรงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 เป็นต้นมา หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.3% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.1%

ดาวโจนส์

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ไม่นับรวมราคาในหมวดอาหาร และพลังงาน เพิ่มขึ้น 6.3% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.1%

นักวิเคราะห์ชี้ว่า นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาอย่างหนัก หลังจากสหรัฐ เปิดตัวเลข CPI ที่สูงกว่าคาด โดยข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่า สหรัฐยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงมาก และจะผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ซึ่งถือเป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้น เพราะนักลงทุนกังวลว่า การขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเวลานานจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

นักลงทุนเริ่มคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงถึง 1.00% ในการประชุมระหว่างวันที่ 20-21 กันยายนนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลข CPI ที่สูงกว่าคาด โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 32% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 1.00% มาอยู่ที่ 3.25-3.50% และให้น้ำหนัก 82% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75%

ราคาหุ้นร่วงลงทุกกลุ่ม นำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย โดยหุ้นแอปเปิ้ล ร่วงลง 5.87% หุ้นเมตา แพลทฟอร์มส์ ดิ่งลง 9.37% หุ้นอเมซอนร่วงลง 7.067% หุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 5.5% หุ้นอัลฟาเฟท ดิ่งลง 5.9%

นักลงทุน ยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมถึง ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนสิงหาคม, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคม และดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนกันยายน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo