Stock

ส่องกลยุทธ์ Buy the Dip โอกาสทำกำไรในตลาดขาลง

ส่องกลยุทธ์ Buy the Dip โอกาสทำกำไรในตลาดขาลง จับจังหวะเข้าซื้อให้แม่นยำ “ซื้อเมื่อราคาต่ำ ขายเมื่อราคาสูง”

Buy the Dip เป็นกลยุทธ์ลงทุนหุ้นในช่วงตลาดขาลง โดยเริ่มจากการวิเคราะห์พื้นฐานของบริษัท เลือกซื้อหุ้นในบริษัทที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งในราคาที่เหมาะสม หาสาเหตุของราคาที่ปรับลดลง จากนั้นก็จับจังหวะเข้าซื้อให้แม่นยำ และหากราคาหุ้นปรับขึ้นตามที่ประเมินไว้ ถือว่าประสบความสำเร็จตามหลักการพื้นฐาน “ซื้อเมื่อราคาต่ำ ขายเมื่อราคาสูง”

Buy the Dip

ในภาวะตลาดหุ้นผันผวน นักลงทุนอาจถอดใจเพราะมองว่าอาจได้ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะในช่วงตลาดปรับตัวลง หากถือหุ้นอยู่ก็อาจตัดสินใจขายออกทั้งหมดก่อนตลาดหุ้นจะฟื้นตัวได้อีกครั้ง ทำให้มูลค่าของพอร์ตลงทุนไม่ฟื้นตัวกลับขึ้นตามตลาด พูดง่าย ๆ คือ ขายหุ้นบนความกังวลในช่วงตลาดหุ้นปรับลดลง

อย่างไรก็ตาม มีกลยุทธ์หนึ่งที่เหมาะกับการนำมาใช้วางกลยุทธ์ลงทุนในช่วงตลาดขาลงเพื่อสร้างโอกาสทำกำไร นั่นคือ กลยุทธ์ Buy the Dip เป็นการเข้าซื้อหุ้นหรือสินทรัพย์ในช่วงที่ราคาลดลง ทำให้ได้ในราคาที่ต่ำกว่าปกติ เป็นกลยุทธ์ลงทุนที่ยึดหลักการพื้นฐาน “ซื้อเมื่อราคาต่ำ ขายเมื่อราคาสูง” โดยแนวคิดดังกล่าวจะอาศัยความเชื่อที่ว่าราคาหุ้นที่ปรับลดลงจะเป็นเพียงแค่ช่วงสั้น ๆ และมีแนวโน้มที่จะกลับมาฟื้นตัวได้และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคต

กลยุทธ์ดังกล่าวนิยมใช้กับหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแรงแต่ราคาปรับลดลง เพราะอารมณ์ของตลาดหรือนักลงทุนตอบสนองมากเกินไปต่อปัจจัยลบต่าง ๆ (Overreaction) อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าการซื้อหุ้นขณะที่ราคาปรับลดลง โอกาสที่ประสบความสำเร็จในการทำกำไรจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น

  • นักลงทุนนิยามการซื้อหุ้นขณะที่ราคาปรับลดลง เป็นการซื้อหุ้นที่ราคาปรับลดลงเล็กน้อย แต่ตลาดโดยรวมยังอยู่ในช่วงขาขึ้น จึงคาดหวังว่าหลังจากราคาย่อตัวลง ช่วงขาขึ้นจะกลับมาอีกครั้ง
  • นักลงทุนใช้กลยุทธ์ Buy the Dip แม้ในช่วงที่แนวโน้มตลาดโดยรวมไม่ได้เป็นขาขึ้น แต่ประเมินว่าราคาหุ้นอาจจะกลับมาเป็นขาขึ้นในอนาคต ดังนั้น จึงซื้อหุ้นเพิ่มในขณะที่ราคาปรับลดลง เพื่อหวังผลกำไรจากการที่ราคาหุ้นอาจจะปรับตัวขึ้นในอนาคต
  • นักลงทุนที่ถือหุ้นอยู่แล้วและซื้อเพิ่มเมื่อราคาลดลง หรือเรียกว่าซื้อถัว เป้าหมายเพื่อให้ได้ราคาเฉลี่ยของหุ้นที่ถือทั้งหมดต่ำลง แต่หากซื้อหุ้นเมื่อราคาลดลงแล้วราคาไม่ปรับขึ้น ก็จะต้องทนถือหุ้นต่อไป

Buy the Dip

ประโยชน์ของกลยุทธ์ Buy the Dip

  • ซื้อหุ้นในราคาถูก มีโอกาสได้ต้นทุนเฉลี่ยที่ต่ำลง
  • เพิ่มโอกาสทำกำไร เมื่อราคาหุ้นฟื้นตัว
  • กระจายความเสี่ยง ซื้อหุ้นหลาย ๆ ครั้งในราคาที่แตกต่างกัน

หากนักลงทุนเตรียมใช้กลยุทธ์ Buy the Dip ก็ต้องมีแผนป้องกันความเสี่ยงด้วยการวางจุด Stop Loss เพื่อป้องกันไม่ให้ขาดทุนมากยิ่งขึ้น เช่น ซื้อหุ้น XYZ ที่ราคา 50 บาท เพราะประเมินว่าเป็นราคาที่ต่ำสุดแล้ว แต่เมื่อซื้อไปแล้วราคาปรับลดลงเรื่อย ๆ หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็ต้องกำหนดจุด Stop Loss เอาไว้เสมอ เช่น หากราคาหุ้นปรับลดลงไปที่ 45 บาท ก็เป็นจุด Stop Loss ขายออกเพื่อหยุดขาดทุน เป็นต้น

ดังนั้น การใช้กลยุทธ์ Buy the Dip เพื่อซื้อหุ้นก็ไม่ได้การันตีว่าจะประสบความสำเร็จทุกครั้ง เพราะเมื่อซื้อหุ้นไปแล้ว ราคาอาจปรับลดลงต่อได้ อาจทำให้ขาดทุน ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงต้องมีขั้นตอนในการวางกลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยง

  • วิเคราะห์ภาพรวมตลาด ศึกษาแนวโน้มตลาดหุ้นโดยรวมว่าเป็นขาขึ้นหรือขาลง
  • คัดเลือกหุ้น เลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีโอกาสเติบโตในระยะยาว
  • จับจังหวะราคา รอจังหวะที่ราคาหุ้นปรับลดลงอย่างชัดเจน
  • ซื้อเพิ่ม ทยอยซื้อหุ้นเพิ่มเมื่อเห็นราคาปรับลดลง
  • ถือยาว ถือหุ้นเอาไว้เพื่อรอรับผลกำไร เมื่อราคาหุ้นฟื้นตัว

เนื่องจากกลยุทธ์ Buy the Dip เป็นการสนใจ “ราคาหุ้น” เป็นหลัก แต่ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงหรือขึ้นลงได้ทุกเวลา และเป็นเรื่องยากที่นักลงทุนจะติดตามราคาด้วยตนเองทุกวันหรือตลอดทั้งวัน จึงต้องอาศัยเครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิคเพื่อช่วยดูพฤติกรรมราคาหุ้น เช่น RSI หรือ Relative Strength Index, Stochastic Oscillator, เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average) หรือ Williams % R (Williams Percent Range) รวมถึงดัชนีชี้วัด (Indicator) อื่น ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าหุ้นเป้าหมายที่ต้องเข้าซื้อมีโอกาสประสบความสำเร็จ

Buy the Dip

  • ราคาปรับลดลง สังเกตราคาหุ้นมีแนวโน้มปรับลดลงอย่างชัดเจน และมั่นใจว่าราคาหุ้นจะปรับขึ้นในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ
  • แนวรับ นักลงทุนประเมินว่าเป็นระดับราคาที่ควรเข้าซื้อหุ้น โดยราคาที่ปรับลดลงมาสู่บริเวณดังกล่าว มักจะมีแรงซื้อเข้ามาในปริมาณมาก ทำให้ราคาหุ้นสามารถรีบาวด์ขึ้นไปได้ โดยแนวรับสำคัญจะต้องมีปริมาณการซื้อและขายจำนวนมาก และปริมาณซื้อต้องมากกว่าปริมาณขาย
  • ภาวะขายมากเกินไป ใช้เครื่องมือทางเทคนิค เช่น RSI หรือ Relative Strength Index เป็นเครื่องมือที่บอกความแข็งแกร่งของแนวโน้มราคา (Momentum) ใช้ในการวิเคราะห์ทางเทคนิคเพื่อวัดขนาดการเปลี่ยนแปลงของราคาล่าสุด และประเมินสภาวะซื้อมากเกินไป (Overbought) หรือขายมากเกินไป (Oversold) ในราคาหุ้น
  • ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ตรวจสอบให้แน่ใจว่าปัจจัยพื้นฐานมีความแข็งแกร่ง เช่น กำไรและโอกาสเติบโตยังคงสม่ำเสมอ สถานะการเงินแข็งแกร่ง

การใช้กลยุทธ์ Buy the Dip เป็นอีกทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่ต้องการสร้างโอกาสทำกำไรในช่วงตลาดหุ้นเป็นขาลง โดยอาศัยจังหวะที่ราคาหุ้นปรับตัวลง และคาดหวังว่าราคาจะรีบาวน์ในอนาคต ซึ่งกลยุทธ์นี้จะต้องตัดสินใจได้อย่างแม่นยำว่าจะเข้าซื้อระดับราคาที่กำลังปรับลดลงในช่วงไหน อาศัยความเชี่ยวชาญในการลงทุน การวิเคราะห์อย่างรอบคอบ ทักษะการวิเคราะห์ทางเทคนิคและเข้าใจการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน และมีวินัยการลงทุนซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ประสบความสำเร็จมากขึ้นเมื่อต้องตัดสินใจในช่วงที่ตลาดผันผวน

ขอบคุณ : ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK