Stock

หุ้น ‘MEB’ แพลตฟอร์มอีบุ๊คอันดับหนึ่ง เครือเซ็นทรัล

ตลาดหุ้นไทยกำลังจะมีหุ้นตัวใหม่ที่ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มอีบุ๊ค (E-Book) ที่มีความสนใจมาก ทั้งในแง่ศักยภาพการเติบโต รวมถึงการมีทุนใหญ่หนุนหลัง เนื่องด้วยมีผู้ถือหุ้นใหญ่โดยตรงคือ B2S ซึ่งเป็นบริษัทย่อยภายใต้กลุ่ม CRC หรือ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

หุ้นไอพีโอที่เรากำลังพูดถึงก็คือ MEB หรือ บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งวางแผนว่าจะเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในไตรมาส 1 ปีนี้ เอาเป็นว่าหากนักลงทุนกำลังสนใจข้อมูลในหุ้นตัวนี้อยู่ เราได้สรุปข้อมูลสำคัญมาให้แล้วแบบครบๆ

MEB ทำธุรกิจอะไร?

เมพ คอร์ปอเรชั่น ดำเนินธุรกิจจำหน่ายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) ผ่านแพลตฟอร์มและเว็บไซต์ ได้แก่ meb ซึ่งเป็นการจำหน่ายวรรณกรรมออนไลน์ ที่มีความหลากหลายจากสำนักพิมพ์ และเจ้าของผลงานอิสระ และ readAwrite แพลตฟอร์มสำหรับชุมชนนักเขียน-นักอ่าน โดยสมาชิกสามารถโพสต์คอนเทนต์ได้ด้วยตัวเอง ปัจจุบันทั้ง meb และ readAwrite มีจำนวนผู้ใช้งานรวมกว่า 8 ล้านบัญชี

นอกจากนี้ บริษัทได้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Reader) ผ่านร้านค้าและช่องทางออนไลน์ของ B2S ธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มระบบห้องสมุดดิจิทัลสำหรับองค์กร (Hibrary) เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย หน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน และโรงพยาบาล ซึ่งดำเนินงานผ่านบริษัทย่อยที่ชื่อว่า ไฮเท็คซ์ อินเตอร์แอคทีฟ (Hytexts)

MEB ทำธุรกิจอะไร e1675649247883

โครงสร้างรายได้ของ MEB

รายได้หลักของ MEB ปัจจุบัน (9 เดือนปี 2565) มาจากการขายและบริการ E-Book บนแพลตฟอร์ม meb คิดเป็นสัดส่วน 92.16% เมื่อแยกเป็นหมวดหมู่ประเภทหนังสือ พบว่าส่วนใหญ่มาจากนิยายและวรรณกรรม 76.12% และเป็นหมวดอื่นๆ เช่น การ์ตูน ไลท์ไนเวล นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ราว 16.04%

ขณะที่รายได้จากแพลตฟอร์ม readAwrite อยู่ที่ 4.80% แม้จะยังเป็นสัดส่วนที่น้อย แต่เห็นแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดดในทุกๆ ปี ในส่วนของรายได้อื่นๆ อีก 3.04% มาจากการจำหน่าย E-Reader และหนังสือเสียง เป็นต้น

ผลประกอบการย้อนหลัง

ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 – 2564) บริษัทมีรายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย (CAGR) เท่ากับ 53.42% ต่อปี และมีกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 83.14% ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ได้รับประโยชน์จากโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาอ่านวรรณกรรมออนไลน์แทนการออกไปร้านหนังสือ

ผลประกอบการช่วง 2562 2564@300x 100

สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทก็ยังรักษาการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ผู้คนจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดย MEB มีรายได้อยู่ที่ 1,263.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.34% จากปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 241.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.24% จากปีก่อน

เป้าหมายการระดมทุน

1. ใช้สำหรับการขยายธุรกิจแพลตฟอร์มปัจจุบัน ประกอบด้วย meb, readAwrite และ Hytexts โดยการเพิ่มเนื้อหาวรรณกรรมออนไลน์ ตั้งแต่การซื้อลิขสิทธิ์วรรณกรรมประเภทนิยายและประเภทอื่นที่ไม่ใช่นิยาย จำนวนเงินประมาณ 320 ล้านบาท ระยะเวลาใช้เงินภายในปี 2566-2567

2. ใช้สำหรับการขยายธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจปัจจุบันไปยังต่างประเทศ ตั้งแต่การสร้างแพลตฟอร์มใหม่ในต่างประเทศ และการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ภาษาอังกฤษ จำนวนเงินประมาณ 230 ล้านบาท ระยะเวลาใช้เงินภายในปี 2566-2567

3. ใช้ในการปรับปรุงพัฒนาแพลตฟอร์มปัจจุบันให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ เพื่อมุ่งสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคงต่อไป

สรุปจุดเด่นของหุ้น MEB

1. เป็นผู้นำในธุรกิจวรรณกรรณออนไลน์ในประเทศไทย ที่มีเนื้อหาหลายหลายครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้ง นิยาย การ์ตูน ความรู้ทั่วไป สารคดี นิตยสาร และหนังสือพิมพ์
2. มีแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่ง ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้บริการและเจ้าของผลงาน ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด E-Book เป็นอันดับ 1 หรือราว 60%
3. อยู่ในอุตสาหกรรมวรรณกรรมออนไลน์ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ทั้งนี้ งานวิจัยของ PwC คาดว่าอัตราการเติบโตระหว่างปี 2565-2569 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 4.6% ต่อปี
4. ทีมผู้บริหารมีความสามารถและมีประสบการณ์อย่างยาวนาน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจาก “คุณกิตติพงษ์ แซ่ลิ้ม และ “คุณรวิวร มะหะสิทธิ์” สองหนุ่มวิศวะจุฬาฯ ที่ชื่นชอบการอ่านหนังสือ และพบข้อจำกัดหลายอย่างของร้านหนังสือ จึงนำความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ ปั้น meb เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ของผู้บริโภค
5. ผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินที่มั่นคง
6. ได้รับประโยชน์จากการเป็นบริษัทในเครือเซ็นทรัล

ทั้งนี้ MEB เตรียมการเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 75.50 ล้านหุ้น ราคาเสนอขาย 28.50 บาทต่อหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท หรือคิดเป็น 25.17% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ แบ่งเป็นหุ้น IPO จำนวน 22.50 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิมจำนวน 53 ล้านหุ้น

กำหนดเปิดให้จองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 3, 6-7 กุมภาพันธ์ คาดเข้าเทรดในตลาด mai ประมาณวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ภายหลังการขายหุ้น IPO ครั้งนี้ คุณรวิวร มะหะสิทธิ์ และ คุณกิตติพงษ์ แซ่ลิ้ม ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัท จะถือหุ้นรวมกันประมาณ 18.7% ขณะที่ CRC ผ่านบริษัทย่อยในกลุ่มซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เดิม จะถือหุ้นประมาณ 56%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน