Stock

ไทม์ไลน์ไทยพาณิชย์ปรับโครงสร้างใหญ่ นำหุ้น SCBx เข้าตลาดแทน SCB

ไทยพาณิชย์ปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ โดยจะมีการเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทและโครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่ม SCB โดยคาดว่าขั้นตอนทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในเดือนมีนาคมปีหน้า

ขั้นตอนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่ม SCB และการนำหุ้นของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ (SCBx) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แทนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีกรอบเวลาดังนี้

ไทยพาณิชย์ปรับโครงสร้าง

-วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (EGM) เพื่ออนุมัติการปรับโครงสร้างของกลุ่มธุรกิจโดยอนุมัติให้ดำเนินการแลกหุ้นจาก “SCB” เป็น “SCBx” และนำหุ้น “SCBx” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ “SCB”

-มกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 ผู้ถือหุ้นทำคำตอบรับการเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) จากบริษัท SCBx  (1 หุ้น SCB ต่อ 1 หุ้น SCBx ) โดยผู้ถือหุ้นต้องตอบรับคำเสนอซื้ออย่างน้อย 90%

-มีนาคม 2565 หุ้น “SCBx” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) และเพิกถอนหุ้น “SCB” ในวันเดียวกัน

-มิถุนายน 2565 SCB จ่ายเงินปันผลให้ “SCBx จำนวน 70,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินการดังต่อไปนี้

  • นำไปซื้อกิจการบางส่วนจากธนาคารตามแผนปรับโครงสร้างของกลุ่ม
  • นำไปลงทุนในกิจการใหม่ๆ ตามแผนงานของกลุ่ม
  • นำไปใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจของ “SCBx
  • นำไปจ่ายเงินปันผลตามผลประกอบการและนโยบายของกลุ่ม

ในกรณีที่มีผู้ตอบรับคำเสนอซื้อ Tender Offer มากกว่า 90% ผู้ที่ไม่ตอบรับคำเสนอซื้อจะยังคงถือหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งจะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และจะเสียสิทธิที่พึงได้จากการเป็นบริษัทหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ไทยพาณิชย์ปรับโครงสร้าง

 

จากธนาคารกลายเป็น “แพลตฟอร์มเทคโนโลยีการเงิน”

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร SCB กล่าวหลังจากนี้ 3 ปี SCB จะไม่เท่ากับธนาคารอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นกลุ่มบริษัทที่มีธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี (technology platform) ที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ของผู้บริโภคและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในระดับโลกได้อย่างทัดเทียม เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นทดแทนธุรกิจธนาคารที่อาจจะมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที”

ที่ประชุมคณะกรรมการ อนุมัติแผนไทยพาณิชย์ปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงินและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้น โดยธนาคารจัดตั้ง บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCBx) หรือปัจจุบันใช้ชื่อว่า บมจ.ไทยพาณิชย์ โฮลดิ้งส์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเปลี่ยนชื่อเป็น SCBx ซึ่งจะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของธนาคารจากผู้ถือหุ้น ด้วยการออกและเสนอขายหุ้นามัญเพิ่มทุนเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของธนาคาร (Share Swap) ในอัตราการแลกเท่ากับ 1 หุ้นสามัญของธนาคารต่อ 1 หุ้นสามัญของ SCBx และ 1 หุ้นบุริมสิทธิของธนาคารต่อ 1 หุ้นของ SCBx

ในการทำคำเสนอซื้อดังกล่าว SCB จะยกเลิกคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ หากจำนวนหุ้นที่มีผู้แสดงเจตนาขายมีจำนวนน้อยกว่า 90% ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของธนาคาร และภายหลังการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของธนาคารเสร็จสิ้น หลักทรัพย์ของ SCBX จะเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทน SCB ซึ่งจะถูกเพิกถอนออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันเดียวกัน

พร้อมกันนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ SCB ยังอนุมัติการโอนย้ายบริษัทย่อยและการโอนธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจ สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้น ให้แก่ SCBxหรือบริษัทย่อยของ SCBx โดย ธนาคารประมาณการว่ามูลค่ารวมของการโอนย้ายบริษัทย่อยจะอยู่ที่ประมาณ 19,504 ล้านบาท

ธนาคารจะโอนธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน (อันได้แก่ ทรัพย์สิน หนี้สิน และสิทธิ เรียกร้องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน) ให้แก่บริษัทย่อยที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ของ SCBx โดย SCBxจะถือหุ้นในบริษัทย่อยดังกล่าวเกือบทั้งสิ้น (ร้อยละ 99.99) หรือ Card X เพื่อมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน

ในส่วนของสิทธิเรียกร้องที่ เป็นคดีความ และสิทธิเรียกร้องที่ค้างชำระที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มี หลักประกันนั้น ธนาคารจะโอนให้แก่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะถูกจัดตั้งขึ้นเป็นบริษัทย่อยของ Card X (โดย Card X จะถือหุ้นในบริษัทย่อยดังกล่าวเกือบทั้งสิ้น)

ทั้งนี้ การโอนธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่ มีหลักประกัน รวมถึงการจัดตั้ง CardX และบริษัทบริหารสินทรัพย์ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของธนาคาร

ปันผลให้ SCBราว 7 หมื่นล้าน

นอกจากนั้น คณะกรรมการธนาคารยังอนุมัติหลักการที่จะให้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากกำไรสุทธิประจำปี และกำไรสะสมตามงบการเงินเฉพาะล่าสุดของธนาคารประมาณ 70,000 ล้านบาท ให้แก่ SCBX และผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ โดยธนาคารคาดว่าเงินปันผลส่วนใหญ่ที่ธนาคารจะจ่ายให้กับ SCBX จะถูกใช้เพื่อเป็นค่าตอบแทนสำหรับการรับโอนบริษัท ย่อยและธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน และ เป็นเงินลงทุนสำหรับ SCBX ในการขยายธุรกิจในอนาคต รวมทั้งเพื่อเป็นเงินปันผลที่ SCBX จะพิจารณาจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นภายหลังการแลกหุ้น

ในการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลครั้งนี้จะทำให้เงินกองทุนของธนาคารลดลง แต่จะยังมี ระดับเงินกองทุนที่เพียงพอให้ธนาคารดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและแข็งแรง และจะไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะทาง การเงินของธนาคารอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ธนาคารได้ดำเนินการแต่งตั้ง บล.เกียรตินาคินภัทร เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) เพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นแก่ผู้ถือหุ้นของธนาคาร โดยได้พิจารณากำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2564 ในวันที่ 6 ตุลาคม 2564

ดันมาร์เก็ตแคปแตะ 1 ล้านล้านในปี 2568

นายอาทิตย์ กล่าวในการแถลงข่าวว่า ปี 2568 จะเป็นการมาถึงของ decentralized finance technology การขยายตัวและการบุกของแพลตฟอร์มระดับโลกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด (post-covid) รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไปอย่างมาก จะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจ (business model) ในแบบ intermediaries หรือการเป็นตัวกลางเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารแบบดั้งเดิมจะลดบทบาทลง เพราะจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังใหม่ของผู้บริโภคได้ ความสำคัญของธนาคารต่อผู้บริโภคจะลดลงและจะส่งผลลบต่อการให้มูลค่าอนาคตของนักลงทุนต่อธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แนวโน้มของการถูก disrupt นั้นเริ่มมาเมื่อหกปีก่อนและชัดเจนมากในอีกสามปีข้างหน้า SCB ได้ตั้งโจทย์และเพิ่มศักยภาพตัวเองมาโดยตลอด และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่สำคัญที่สุดในการตั้งคำถามแห่งอนาคตว่าในช่วงเวลาสามปีจากนี้ที่เข้มข้นที่สุด SCB จะต้องแปลงสภาพตัวเองอย่างไรจึงจะสามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นและผู้บริโภค รวมถึงสามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้

SCB จึงจะต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป หากแต่ต้องใช้ความเข้มแข็งทางการเงินของธุรกิจธนาคารปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ เร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินประเภทอื่นที่ตลาดต้องการ และสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี (technology platform) ขนาดใหญ่ให้ทัดเทียมกับคู่แข่งระดับโลก เข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อที่จะอยู่รอดปลอดภัยในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้

โดยกลยุทธ์เสริมความแข็งแกร่งธนาคารควบคู่ไปกับการสร้างธุรกิจใหม่สำหรับอนาคตนั้น ในส่วนของธนาคารจะมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการปรับลดกระบวนการขั้นตอนต่างๆให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้มากที่สุดในทุกช่องทาง ธนาคารจะเน้นความสำคัญกับการสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าเป็นที่ตั้ง

SCB จะไม่เท่ากับธนาคารในความหมายเดิมอีก แต่จะแปลงสภาพกลายเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินที่มีธุรกิจธนาคารที่แข็งแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และจะขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลที่มีการเติบโตสูงที่ธนาคารไม่สามารถตอบสนองได้ โดยแต่ละธุรกิจ SCB จะร่วมมือกับพันธมิตรระดับประเทศและระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่งที่จะเริ่มเปิดตัวในอนาคตอันใกล้นี้

นอกจากการขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลแล้ว SCB จะต้องยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มในการสามารถสร้างและบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (technology platform) หลังจากนำร่องด้วย “โรบินฮู้ด ฟู้ดเดลิเวอรี” เป็นโครงการแรก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกับแพลตฟอร์มระดับโลก และได้สร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านเทคโนโลยี โดยเริ่มจากการก่อตั้งบริษัท “SCB Tech X” และบริษัท “Data X” ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก เพื่อสร้างขีดความสามารถพื้นฐานด้านเทคโนโลยีภายในที่จะสามารถสร้างและ scale platform ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

นอกจากนั้น SCB จะขยายเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset business) ในระดับโลกเพื่อเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตผ่าน SCB 10X และ บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) โดยการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจ digital asset ด้านต่างๆ ใน business model ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มในระยะยาว

ในปี 2568 ความคาดหวังของ SCB คือ การสามารถสร้างมูลค่าของบริษัทจากธุรกิจใหม่ให้มีขนาดที่มีนัยสำคัญนอกเหนือจากผลกำไรพื้นฐานและความมั่นคงของธุรกิจธนาคารหลัก ซึ่งรวมถึงการสร้างฐานลูกค้าในระบบให้ได้ถึง 200 ล้านคน การขยายธุรกิจใหม่ออกสู่ต่างประเทศ และการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี (technology platform) ขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก

การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ในครั้งนี้เพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจในภาพรวมผ่านการจัดตั้งบริษัทใหม่ที่ธนาคารเรียกว่าเป็น “ยานแม่” หรือ “Mother hood” ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ คือ เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) ซึ่งจะเป็นบริษัทใหม่ที่ธนาคารจะเปลี่ยนเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทนธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBX) ซึ่งเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดจากกฎระเบียบแบบเดิมที่ธนาคารทำไม่ได้ ทำให้การดำเนินธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น และสามารถลงทุนในธุรกิจอื่นๆที่ต่อยอดการเติบโตได้

ตั้งเป้าเป็นบริษัทระดับภูมิภาค

ไทยพาณิชย์ปรับโครงสร้าง มาเป็น SCBX ในครั้งนี้ ตามแผนงาน 5 ปีที่ตั้งไว้ถึงปี 2568 จะตั้งเป้าขึ้นเป็นบริษัทในระดับภูมิภาคและนานาชาติ ซึ่งจะครอบคลุมการขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 200 ล้านราย สามารถผลักดันการเติบโตของผลการดำเนินงานได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า (Quality Earning 2X) และผลักดันมูลค่าหลักทรัพย์ในตลาด (Market Cap) ของ SCBX แตะ 1 ล้านล้านบาทภายในปี 2568

ด้านการต่อยอดการเติบโตของธุรกิจภายใต้การดำเนินการของ SCBX จะมีการนำธุรกิจในเครือของ SCB เข้าไปจัดตั้งบริษัทย่อยต่างๆราว 15-16 บริษัท เพื่อให้มีการบริหารงานที่คล่องตัวมากขึ้น และสามารถรุกขยายธุรกิจได้อย่างเต็มที่ โดยมีทีมผู้บริหารจาก SCB เข้าไปบริหารงานในบริษัทย่อยต่างๆ

  • CardX ธุรกิจบัตรเครดิตออกจากบริษัท
  • Alpha X เป็นการร่วมมือกับ Millennium Group ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อสำหรับรถหรู
  • Auto X ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
  • Tech X ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกทำธุรกิจเทคโนโลยี
  • AISCB เป็นการร่วมมือกับ AIS ทำสินเชื่อดิจิทัล
  • Robinhood ธุรกิจส่งอาหาร
  • CPG-SCB VC Fund ร่วมมือกับเครือซีพี ในการจัดตั้ง VC Fund

และธุรกิจอื่นๆที่จะมีการจัดตั้งเพิ่มเติม คือ Data X, SCB Securities, TokenX, SCBABACUS และ monix

“ภายในเราเรียกว่าว่าการ Re-imagine เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดของการเป็นธนาคาร ทำให้เราสามารถก้าวไปสุ่การเติบโตในโลกยุคใหม่ได้ สามารถขึ้นเป็นบริษัทระดับ Reginal และ International สร้างการเติบโตของ Earning ที่มีคุณภาพ เป็นก้าวใหม่ของ SCB ที่จะเดินหน้าปรับเปลี่ยนเพื่อการเติบโตในอนาคต”

SCBX แม้ว่าจะเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ แต่ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีธุรกิจในเครือที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงิน แต่ในส่วนของใบอนุญาตต่างๆทางบริษัทในเครือจะเป็นผู้ขอใบอนุญาตในการดำเนินกิจการ ไม่เกี่ยวข้องกับ SCBX และในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ลูกค้ายังคงใช้บริการเงินฝาก สินเชื่อ และบริการอื่นๆ ยังคงมีการบริการลูกค้าเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีการรีแบรนด์ธนาคารไทยพาณิชย์ใหม่

“แบงก์ SCB ยังไม่หายไปไหน ยังคงเป็นธนาคารที่ให้บริการลูกค้าเหมือนเดิม ลัญลักษณ์ใบโพธิ์ และฐานปฏิบัติการของแบงก์ก็ยังเหมือนเดิม ลูกค้ามั่นใจในการใช้บริการได้เหมือนเดิม บริการต่างๆที่ลูกค้าทำก็ยังคงใช้บริการได้ปกติ”

บริษัทที่อยู่ภายใต้ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBX)

บริษัท เอไอเอสซีบี จำกัด (AISCB) 

นายกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 

  • บริษัทร่วมทุนระหว่าง “เอไอเอส” และ “ธนาคารไทยพาณิชย์” เพื่อร่วมกันให้บริการสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) บนแพลตฟอร์ม ครอบคลุมฐานลูกค้าทั้งสององค์กรกว่า 50 ล้านคน ก่อนขยายสู่บริการทางการเงินอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

บริษัทร่วมทุนกับเครือเจริญโภคภัณฑ์เพื่อบริหารจัดการกองทุนในกองทุน Venture Capital (SCB – CP Group JV)  บริหารจัดการกองทุน โดย SCB 10X บริษัทโฮลดิ้งคอมพานีในเครือธนาคารไทยพาณิชย์

นางมุขยา พานิช  Managing Partner 

  • เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ จับมือร่วมกันก่อตั้งกองทุน Venture Capital ภายใต้การทำหน้าที่เป็น Fund General Partner ด้วยสัดส่วนถือหุ้น 50:50
  • ร่วมลงทุนในกองทุน Venture Capital ขนาด 600 – 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นจำนวนเงินฝ่ายละ 100 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ และได้รับการร่วมลงทุนจากนักลงทุนที่ได้รับการรับรองในจำนวน 400 – 600 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ 
  • มุ่งเน้นการลงทุนใน Disruptive Technology ด้านบล็อกเชน (Blockchain), สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets), เทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงทั่วโลก

บริษัท เอสซีบี เทคเอกซ์ จำกัด (SCB TechX)

นายตรัยรัตน์ สุวรรณประทีป ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

  • บริษัทร่วมทุน ระหว่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ผู้ให้บริการโซลูชันทางดิจิทัลเทคโนโลยีระดับโลก
  • ตั้งเป้าสู่การเป็นบริษัทชั้นนำด้านฟินเทคแพลตฟอร์มในอาเซียน มุ่งขยายขีดความสามารถด้าน Technology Development เพื่อให้บริการในหลากหลายอุตสาหกรรม 

บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด (SCB 10X)

ดร. อารักษ์ สุธีวงศ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 

  • ผู้นำด้านนวัตกรรมดิจิทัล (disruptive digital innovation) และการลงทุนในกองทุน (Venture Capital) 
  • ลงทุนในกองทุนระดับโลก (VC) กว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กับ 6 ยูนิคอร์น และกลุ่มที่ได้รับผลตอบแทนสูง  (top quartile returns)
  • บล็อกเชนระดับโลก (Blockchain) และสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset)/ ระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง (DeFi Network)

บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด (Token X)

นางสาวจิตตินันท์ ชาติสีหราช  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 

  • บริษัทผู้ให้บริการเกี่ยวกับธุรกิจโทเคนดิจิทัลแบบครบวงจร ครอบคลุมบริการที่ปรึกษาและวางแผนธุรกิจเกี่ยวกับ Tokenization (การทำให้สินทรัพย์ต่าง ๆ กลายไปอยู่ในรูปแบบโทเคน) รวมถึงวางแผนในการพัฒนาด้านบล็อกเชนและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • ตั้งเป้าหมายทางธุรกิจสู่การเป็นองค์กรชั้นนำด้าน Digital Asset Tokenization ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2025

บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (Digital Ventures)

นายอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 

  • ผู้นำด้านการพัฒนาโซลูชันแพลตฟอร์มด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย
  • ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี มีลูกค้ากว่า 15,000 องค์กรเข้าร่วมในซัพพลายเชนแพลตฟอร์ม

บริษัท มันนิกซ์ จำกัด (MONIX)

นางสาวถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ 

  • บริษัทฟินเทคสตาร์ทอัพร่วมทุนระหว่างประเทศ ระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ และ Abakus Group ฟินเทคยูนิคอร์นจากประเทศจีน
  • ให้บริการแพลตฟอร์มการเงินครบวงจร ที่ผสานพลังดิจิทัลของเทคโนโลยีเอไอ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิ่ง (ML) อันชาญฉลาด แม่นยำ และปลอดภัยระดับโลก
  • มียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันกว่า 4 ล้านครั้ง พร้อมปล่อยสินเชื่อแล้วกว่า 4 พันล้านบาท ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปีครึ่ง

บริษัท อัลฟ่า เอกซ์ จำกัด (Alpha X)

นายวศิน ไสยวรรณ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 

  • บริษัทร่วมทุนระหว่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ และ บริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด หรือ MGC Group ผู้ประกอบธุรกิจคำปลีกยานยนต์ชั้นนำในประเทศไทย
  • มุ่งเน้นประกอบธุรกิจเช่าซื้อลีสซิ่ง และให้สินเชื่อรีไฟแนนซ์ สำหรับพาหนะระดับลักซ์ชัวรี

บริษัท ออโต้ เอกซ์ จำกัด (Auto X)

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 

  • บริษัทใหม่ที่จะบุกตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (title loan)
  • เตรียมเปิดตัวให้บริการในไตรมาส 1/2565

บริษัท ดาต้า เอ็กซ์ จำกัด (Data X)

Mr. Yizhak Idan ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 

  • บริษัทที่ทำหน้าที่เป็น Center ในการ Integrate Data ของทั้ง SCBX Group รวมถึงในส่วนของภาพรวมทั้งหมด เพื่อที่จะสร้างขีดความสามารถในการทำงานควบคู่กับบริษัทที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ในการแข่งขันที่ยังไม่รุนแรง (Blue Ocean)

บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures)

นายสีหนาท ล่ำซำ  กรรมการผู้จัดการ

  • โรบินฮู้ด แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีสัญชาติไทย ที่ผสานขีดความสามารถด้านดิจิทัลเทคโนโลยี เอไอ (AI) และ แมชชีนเลิร์นนิ่ง (ML) ด้วยฐานลูกค้าผู้ใช้บริการบนแพลตฟอร์มกว่า 2 ล้านคน 
  • ตั้งเป้าพัฒนาแพลตฟอร์มเป็น Super App ในระดับภูมิภาคที่มีศักยภาพในการระดมทุน

บริษัท เอสซีบี อบาคัส (SCB ABACUS)

ดร. สุทธาภา อมรวิวัฒน์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

  • ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันสินเชื่อออนไลน์ ระดมทุนผ่านซีรีส์ A ด้วยเงินลงทุน 400 ล้านบาท
  • มียอดดาวน์โหลด 5 ล้านดาวน์โหลด ตั้งเป้าเป็นเบอร์ 1 ในด้านรายได้และสินเชื่อด้วยเป้าหมายเติบโต10 เท่า

บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด (Card X) 

นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

  • บริษัทที่แยกตัวออกมาจากธนาคาร ทำธุรกิจด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อทุกคนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ด้านบัตรเครดิต และสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
  • ตั้งเป้าจะมีส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่งในสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ด้วยฐานลูกค้ากว่า 2.5 ล้านราย และจำนวนสินเชื่อ 1.20 แสนล้านบาท
  • ตั้งเป้า IPO ในปี 2024

บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCB Securities)

ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 

  • ผู้นำด้าน Digital Securities และ Brokerage Services 
  • คนแรกที่เข้ามาในเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล
  • ตั้งเป้าเป็นผู้นำในเรื่องการลงทุนและบริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลที่น่าเชื่อถือในภูมิภาคอาเซียน

SCB Digital Banking

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center

นางพิกุล ศรีมหันต์  รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ SME

นายชาลี อัศวธีระธรรม  รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Digital Banking

นางสาวอรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking

นายวิฑูรย์ พรสกุลวานิช รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Integrated Channels

  • หน่วยงานภายใต้ธนาคารไทยพาณิชย์ มุ่งมั่นในการพัฒนาขีดความสามารถทาง Digital Banking อย่างเต็มรูปแบบ
  • ลูกค้าที่ใช้บริการผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มจำนวนกว่า 12.5 ล้านคน ด้วยจำนวนธุรกรรมทางการเงินกว่า 356 ล้านธุรกรรมต่อเดือน

อ่านข่าวเพิ่มติม:

Avatar photo