Stock

‘GULF’ เปิดผลประกอบการไตรมาส 1/2566 กำไรโต 13% แรงหนุนธุรกิจพลังงาน-ส่วนแบ่งกำไร INTUCH

“GULF” รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2566 กำไรจากการดำเนินงาน โต 13% แรงหนุนจากธุรกิจพลังงาน และส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH

วันนี้ (15 พ.ค.) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2566 โดยมีรายได้รวม 29,083 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จาก 22,453 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2565 และมีกำไรจากการดำเนินงานที่ 3,668 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จาก 3,257 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

GULF

ปัจจัยหลักมาจากการรับรู้ผลการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติกัลฟ์ ศรีราชา (GSRC) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD ครบทั้ง 4 หน่วย (รวม 2,650 เมกะวัตต์) ที่ทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2564-2565 เทียบกับในไตรมาส 1/2565 ที่รับรู้รายได้ และกำไรจากโครงการโรงไฟฟ้า GSRC เพียง 2 หน่วย (รวม 1,325 เมกะวัตต์) ส่งผลให้กลุ่ม IPD มี Core Profit เท่ากับ 1,492 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 550 ล้านบาท หรือ 58% YoY

อีกปัจจัยหนึ่งมาจากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ SPP 12 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP มีรายได้ และกำไรเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนที่ขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. และลูกค้าอุตสาหกรรม สาเหตุหลักมาจากราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ยที่สูงขึ้นตามราคาก๊าซธรรมชาติ ประกอบกับค่า Ft เฉลี่ยสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า ที่ไม่ใช่ประเภทบ้านอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เพื่อสะท้อนต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น

โดยค่าก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 441.56 บาทต่อล้านบีทียู ในไตรมาส 1/2565 มาเป็น 496.39 บาทต่อล้านบีทียู ในไตรมาส 1/2566 และค่า Ft เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 0.0139 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง เป็น 1.5492 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ในไตรมาส 1/2566

นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลกัลฟ์ จะนะ กรีน (GCG) มีกำไรที่เพิ่มขึ้นจาก 36 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2565 มาเป็น 103 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2566 หรือเติบโตขึ้น 188% เนื่องจากต้นทุนราคาไม้เฉลี่ยที่ลดลงจาก 1,120 บาทต่อตัน เป็น 963 บาทต่อตัน

อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานของกลุ่ม GJP ในไตรมาส 1/2566 เท่ากับ 428 ล้านบาท ลดลง 31% ต่อปี  สาเหตุหลักมาจากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ IPP 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้ากัลฟ์ หนองแซง (GNS) และโรงไฟฟ้ากัลฟ์ อุทัย (GUT) ที่ได้รับอัตราค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment Rate) ลดลงตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

ในไตรมาส 1/2566 GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงาน ของ INTUCH จำนวน 1,247 ล้านบาท โตขึ้น 13% จาก 1,100 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพราะผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของ AIS และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงาน จากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ DIPWP ในประเทศโอมาน จำนวน 150 ล้านบาท ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จครบทั้ง 326 เมกะวัตต์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566

GULF

นอกจากนี้ GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานเต็มไตรมาส จากโครงการที่เข้าลงทุนในปี 2565 ได้แก่

  • โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 โครงการภายใต้กลุ่ม Gulf Gunkul Corporation จำนวน 282 ล้านบาท
  • โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว Thai Tank Terminal จำนวน 73 ล้านบาท
  • THCOM จำนวน 63 ล้านบาท

ปัจจัยที่กล่าวข้างต้น สามารถชดเชยส่วนแบ่งกำไรที่ลดลง ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเล Borkum Riffgrund 2 (BKR2) ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งในเดือนธันวาคม 2565 GULF ได้จำหน่ายหุ้น 50.01% ที่ถือใน BKR2 Holding  บริษัทที่ถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้า BKR2 ให้แก่ Keppel Group ส่งผลให้ในไตรมาส 1/2566 มีส่วนแบ่งกำไรที่ลดลงตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ลดลง

ทั้งนี้ กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในไตรมาส 1/2566 เท่ากับ 8,143 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับ 7,075 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2565

อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ในไตรมาสนี้ เท่ากับ 28.0% เทียบกับ 31.5% ในไตรมาส 1/2565 โดยเหตุผลหลักมาจากกำไรของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม BKR2 ที่ลดลงภายหลังจากที่จำหน่ายหุ้นใน BKR2 Holding ออกไปเมื่อเดือนธันวาคม 2565

กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ในไตรมาส 1/2566 (รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) เท่ากับ 3,850 ล้านบาท เนื่องจากค่าเงินบาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจาก 34.73 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นไตรมาส 4/2565 เป็น 34.26 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 โดยผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว เป็นเพียงการบันทึกรายการทางบัญชี และไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสด และผลประกอบการของบริษัทแต่อย่างใด

นับถึงวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา GULF มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 1.62 เท่า สูงขึ้นจากระดับ 1.56 เท่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จากการออกหุ้นกู้จำนวน 20,000 ล้านบาท ในเดือนมีนาคม 2566 เพื่อนำไปใช้ขยายธุรกิจ และชำระคืนเงินกู้บางส่วน รวมถึงได้เบิกเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน เพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

GULF
ยุพาพิน วังวิวัฒน์

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF  คาดการณ์ว่า ในปี 2566 รายได้รวมจะเติบโตประมาณ 50% จากโครงการที่จะทยอยเปิดดำเนินการในปี 2566 ซึ่งยังเป็นไปตามแผน

โดยโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติกัลฟ์ ปลวกแดง (GPD) ภายใต้กลุ่ม IPD หน่วยที่ 1 (662.5 เมกะวัตต์) ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 และหน่วยที่ 2 (662.5 เมกะวัตต์) มีกำหนดเปิดดำเนินการในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ภายใต้ GULF1 มีกำหนดจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มอีก 90-100 เมกะวัตต์ในปีนี้

นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Jackson Generation (1,200 เมกะวัตต์) ที่สหรัฐ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 ส่งผลให้กำลังการผลิตในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2,900 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับปี 2565

สำหรับแผนธุรกิจของ GULF ในปี 2566 จะเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 40% ภายในปี 2578 ซึ่งจะมาจากการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาว โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศ รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม และการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป และอังกฤษ

นางสาวยุพาพิน เปิดเผยด้วยว่า ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ยังเป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มีกำหนดจะถมทะเลแล้วเสร็จ และจะเริ่มก่อสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) ในปี 2567

GULF

ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มีกำหนดจะเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือ F1 และ F2 ในปี 2569 และปี 2573 ตามลำดับ ในส่วนของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) นั้น มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2568

นอกจากนี้ ความคืบหน้าของธุรกิจดิจิทัลยังเป็นไปตามแผน โดยคาดว่า ธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ที่ลงทุนร่วมกับไบแนนซ์ จะได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในเดือนมิถุนายน 2566 และอาจเปิดดำเนินการซื้อขายภายในสิ้นปีนี้

สำหรับธุรกิจศูนย์ข้อมูล ที่ร่วมลงทุนกับ Singtel และ AIS นั้น มีแผนที่จะเริ่มก่อสร้างในกลางปีนี้ และคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในต้นปี 2568

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo