Stock

บอร์ด ตลท. ไฟเขียวมาตรการคุมเข้ม short selling-program trading-การเปิดเผยข้อมูล

คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บอร์ด ตลท.) เห็นชอบมาตรการยกระดับความเชื่อมั่นเรื่อง short selling และ program trading รวมถึงมาตรการเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชน

ตามที่ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ได้มีมติอนุมัติในหลักการให้นำผลการศึกษากฎหมาย กฎเกณฑ์ และแนวทางการกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำในต่างประเทศมาใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลการขายชอร์ต (short selling) และการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (program trading) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อยกระดับการกำกับดูแลและเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนทุกประเภทนั้น

บอร์ด ตลท.
วานนี้ (21 ก.พ.) คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ให้ความเห็นชอบมาตรการเพิ่มเติมเพื่อที่จะยกระดับการกำกับดูแลการขายชอร์ต และการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขายหรือโปรแกรมเทรดดิ้ง พร้อมทั้งการปรับเพิ่มมาตรการการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชน ดังนี้

1. มาตรการกำกับดูแลการขายชอร์ต

การทบทวนคุณสมบัติของหลักทรัพย์ที่สามารถขายชอร์ตได้ (eligible securities)

  • เพิ่มขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดขั้นต่ำ (market capitalization) จากเดิม 5,000 ล้านบาท
    เป็น 7,500 ล้านบาท
  • เพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับการพิจารณาสภาพคล่องของหุ้น โดยกำหนดให้หุ้นนั้นจะต้องมีสัดส่วนปริมาณการซื้อขายต่อเดือนเมื่อเทียบกับปริมาณหุ้นจดทะเบียน (monthly turnover) แล้วมากกว่า 2%

การควบคุมผลกระทบอันอาจเกิดการขายชอร์ต

  • ผลกระทบด้านราคา : กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขายชอร์ตเพิ่มเติม สำหรับการขายชอร์ตเฉพาะกรณีที่ราคาหุ้นรายหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงมากกว่า 10% จากราคาปิดของวันก่อนหน้า โดยกำหนดให้ราคาขายชอร์ตต้องเป็นราคาที่สูงกว่าราคาล่าสุด (uptick rule)
  • ผลกระทบด้านปริมาณการขายชอร์ต : เพิ่มการกำหนดเพดานสูงสุดในการขายชอร์ตรายหลักทรัพย์ใน
    แต่ละวัน (daily limit) เพื่อที่จะควบคุมความเสี่ยงไม่ให้เพิ่มมากเกินไป รวมทั้งเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลรายวันของยอดสะสมปริมาณการขายชอร์ตที่ยังไม่ได้ซื้อคืน (outstanding) สำหรับแต่ละหลักทรัพย์ เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป
  • การเพิ่มการกำกับดูแลสมาชิกโดยเพิ่มบทระวางโทษปรับ กรณีพบการกระทำผิดเกี่ยวกับการขายชอร์ต จะกำหนดระวางโทษปรับที่จะลงต่อสมาชิกเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 3 เท่า ซึ่งเทียบเคียงได้กับแนวทางการลงโทษของตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำในต่างประเทศ นอกจากนี้ จะนำเสนอหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลในการพิจารณาแก้ไขกฏหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถลงโทษผู้ลงทุนที่เป็นผู้กระทำผิดได้โดยตรงด้วย
  • การพัฒนาระบบกลางเพื่อตรวจสอบหลักทรัพย์ จะจัดให้มีเป็นแหล่งข้อมูลกลางสำหรับสมาชิกและตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะใช้ในการตรวจสอบการมีอยู่ของหลักทรัพย์ของผู้ลงทุน เพื่อที่จะทำให้การกำกับดูแลการขายชอร์ตสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

บอร์ด ตลท.

2. มาตรการการกำกับดูแล program trading 

เพื่อให้การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นไปอย่างเป็นระเบียบ (orderly) และป้องกันความผันผวนผิดปกติของราคา รวมถึงป้องปรามพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เหมาะสม รวมถึงสร้างความสมดุลระหว่างกลุ่มผู้ลงทุน จะยกระดับมาตรการกำกับดูแล program trading ดังนี้

การป้องกันราคาผันผวนผิดปกติ

  • เพิ่มมาตรการควบคุมความผันผวนของราคารายหุ้นระหว่างวัน (นอกเหนือจากการกำหนด ceiling & floor ที่ใช้บังคับอยู่แล้วในปัจจุบัน) ด้วยการเพิ่มเพดานการเคลื่อนไหวของราคาระหว่างวัน (dynamic price band) ซึ่งจะเป็นกรอบของการเคลื่อนไหวของราคาที่แคบลงมาจาก ceiling & floor โดยกำหนดกรอบไว้เป็นเปอร์เซ็นต์ (เช่น +/- 10%) จากราคาซื้อขายล่าสุด ซึ่งหากถึงระดับราคาดังกล่าวก็จะหยุดพักการซื้อขายชั่วคราวก่อนเปิดซื้อขายใหม่
  • กรณีที่ราคาหุ้นมีความผันผวนมาก อาจพิจารณาปรับเปลี่ยนวิธีการซื้อขายของหุ้นที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายเป็นแบบ call auction แทน

การกำกับดูแลพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม

  • ปรับปรุงเกณฑ์เกี่ยวกับคำสั่งไม่เหมาะสม โดยจะเพิ่มลักษณะของคำสั่งซื้อขายที่มีผลกระทบต่อตลาดทั้งในเชิงปริมาณและราคา รวมทั้งจัดทำระบบกลางในการคัดกรองคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม (order screening)
    ซึ่งจะรวมถึงการป้องกันไม่ให้มีการใส่ถอนคำสั่งซื้อขายที่ถี่จนเกินไป ด้วยการกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำของคำสั่งที่ส่งเข้ามาก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่งนั้นได้ (minimum resting time) เช่น อาจจะต้องคงไว้อย่างน้อย 0.6 วินาที เป็นต้น
  • ใช้มาตรการหยุดการซื้อขายโดยอัตโนมัติ (auto halt) เป็นรายหุ้น หากพบว่า มีการซื้อหรือขายหุ้นนั้นรวมกันในปริมาณที่มากเกินกว่าระดับที่กำหนด เพื่อป้องกันการจับคู่ของคำสั่งซื้อขายที่อาจผิดปกติ

การยกระดับการกำกับดูแลผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งด้วยความเร็วสูง (HFT)

  • จะเพิ่มความเข้มงวดของการกำกับดูแลกลุ่มผู้ลงทุนประเภทนี้ เช่น ต้องมีการแจ้งหรือขึ้นทะเบียน (register) พร้อมทั้งให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อน เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการซื้อขายของผู้ลงทุนกลุ่มนี้

บอร์ด ตลท.

3. การปรับปรุงเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล

  • การเปิดเผยข้อมูลรายชื่อผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมการส่งคำสั่งซื้อขายไม่เหมาะสมให้แก่บริษัทสมาชิกทุกราย เพื่อให้บริษัทสมาชิกใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินการกับผู้ลงทุนรายนั้น เช่น ปรับลดวงเงิน กำหนดให้ต้องซื้อขายผ่านผู้แนะนำการลงทุน (trader) เป็น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการส่งคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม
  • การปรับปรุงเกณฑ์การเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นให้ครอบคลุมถึงกรณีการถือในรูปแบบ NVDR ด้วย โดยกำหนดให้บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด (ในฐานะผู้ออก NVDR) จะต้องเปิดเผยรายชื่อผู้ถือ NVDR ตั้งแต่ 0.5% แต่ไม่น้อยกว่า10 ราย เช่นเดียวกับการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลผู้ที่มีการถือครอง NVDR และเพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้เห็นชอบให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวข้างต้นโดยเร็ว โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถดำเนินการได้เอง แต่สำหรับในส่วนที่จำเป็นจะต้องมีการปรึกษาหารือในรายละเอียดร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง (เช่น บริษัทสมาชิก, Market Makers) รวมถึงอาจจะต้องมีการเตรียมความพร้อมและการปรับระบบปฏิบัติการของบริษัทสมาชิกเพื่อให้รองรับการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะได้เร่งประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในขั้นตอนต่อไป ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น (hearing) จากผู้เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจะนำไปปรึกษาหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) อย่างใกล้ชิด ก่อนที่จะนำเสนอต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมายที่กำหนดไว้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK