Stock

‘TTW’ ผลตอบแทนน่าดึงดูด ‘สถานะการเงิน’ แข็งแกร่ง

บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้น TTW เป็นผู้ผลิต และจำหน่ายน้ำประปาภาคเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ด้วยกำลังการผลิตปัจจุบันที่มากกว่า 1,028,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

รูปแบบธุรกิจของ TTW จะเป็นลักษณะการทำสัญญาซื้อขายน้ำประปาให้กับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และมีปริมาณรับซื้อขั้นต่ำกำหนดไว้ในสัญญา จากนั้น น้ำประปาดังกล่าว จะถูกนำไปขายให้กับลูกค้าต่อไป

TTW

TTW ได้รับสัมปทานประกอบกิจการประปา จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นระยะเวลา 25 ปี สำหรับใช้น้ำจากแม่น้ำท่าจีน ในการผลิตน้ำประปา

โครงสร้างรายได้ปัจจุบันของ TTW สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก

  • ดำเนินธุรกิจภายใต้ TTW

เป็นการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และนครปฐม กำลังการผลิตสูงสุด 540,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีสัญญาซื้อขายน้ำประปาจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2577

  • ดำเนินธุรกิจภายใต้ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด

บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด (PTW) เป็นบริษัทย่อยที่ TTW ถือหุ้น 98% เพื่อผลิต และจำหน่ายน้ำประปาในพื้นที่ปทุมธานี-รังสิต กำลังการผลิตสูงสุด 488,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีสัญญาซื้อขายน้ำประปาจนถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2566

  • ดำเนินธุรกิจภายใต้ บริษัท ไทยวอเตอร์ โอเปอเรชั่นส์ จำกัด

บริษัท ไทยวอเตอร์ โอเปอเรชั่นส์ จำกัด (TWO) เป็นบริษัทย่อยที่ TTW ถือหุ้น 68% และ PTW ถือหุ้น 32% ประกอบธุรกิจบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร ให้กับลูกค้าในเขตโรงงานอุตสาหกรรม

20210224 103716 1

อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่ติดตามหุ้น TTW จะรู้ว่า มีประเด็นที่ยังไม่แน่นอนอยู่หนึ่งเรื่อง นั่นก็คือการการต่อสัญญาขายน้ำของ PTW ที่กำลังจะหมดอายุลงในปีนี้แล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการต่อสัญญาสัมปทาน ซึ่งเป็นสิ่งที่กดดันมูลค่าหุ้นมาตลอด

เนื่องจากพื้นที่โซนรังสิต-ปทุมธานี มีความต้องการน้ำประปาเร่งตัวสูงขึ้นมาก ดังนั้น การได้ต่อสัญญาออกไปจะเป็นอัพไซด์ ที่หนุนการเติบโตจของบริษัทได้ชัดเจนในอนาคต

บทวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย ระบุว่า แม้ TTW จะมีประเด็นที่ไม่แน่นอน ทว่าผลตอบแทนยังน่าดึงดูดให้เข้าลงทุน เนื่องจากเชื่อว่า TTW จะสามารถเจรจากับรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนสัมปทานของ PTW ไปเป็นสัญญาเช่า พร้อมเงื่อนไขบางประการ

ปัจจุบัน สัมปทานอยู่ภายใต้รูปแบบ Build-Own-Operate-Transfer (BOOT) คือ ต้องโอนทรัพย์สินทั้งหมดไปให้ กปภ. เมื่อสัมปทานสิ้นสุดลง

วิเคราะห์สมมติฐานได้ 3 กรณี

  1. เปลี่ยนจากรูปแบบสัมปทาน ไปเป็นสัญญาเช่าพร้อมเงื่อนไข เช่น การลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตและลดราคาขาย (กรณีฐาน)
  2. ขยายระยะเวลาสัมปทาน พร้อมเงื่อนไขเดิม (กรณีดีที่สุด)
  3. ไม่มีการต่อระยะเวลาสัมปทาน (กรณีเลวร้ายที่สุด)

TTW

TTW ได้ยื่นเสนอสัญญาใหม่ให้ กปภ. ไปเมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา และกำลังเจรจากับรัฐบาล เพื่อหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว ทว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันเพิ่งประกาศยุบสภา จึงส่งผลให้ข้อสรุปต้องล่าช้าออกไป

แต่ TTW จะมีปัจจัยบวกมาหนุนจากการคาดกำไรสุทธิปี 2566 ที่จะเพิ่มขึ้นจากยอดขายเฉลี่ยที่สูงขึ้น ตามเงินเฟ้อครั้งก่อน และยอดขายที่เติบโตขึ้นหลังวิกฤติโควิด-19 สิ้นสุดลง

ดังนั้น จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 11.9 บาท เนื่องด้วยเสถียรภาพของกำไรสุทธิ รวมไปถึงอัตราตอบแทนเงินปันผลที่น่าดึงดูดใจที่ 6.9% ตลอดจนสถานะการเงินที่แข็งแกร่งมาก ด้วยสัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนที่แค่ 0.46 เท่า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน