Stock

เจาะเทคนิค ‘สแกนหุ้น’ ด้วย ‘งบการเงิน’ หุ้นตัวไหนปัง เช็กเลย!!

“กูรูหุ้นไทย” แนะเทคนิค “สแกนหุ้น” ด้วย “งบการเงิน” หุ้นตัวไหนปัง หุ้นตัวไหนเหมาะสมในการลงทุนระยะยาว เช็กเลย!!

“หุ้นตัวไหนเป็นหุ้นที่ดี หรือ หุ้นตัวไหนเหมาะสมในการลงทุนระยะยาว” เชื่อว่า..นี่คือคำถามยอดฮิตที่นักลงทุนทุกคนต่างก็สงสัยกันมาโดยตลอด ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หากเราจะเลือกลงทุน เราก็คงดูก่อนว่าบริษัทนั้นทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร มีความจำเป็นกับชีวิตของคนทั่วโลกมากแค่ไหน และเทรนด์นั้นจะไปได้ไกลหรือไม่ ซึ่งหลายคนก็อาจมองว่า เท่านี้ก็คงเพียงพอแล้ว!

สแกนหุ้น

แต่ในความเป็นจริงคงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะปัจจุบันเราจะเริ่มเห็นหลายบริษัทที่แม้จะผ่านการตรวจสอบมาหลายชั้น แต่ก็ยังมีข่าวทุจริตเยอะแยะมากมาย ซึ่งบางบริษัทตรวจสอบได้ แต่บางบริษัทก็ไม่สามารถตรวจสอบได้

𝐒𝐄𝐓 𝐓𝐡𝐚𝐢𝐥𝐚𝐧𝐝 ได้เปิดบทสัมภาษณ์พิเศษ “กวี ชูกิจเกษม” Head of Research and Content จาก บลจ.หลักทรัพย์ พาย แนะกลยุทธ์เพื่อให้นักลงทุนมีสกิลในการวิเคราะห์บริษัทให้มากยิ่งขึ้น และช่วยในการคัดเลือกหุ้นได้จริง กับ เจาะเทคนิคสแกนหุ้นด้วย “งบการเงิน”

รู้จัก “งบการเงิน” ก่อน

คำว่า งบการเงิน เป็นภาพรวมใหญ่ ซึ่งจะประกอบไปด้วย 5 งบด้วยกัน ได้แก่

  1. งบแสดงฐานะการเงิน (งบดุล)
  2. งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ
  3. งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ
  4. งบกระแสเงินสด
  5. หมายเหตุประกอบงบการเงิน

โดยปกติแล้ว เงินที่หมุนอยู่ภายในบริษัทก็จะอยู่ในงบดุล และงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ ซึ่งก็จะประกอบไปด้วยสินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของเจ้าของ กำไร และขาดทุน

อย่างสมมติว่า เราเปิดธุรกิจหนึ่งธุรกิจ โดยส่วนใหญ่ธุรกิจก็มักจะมีการกู้ยืมมา เงินส่วนนี้ก็จะถูกบันทึกบัญชีเป็นหนี้สิน ในส่วนเงินของเราก็จะถูกบันทึกเป็นส่วนผู้ถือหุ้น หลังจากที่เราได้เงินมาแล้ว เราก็จะนำเงินนั้นมาซื้อสินทรัพย์ และกลายมาเป็นสินค้าคงคลังอยู่ในบัญชี เมื่อขายได้ก็จะถูกบันทึกเป็นรายได้ หลังจากนั้นก็นำต้นทุน และค่าใช้จ่ายสินค้าต่าง ๆ มาหักออก ก็จะได้ออกมาเป็นกำไร แล้วกำไรก็จะถูกวิ่งกลับมาเข้าที่ส่วนของผู้ถือหุ้น แล้วก็ทำแบบนี้ซ้ำไปเรื่อย ๆ นี่คืองบการเงินที่หมุนอยู่ในบริษัท

เมื่อเรารู้เรื่องของ “งบการเงิน” เบื้องต้นกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาในมุมของนักลงทุนนั้น ก็คงอยากจะรู้ว่า เราควรจะต้องพิจารณาอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้พลาดในการเลือกหุ้น

สแกนหุ้น

“กวี” ได้แนะนำว่า หากเราจะดูงบการเงินจริง ๆ นอกจากจะเจาะรายละเอียดแต่ละงบแล้ว เราก็ควรที่จะนำตัวเลขในงบการเงินเหล่านั้น มาคำนวณเป็นอัตราส่วนด้วย เพื่อให้เห็นถึงภาพรวมการเงินของบริษัทที่เราจะลงทุนได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดย “อัตราส่วนทางการเงิน” ที่ “กวี” พูดถึง และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มักใช้กันนั้นก็จะมีด้วยกัน 3 อัตราส่วน

  1. อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) อธิบายง่าย ๆ ก็คือ หนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น มากกว่า 2 เท่า แสดงว่าบริษัทมีหนี้สินค่อนข้างเยอะ
  2. อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน (IBD/E Ratio) สำหรับอัตราส่วนนี้ จะเอาหนี้สินที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ไม่ควรเกิน 1.5-2 เท่า
  3. อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (Net Debt) วิธีการคำนวณของอัตราส่วนนี้ เราจะนำหนี้สินที่มีภาระจ่ายดอกเบี้ย ลบด้วยเงินสดที่บริษัทมี แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้มาหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้น ก็จะทำให้ตัวเลขอัตราส่วนนี้ออกมา

สำหรับเหตุผลที่ต้องหักเงินสดออกไปนั้น ก็เป็นเพราะเงินสดที่บริษัทมี สามารถนำไปชำระคืนหนี้สินได้นั่นเอง ซึ่งหากบริษัทมีเงินสดมาก ก็จะทำให้การบริหารเงินสดของบริษัทนั้นได้ง่ายขึ้น รวมถึงหากจะขยายธุรกิจ ก็ไม่จำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มอีกด้วย

ทำให้อัตราส่วนนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลขที่สามารถแสดงฐานะทางการเงินได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังบ่งบอกได้ถึงความสามารถในการจัดการการเงินของบริษัทนั้น ๆ ได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า แต่ละอุตสาหกรรมนั้น ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน หากจะเปรียบเทียบก็ให้เลือกกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันเป็นหลัก

แต่สำหรับการวิเคราะห์เพื่อเลือกลงทุนในหุ้น โดยใช้เพียงแค่ 3 อัตราส่วนที่กล่าวไปนั้น “กวี” มองว่าอาจยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีอีกหนึ่งตัวเลขที่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่ามีความสำคัญ และถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยคัดกรองหุ้นให้กับเราได้อย่างดีมาก ๆ ซึ่งหากเราสังเกตดูดี ๆ จากตัวเลขเหล่านี้ ไม่แน่ว่าอาจทำให้เราเห็นถึงศักยภาพของบริษัท หรือไม่ก็อาจเห็นถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นของบางบริษัทด้วยก็เป็นได้

สิ่งที่ “กวี” กำลังพูดถึงนี้ก็คือ “ตัวเลขของวงจรเงินสด”

โดยคำว่า “วงจรเงินสด” ก็คือ จำนวนวันที่บริษัทจะได้รับเงินสดจากการดำเนินงาน หรือเป็นจำนวนวันที่บริษัทจะต้องบริหารเงินสดให้ใช้ได้ภายในวันที่กำหนด สำหรับเกณฑ์ตัวเลขวงจรเงินสดนี้ ไม่ได้เจาะจงมากนัก แต่ก็ควรอยู่ในระดับที่ต่ำ ยิ่งต่ำก็จะยิ่งดี หรือหากติดลบด้วยก็จะยิ่งดีมาก ๆ เพราะนั่นจะหมายความว่า บริษัทนี้จะมีสภาพคล่องที่สูง และมีเงินสดมาใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจได้อย่างเพียงพอนั่นเอง

แต่หากวงจรเงินสดนั้นมีจำนวนวันที่นานเกินไป ก็อาจหมายความได้ว่า บริษัทจะต้องบริหารเงินสดที่มี ให้ใช้ได้ตามจำนวนวันที่คำนวณออกมา ซึ่งหากไม่สามารถบริหารเงินสดให้เพียงพอได้นั้น ก็อาจทำให้ธุรกิจได้รับความเสียหายได้

สแกนหุ้น

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่า…แล้ววิธีการคำนวณ “วงจรเงินสด” ทำอย่างไร ?

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า “วงจรเงินสด” นี้ ประกอบไปด้วย 3 ระยะเวลา ได้แก่

ระยะเวลาขายสินค้า (วัน) + ระยะเวลาเก็บหนี้ (วัน) – ระยะเวลาจ่ายหนี้ (วัน)

1. ระยะเวลาขายสินค้า (วัน) ก็คือ ระยะเวลาตั้งแต่บริษัทเริ่มสั่งวัตถุดิบ ผลิตสินค้าออกมาขาย จนขายสินค้านั้นออกไปได้ สินค้านั้นใช้ระยะเวลากี่วัน หรืออธิบายสั้น ๆ ก็คือ บริษัทนี้ใช้ระยะเวลากี่วันก่อนที่จะขายสินค้าได้ ดังนั้น ถ้ายิ่งขายสินค้าได้เร็ว ก็จะยิ่งดี

สำหรับวิธีการคำนวณ “ระยะเวลาขายสินค้า” ก่อนอื่นเราจะต้องคำนวณ “อัตราหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ” ก่อนว่า ปีหนึ่งสินค้าคงคลัง บริษัทหมุนเวียนกี่วัน

วิธีการคำนวณคือ เอาต้นทุนขาย หรือก็คือ วัตถุดิบที่บริษัทซื้อมา หารด้วยค่าเฉลี่ยสินค้าคงคลังที่บริษัทเก็บไว้ ซึ่งค่าเฉลี่ยก็คือ การนำสินค้าคงคลังของปีนี้ บวกกับปีที่แล้ว หารด้วยสอง

พอคำนวณออกมาได้ ก็จะรู้แล้วว่าต้องหมุนสินค้าคงคลังกี่รอบในหนึ่งปี เพื่อที่บริษัทจะสามารถจ่ายเงินให้กับซัปพลายเออร์ได้ แล้วก็นำตัวเลขนั้นมาหารด้วย 365 ก็จะได้เป็นจำนวนวันออกมา

2. ระยะเวลาเก็บหนี้ จากลูกหนี้การค้า (วัน) ความหมายคือ ระยะเวลาที่บริษัทผลิตสินค้าเสร็จแล้ว ขายออกไปหรือส่งออกให้กับลูกค้าเรียบร้อยแล้ว วางบิลเรียบร้อย แต่ยังเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ เพราะฉะนั้นระยะเวลานี้จะกินเวลากว่าที่บริษัทจะได้เงินสดมา ดังนั้นถ้ายิ่งเก็บเงินหนี้ได้เร็ว ก็จะยิ่งดีต่อบริษัท

สำหรับวิธีการคำนวณ “ระยะเวลาเก็บหนี้” เมื่อบริษัทขายของออกไปได้แล้ว เราจะต้องใช้รายได้ในการคำนวณ ต่างจากระยะเวลาขายสินค้า ที่เราใช้ต้นทุนขายในการคำนวณ

ซึ่งเหมือนเดิมเลยคือเราจะต้องคำนวณ “อัตราหมุนเวียนลูกหนี้การค้า” ก่อน โดยนำ รายได้ หารด้วยค่าเฉลี่ยลูกหนี้การค้า เพื่อดูว่าเราต้องใช้เวลากี่รอบในการสร้างรายได้ให้เรา หลังจากนั้นก็เอาตัวเลขนี้มาหารด้วย 365 ก็จะได้เป็นจำนวนวันออกมาเป็น ระยะเวลาเก็บหนี้ (วัน)

3. ระยะเวลาชำระหนี้ ให้กับเจ้าหนี้การค้า (วัน) อธิบายคือ กว่าที่เราจะต้องจ่ายเงินให้กับซัปพลายเออร์ที่มาส่งของให้กับเรา ใช้ระยะเวลากี่วัน โดยระยะเวลาในการชำระหนี้นี้ ยิ่งช้าก็จะยิ่งดี

สำหรับวิธีการคำนวณ เราจะต้องหา “อัตราหมุนเวียนเจ้าหนี้การค้า” ก่อน ซึ่งเนื่องจากเจ้าหนี้ก็คือ บริษัทที่ผลิตวัตถุดิบให้กับเรา นำมาใช้ในการผลิตสินค้า ดังนั้น วิธีการคำนวณ เราจะนำต้นทุนขาย หารด้วยค่าเฉลี่ยเจ้าหนี้การค้า แล้วนำเอาผลลัพธ์นั้นมาหารด้วย 365 เหมือนเดิม ก็จะได้ระยะเวลาชำระหนี้ออกมา

และเมื่อเราหาตัวเลขระยะเวลาทั้งของสินค้า ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ ได้แล้ว ก็นำมาบวกลบกัน ดังสมการ ระยะเวลาขายสินค้า (วัน) + ระยะเวลาเก็บหนี้ (วัน) – ระยะเวลาจ่ายหนี้ (วัน) ก็จะทำให้เราได้วงจรเงินสดออกมา

เพียงแค่เราสามารถคำนวณวงจรเงินสดได้อย่างถูกต้อง เท่านี้ก็ช่วยให้เราสามารถคัดเลือกหุ้นได้ไม่พลาดแล้ว

เพื่อให้เห็นว่าการเข้าใจวงจรเงินสดนั้น มีประโยชน์มากแค่ไหน “กวี” ได้ยกตัวอย่างเคสบริษัทสายไฟที่เพิ่งออกจากตลาดหุ้นไปอย่าง STARK โดยเราจะเห็นได้เลยว่า ตัวเลขงบการเงินของ STARK นั้น มีความผิดปกติตั้งแต่ปี 2564 ที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อผู้ถือหุ้น ปี 2564 สูงถึงเกือบ 5 เท่า และมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลบด้วยเงินสดแล้ว ก็ยังสูงถึง 2 เท่า ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก เป็นสัญญาณที่ไม่ควรเข้าซื้ออย่างยิ่ง

แต่สิ่งที่ “กวี” อยากให้ดูจริง ๆ ก็คือเรื่องของวงจรเงินสดของ STARK ที่มีตัวเลข ระยะเวลาสินค้าคงเหลือสูงถึง 173 วัน ซึ่งหมายถึงว่า กว่าจะขายได้ ต้องใช้เวลาถึง 173 วัน ถือเป็นเวลาที่ค่อนข้างนานมาก ส่วนระยะเวลาในการเก็บเงินลูกหนี้ ก็นานเกินไปด้วยเช่นกัน

จากทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า เมื่อเราเริ่มสังเกตไปที่วงจรเงินสด ก็จะทำให้เราเห็นถึงความผิดปกติที่เกิดได้ไม่ยาก และทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงหุ้นที่เป็นดังเช่น STARK นี้ได้ด้วย

สแกนหุ้น

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งงบที่ “กวี” ก็แนะนำให้ดูเช่นกัน ก็คือ “งบกระแสเงินสด” ซึ่งมี 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่

  • กระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงาน
  • กระแสเงินสดที่ได้จากการลงทุน
  • กระแสเงินสดที่ได้จากการจัดหาเงิน

ซึ่งหากตัวเลขปรากฏเป็นลบ แสดงว่าเงินออก และหากตัวเลขเป็นบวก ก็แสดงว่าเงินเข้า

โดยตัวเลขกระแสเงินสดนี้ เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจ เช่น บริษัทเก็บเงินได้จากลูกค้า อันนี้จะเรียกว่า กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ซึ่งตัวเลขนี้ยิ่งเป็นบวกก็ยิ่งดี แสดงว่าบริษัททำธุรกิจเก็บเงินได้ไว ตัวเลขนี้ไม่ควรติดลบ ถ้าติดลบเพียงไตรมาสใดไตรมาสหนึ่งตลอด อาจจะเข้าใจได้ว่าเป็นช่วง Seasonal แต่ถ้าติดลบติด ๆ กัน 2-3 ไตรมาส แบบนี้เราอาจจะต้องตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนได้เลยว่า ผิดปกติ

ต่อมา หากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานติดลบ แน่นอนว่าบริษัทก็จำเป็นต้องจัดหาเงิน ก็ต้องไปหาธนาคารเพื่อขอกู้ ก็ทำให้ตัวเลขกระแสเงินสดจากการจัดหาเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะตัวเลขนี้ควรจะต่ำถึงจะยิ่งดี และหากตัวเลขนี้ยิ่งเป็นลบ ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะแสดงได้ว่าบริษัทมีเงินสดที่เพียงพอในการขยายธุรกิจ โดยไม่จำเป็นต้องกู้ยืมใด ๆ เลย

ในส่วนของกระแสเงินสดจากการลงทุน โดยปกติแล้วบริษัทจะต้องมีการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นขยายโรงงาน ซื้อเครื่องจักร หรือวัตถุดิบต่าง ๆ ดังนั้น ธรรมชาติของกระแสเงินสดจากการลงทุนก็จะติดลบ เพราะทุกบริษัทต่างก็ต้องลงทุน เพื่อสร้างรายได้นั่นเอง

สแกนหุ้น

สุดท้ายสิ่งที่ “กวี” อยากจะฝากกับนักลงทุนทุกคนไว้เพิ่มเติม เพราะสำหรับบางบริษัท เราอาจไม่สามารถดูได้ผ่านงบการเงิน โดยสิ่งที่คุณกวีอยากให้ตั้งข้อสังเกตไว้ ก็คือ

1. ระวังหุ้น IPO

เนื่องจากหุ้นที่เพิ่ง IPO จะมีงบการเงินย้อนหลังเพียงแค่ 3 ปี เท่านั้น และหุ้นที่จะเข้า IPO ได้ก็ต้องมีงบที่ดี ตัวเลขที่สวย บางบริษัทอาจตกแต่งบัญชีได้ หรือมีการปรับโครงสร้างบริษัท เพราะหากตัวเลขงบการเงินไม่สวย ก็จะไม่สามารถเข้าตลาดได้ หากเล่นในรูปแบบเก็งกำไร อาจไม่เป็นไรนัก แต่หากลงทุนระยะยาว อาจต้องศึกษาให้ดีและระวังให้มาก

2. ระวังหุ้น Backdoor

ปกติแล้วหากจะเข้าตลาดได้ เราจะต้องมีการตรวจสอบที่เข้มงวด แล้ว IPO เข้ามา แต่ก็จะมีบางบริษัทที่สามารถเข้ามาในตลาดได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้อง IPO เราจะเรียกหุ้นนี้ว่า หุ้น Backdoor คือการเข้าไปซื้อกิจการคนอื่น แล้วเอาบริษัทตัวเองเข้าไปแทนในนั้น ไม่ผ่านการตรวจสอบใด ๆ ให้ระวังหุ้นลักษณะนี้ไว้ให้ดี

3. หุ้นที่มีประวัติผู้ถือหุ้นไม่ดี

เวลาเข้าไปค้นหาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้เราสังเกตรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ อาจจะเช็กประวัติของผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นเยอะ ๆ ว่าเขาคือใคร เคยทำธุรกิจอะไรมาบ้าง ธุรกิจของเขาถูกต้อง ถูกหลัก หรือถูกกฎหมายหรือไม่

4. ระวังธุรกิจที่ผู้บริหารออกมาเชียร์หุ้นตัวเองมากเกินไป

โดยปกติแล้วผู้บริหารก็ต้องพูดสิ่งดี ๆ ของบริษัทอยู่แล้ว แต่หากออกมาพูดมากไป หรือเชียร์มากไปว่าโตแน่ปีหน้า มีกำไรแน่นอน แบบนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูง ไม่ควรเชื่อมากจนเกินไป

5. ระวังธุรกิจที่ซื้อกิจการที่ไม่เกี่ยวข้อง

หากบริษัททำธุรกิจหนึ่ง และเข้าไปซื้อกิจการหนึ่งที่ไม่มีความเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม แบบนี้ถือว่ามีความเสี่ยง เพราะเจ้าของธุรกิจนั้นอาจไม่ได้เข้าใจถึงพื้นฐานการทำธุรกิจนั้น ๆ อย่างลึกซึ้ง ควรหลีกเลี่ยงธุรกิจประเภทนี้ อย่างเช่น ปกติบริษัททำธุรกิจเครื่องถ่ายเอกสาร แล้วหันไปทำธุรกิจโรงไฟฟ้า ต่อด้วยธุรกิจโรงแรม เป็นต้น

สุดท้ายสิ่งที่ “กวี” อยากจะฝาก และเน้นย้ำกับนักลงทุนเสมอก็คือ “อย่าเชื่อนักวิเคราะห์ทั้งหมด แต่ให้เราคำนวณด้วยตัวของเราเองด้วย”

และทั้งหมดนี้ก็คือ “เทคนิคการสแกนหุ้น” ที่จะทำให้เราไม่พลาดเลือกหุ้นที่ไม่ดีเข้าพอร์ตของเรา ที่สำคัญคือใช้ได้จริง และคำนวณไม่ยากด้วย โอกาสเติบโตของพอร์ตการลงทุนของเราอยู่ไม่ไกลแล้ว จำเทคนิคนี้ให้ขึ้นใจ แล้วนำไปใช้กันได้เลย!

ขอบคุณ : 𝐒𝐄𝐓 𝐓𝐡𝐚𝐢𝐥𝐚𝐧𝐝

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK