Stock

‘IRPC’ เปิดรายได้ไตรมาส 3/2566 พลิกทำกำไร 2.4 พันล้าน แตกไลน์ลงทุนธุรกิจ ‘โรงพยาบาล-ที่พักเพื่อสุขภาพ’

IRPC ผลประกอบการไตรมาส 3/2566 พลิกทำกำไร 2,439 ล้านบาท พร้อมแตกไลน์ขยายการลงทุนในธุรกิจ โรงพยาบาลและที่พักเพื่อสุขภาพ ที่มีการเติบโตสูง ในพื้นที่ศักยภาพอีอีซี สนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพ

นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2566 เทียบกับไตรมาส 2/2566 บริษัทมีรายได้จากการขายสุทธิ 77,264 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,509 ล้านบาท หรือ 9%

IRPC

สาเหตุหลักจากราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 14% ตามราคาน้ำมันดิบ ที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณขายลดลง 5% โดยมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 5,373 ล้านบาท หรือ 8.87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 29% เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซล และการบันทึกกำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิ (Net Inventory Gain) รวม 3,566 ล้านบาท หรือ 5.89 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้น จากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 8,939 ล้านบาท หรือ 14.76 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 5,732 ล้านบาท หรือ 9.53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 5,880 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,770 ล้านบาท

โดยมีกำไรสุทธิ 2,439 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 2/2566 ที่ขาดทุนสุทธิ 2,246 ล้านบาท สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 494 ล้านบาท

สำหรับสถานการณ์ตลาดน้ำมันดิบในไตรมาส 4/2566 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐยังคงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อค่าเงินดอลลาร์ และต้นทุนพลังงานตามลำดับ โดยคาดว่าปลายไตรมาส 4/2566 สหรัฐอาจปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก และราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวอย่างหนัก

IRPC

ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ตลาดปิโตรเคมีในไตรมาส 4/2566 คาดว่า ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะทรงตัว หรือปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเข้าสู่ช่วง Traditional Peak จากความต้องการผลิตภัณฑ์ปลายทางในช่วงงานเทศกาลปลายปี คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของความต้องการจากประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของธุรกิจปิโตรเคมี

นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ส่งผลให้สามารถผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการซื้อที่ยังคงมีอยู่ได้ แม้ว่าจะยังมีปัจจัยกดดันจากการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตใหม่ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส และความกังวลต่อการถดถอยของเศรษฐกิจโลก

นายกฤษณ์ กล่าวว่า IRPC ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมทางวัสดุและพลังงาน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจสุขภาพ สุขอนามัยและการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่ IRPC ให้ความสำคัญ และเล็งเห็นโอกาสในการเติบโต

บริษัทได้ทำบันทึกความเข้าใจหรือ MOU ร่วมกับเครือโรงพยาบาลบางปะกอก และโรงพยาบาลปิยะเวท เพื่อพัฒนาธุรกิจโรงพยาบาล และที่พักเพื่อสุขภาพ (Hospital & Wellness center) ในพื้นที่ศักยภาพของ IRPC จังหวัดระยอง

มุ่งหวังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในะยอง และจังหวัดใกล้เคียง ให้สามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งในเชิงป้องกันและการรักษาผ่านสถานพยาบาลที่มีคุณภาพสูง ตลอดจนสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย ในพื้นที่อีอีซีเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)

IRPC

ทั้งนี้ IRPC ยึดมั่นและให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจแบบบูรณาการความยั่งยืน โดยดำเนินงานอย่างคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม ภายใต้หลักธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environmental, Social and Governance)

หลักการดำเนินธุรกิจดังกล่าว ทำให้ IRPC ได้รับรางวัลดีเด่นด้าน “องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2566 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ประเภทองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ แสดงให้เห็นถึงการดำเนินธุรกิจที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน การให้ความสำคัญกับหลักความเสมอภาค การยอมรับในความแตกต่าง และใส่ใจต่อผู้มีส่วนได้เสีย

“การดำเนินธุรกิจของ IRPC ตลอดมา มุ่งเน้นความร่วมมือกับคู่ค้า ลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อร่วมสนับสนุน และผลักดันการดำเนินธุรกิจ ที่มีธรรมาภิบาล ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” นายกฤษณ์กล่าว

#IRPCสร้างสิ่งที่ดีเพื่ออนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo