Stock

หุ้น ‘สแนป’ ทรุดหนักเกือบ 40% ฉุด ‘ดาวโจนส์-แนสแด็ก’ ดิ่งแรง

ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ของสหรัฐ ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (24 พ.ค.) โดยที่ “ดาวโจนส์” ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง และ “แนสแด็ก” ดิ่งแรง หลังบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง “สแนป” คาดการณ์ถึงผลประกอบการที่ซบเซา ทำให้เกิดแรงเทขายหนัก เนื่องจากนักลงทุนกังวลมากขึ้นถึงภาวะเงินเฟ้อ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 31,699.75 จุด ร่วงลง 180.49 จุด หรือ 0.57% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ 3,921.68 จุด ลดลง 52.07 จุด หรือ 1.31% และดัชนีแนสแด็กที่ 11,268.01 จุด ดิ่งแรง 267.26 จุด หรือ 2.32%

ดาวโจนส์

นายอีแวน สปีเกล ซีอีโอ สแนป ซึ่งเป็นเจ้าของแอปพลิเคชัน “สแนปแชท” (Snapchat) ระบุว่า บริษัทอาจพลาดเป้าหมายทั้งในด้านรายได้ และกำไรในไตรมาสปัจจุบัน พร้อมกับเตือนว่า อาจชะลอการจ้างงานไปจนถึงสิ้นปีนี้เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย

ข่าวดังกล่าว ฉุดราคาหุ้นสแนป และหุ้นบริษัทเทคโนโลยีรายอื่น ๆ ร่วงลงอย่างหนัก โดยหุ้นสแนปทรุดตัวลงมากถึง 39.7% ส่วนหุ้นเมตา แพลตฟอร์มส์ร่วงลง 6% ขณะที่ดัชนีหุ้น 9 ตัว ใน 11 กลุ่มหลักของดัชนีเอสแอนด์พี 500 พร้อมใจกันร่วงลง รวมถึง กลุ่มสื่อสาร ที่ร่วงลง 5.2%

ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์ปิดพุ่งขึ้นกว่า 600 จุด เมื่อวานนี้ (23 พ.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มธนาคาร รวมทั้งการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนส่งสัญญาณยุติการทำสงครามการค้ากับจีน โดยผู้นำสหรัฐ มีกำหนดหารือกับนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการปรับลดภาษีสินค้านำเข้าจากจีน หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการเดินทางเยือนญี่ปุ่น และกลับสู่สหรัฐ

คำสั่งของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 3.50 แสนล้านดอลลาร์จะหมดอายุลงโดยอัตโนมัติในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ ขณะที่มีการคาดการณ์กันว่ารัฐบาลประธานาธิบดีไบเดน จะไม่ขยายระยะเวลาการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว ท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในสหรัฐ

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า การยกเลิกมาตรการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน จะช่วยบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐ โดยการผ่อนปรน หรือยกเลิกมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าทั้งหมด อาจเป็นหนึ่งในทางเลือกเพียงไม่กี่ทาง ที่ทำเนียบขาวจำเป็นจะต้องทำ เพื่อฉุดต้นทุนสินค้าทุกประเภทให้ลดลง หลังจากที่เงินเฟ้อพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

นักลงทุนยังจับตา รายงานการประชุมประจำเดือนพฤษภาคมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะเปิดเผยในวันพรุ่งนี้ (25 พ.ค.) เพื่อหาทิศทางอัตราดอกเบี้ยและการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ของเฟด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo