Stock

อัปเดตแนวโน้มหุ้น IPO ปีกระต่าย คึกคัก หรือ เงียบเหงา?

อัปเดตแนวโน้มหุ้น IPO ปีกระต่าย คึกคัก หรือ เงียบเหงา? ก่อนจองซื้อหุ้น IPO ต้องเตรียมอย่างไรบ้าง อ่านที่นี่!

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อัปเดตแนวโน้มหุ้น IPO ปีกระต่าย โดยระบุว่า ปี 2566 ประเมินว่าจะมีหุ้น IPO เข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างคึกคัก ปัจจัยสำคัญ คือ เตรียมเงินเพื่อนำไปขยายกิจการ อีกทั้งในปี 2567 จะมีการบังคับใช้เกณฑ์ใหม่ที่บริษัทจะเข้าระดมทุนต้องนำส่งงบการเงินฉบับเต็มย้อนหลัง 3 ปี หลายบริษัทจึงต้องเร่งเข้าระดมทุน ไม่เช่นนั้นอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อเตรียมความพร้อมใหม่

หุ้น IPO

แนวโน้มหุ้น IPO ปีกระต่าย

ย้อนกลับไปปี 2564 มีหุ้นเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย (Initial Public Offering: IPO) ทั้งสิ้น 41 บริษัท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 38 บริษัท และกอง REITs 3 กอง มูลค่าระดมทุนรวม 98,125.09 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 454,015.71 ล้านบาท ส่วนในปี 2565 มีหุ้นเข้าระดมทุนทั้งสิ้น 42 บริษัท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 40 บริษัท และกอง REITs 2 กอง มูลค่าระดมทุนรวม 97,852.50 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 506,545.49 ล้านบาท

สำหรับปี 2566 ประเมินว่าจะมีหุ้นเข้ามาระดมทุนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มกราคม 2566) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานว่ามีบริษัทได้รับอนุญาตแบบคำขอให้เสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่แล้ว จำนวน 8 บริษัท

นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวว่า หากพิจารณาจากราคาหุ้นที่ปรับขึ้นของวันซื้อขายวันแรก พบว่าปี 2565 นักลงทุนได้รับผลตอบแทนไม่เต็มที่นัก เนื่องจากมีปัจจัยลบคอยรบกวน เช่น สงครามรัสเซียกับยูเครน อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น รวมถึงความกังวลที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่งผลให้ตลาดหุ้นผันผวนตามไปด้วย

หุ้น IPO

คาดหุ้น IPO เข้าระดมทุนมากกว่าปีก่อน

“ถึงแม้ในปี 2565 จะมีปัจจัยลบเข้ามากระทบกับบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น แต่จำนวนหุ้น IPO ที่เข้ามาระดมทุนก็มีจำนวนมากพอสมควร เพราะบริษัทที่ต้องการระดมทุนก็มองว่าเป็นจังหวะที่ดีในการเข้ามาระดมทุน ด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เริ่มคลี่คลาย โดยเฉพาะการกลับมาเปิดประเทศของจีน ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อก็ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่จะเข้าระดมทุนตามแผนเดิมที่วางเอาไว้ เพียงแต่รอจังหวะเข้าซื้อขายในปี 2566 เท่านั้น โดยธุรกิจที่สนใจระดมทุน IPO ส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจที่สอดคล้องกับเมกะเทรนด์”

สอดคล้องกับนายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลท. เปิดเผยว่า ในปี 2566 คาดว่าจะมีหุ้น IPO เข้าระดมทุน ทั้งจำนวนบริษัทและมาร์เก็ตแคปมากกว่าปีที่ผ่านมา

นอกเหนือจากการระดมทุนเตรียมเงินเพื่อรอโอกาสลงทุนหรือต่อยอดทางธุรกิจ ปัจจัยที่บริษัทเร่งระดมทุนในปีนี้ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ปรับเกณฑ์รับหลักทรัพย์ใหม่เรื่องมาตรฐานทางบัญชีที่กำหนดให้บริษัทยื่นทำงบการเงินย้อนหลังในรูปแบบกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Publicly Accountable Entities: PAEs) 3 ปีย้อนหลัง (จากเดิมที่ 1 ปี) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ต้นปี 2567 จึงทำให้บริษัทที่จัดทำงบการเงิน PAEs ไม่ถึง 3 ปี ต้องเข้าระดมทุนในปีนี้

หุ้น IPO
นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์

จากสถานการณ์ที่บริษัทสนใจเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การลงทุนหุ้น IPO (Initial Public Offering) ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังเอาไว้ โดยเฉพาะการเข้าลงทุนหุ้น IPO ในวัน 1st Trading Day แล้วถือไว้เฉย ๆ นั้นก็มีโอกาสทั้งกำไรและขาดทุน ซึ่งประเด็นนี้ นายอธิป กีรติพิชญ์ (นิ้วโป้ง) นักลงทุนหุ้นเน้นคุณค่า มีข้อสังเกตและข้อควรระวังในการเข้าจองหุ้น IPO หรือเข้าซื้อขายหุ้น IPO ในวันแรก ดังนี้

ข้อสังเกตและข้อควรระวังในการเข้าจองหุ้น IPO

  • อย่าจองซื้อหุ้น IPO โดยที่ยังไม่รู้อะไรเลยอย่างเด็ดขาด แม้ว่าจะเป็นการจองซื้อหุ้น IPO แต่การวิเคราะห์กิจการก่อนเข้าลงทุน ยังคงทำเหมือนการวิเคราะห์หุ้นทั่วไปทุกประการ กล่าวคือ กิจการนั้นต้องอยู่ในเมกะเทรนด์ อยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นขาขึ้น มีปัจจัยเชิงคุณภาพของลักษณะกิจการที่ดีและมีงบการเงินย้อนหลังที่ดูดีใช้ได้ ซึ่งอย่างน้อยควรมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นย้อนหลังตลอด 3 ปีก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์
  • ระวังราคาจองซื้อหุ้นและราคาที่เข้าซื้อในวัน 1st Trading Day สมัยก่อนนักลงทุนบางท่านมักจะแซวกันขำ ๆ ว่า IPO ย่อมาจาก It’s Probably Overvalue เพราะอะไร? ลองนึกถึงหลักความเป็นจริง ถ้าเราเป็นเจ้าของบริษัทจะนำบริษัทมาขายแบ่งส่วนให้คนทั่วไป ถามว่าเราอยากขายถูกหรือขายแพง แล้วบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำ IPO ทั้งที่ปรึกษาทางการเงินหรือบริษัทที่รับผิดชอบการนำหุ้นออกขาย อยากขายให้ได้เงินน้อยหรือมาก ซึ่งเราก็คงพอเดาได้ว่าราคาเสนอขายหุ้น IPO มักจะไม่ใช่ราคาถูก และมีหุ้นหลายตัวที่ราคาจองซื้อ IPO จัดว่าแพง และยิ่งเป็นราคา 1st Trading Day ที่ราคาหุ้นบวกเพิ่มจากแรงเก็งกำไรในวันแรก ยิ่งต้องระมัดระวังอย่างที่สุด เพราะฉะนั้นมูลค่าที่แท้จริงของกิจการยังเป็นเรื่องสำคัญ

หุ้น IPO

  • หุ้น IPO ตัวนี้เข้ามาในตลาดเพื่ออะไร จุดนี้นักลงทุนต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนและหาคำตอบให้ได้ เพราะบางกิจการทำธุรกิจครอบครัว ก่อร่างสร้างตัวมาจนกระทั่งเติบโตเต็มที่และเข้าสู่ช่วงอิ่มตัวแล้ว ตลาดเต็มไปด้วยการแข่งขันและความไม่แน่นอนสูงจากการ Disruption ทำไมเจ้าของถึงอยากเอากิจการเข้าตลาดหุ้นในตอนที่ภาพในอนาคตแทบไม่มีการเติบโตอีกแล้ว เอาเข้ามาเพื่อแบ่งสมบัติในครอบครัว เอาเข้ามาเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้เจ้าของเดิม หรือกิจการอาจมีผลประกอบการขาดทุนยาวนาน และให้เหตุผลในการระดมทุนว่า “…เพื่อนำไปชำระหนี้ ลดการขาดทุนสะสม…” โดยที่ไม่ได้ฉายภาพอนาคตของการเติบโตใด ๆ เลย แบบนี้ก็ควรระมัดระวัง
  • จงระวังหุ้น IPO ที่มีพฤติกรรมเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย กรณีที่หุ้น IPO ตัวใดที่เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ขายหนักอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่วันแรก หรือช่วงแรกของการเข้าตลาด (ซึ่งราคายังสูงอยู่) จะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของหุ้นตัวนั้นอย่างมาก และในบางกรณี หุ้นบางตัวอาจมีการจ่ายเงินปันผลออกมาอย่างหนัก ก่อนจะกระจายหุ้นแบ่งให้คนอื่นมาร่วมถือหุ้นด้วย หรือ หุ้นบางตัวอาจมีการเพิ่มทุนก่อนที่ราคาจะต่ำ (เช่น ราคาพาร์) ก่อนเข้าตลาดไม่นาน เพื่อเพิ่มจำนวนหุ้นในมือของตัวเองก่อนวันขายหุ้น IPO ให้แก่ประชาชนทั่วไป
  • จงระวังหุ้น IPO ที่เหลือจากการขาย มีโควต้ามาถึงมือรายย่อยเป็นจำนวนมากและได้มาแบบง่าย ๆ ปกติหุ้น IPO เป็นสิ่งที่คนอยากได้และมีอยู่จำกัด การที่มีโควต้าให้หุ้น IPO มาถึงมือรายย่อยทั่วไปเป็นจำนวนมากและได้มาแบบง่าย ๆ แปลตรงตัวได้ว่า การระดมทุนรอบนี้ อาจจะมีจำนวนมากเกินไป ทั้งในเชิงจำนวนหุ้น (มากไป) และราคาหุ้น (สูงไป) ไม่มีใครสนใจ นักลงทุนจึงต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

ขอบคุณ : ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo