Stock

‘ธนาคารดิจิทัล’ ไร้สาขา เทรนด์อนาคตการเงินไทย

ธนาคารดิจิทัลไร้สาขา เทรนด์อนาคตการเงินไทย ไม่ว่าจะเป็นการฝาก ถอน โอน เปิดบัญชี สมัครสินเชื่อรวมถึงธุรกรรมการเงินต่างๆ

ในปี 2566 นี้ เชื่อว่าเทรนด์ใหม่ที่จะเข้ามากระทบอุตสาหกรรมการเงินการธนาครของประเทศไทยอย่างแน่นอน นั่นคือการมาของ “ธนาคารดิจิทัล” หรือ Virtual Bank ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ไม่ต้องมีสาขา หรือจุดให้บริการ อาจมีเพียงสำนักงานใหญ่ของธนาคารเท่านั้น ส่วนการให้บริการลูกค้าจะอยู่ในรูปแบบแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการฝาก ถอน โอน เปิดบัญชี สมัครสินเชื่อ รวมถึงธุรกรรมการเงินต่างๆ

จุดแตกต่างระหว่างธนาคารดิจิทัลกับธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม จำเป็นต้องเปิดให้บริการ 2 รูปแบบ ทั้งสาขาของธนาคาร และผ่านทางช่องทางออนไลน์ ทว่าธนาคารดิจิทัลที่เรากำลังพูดถึงนี้จะเปิดให้บริการเฉพาะช่องทางออนไลน์เท่านั้น

ธนาคารดิจิทัล

ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดของธนาคารดิจิทัล จะช่วยให้การดำเนินธุรกิจธนาคารมีต้นทุนที่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ที่เก็บค่าธรรมเนียมต่ำลง หรือสามารถเสนออัตราดอกเบี้ยที่ดีขึ้น ตลอดจนเพิ่มความยืดหยุ่นในการให้บริการแก่ผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันเราพบว่าธนาคารดิจิทัลกำลังเป็นเทรนด์ไปทั่วโลก โดยประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิคที่มีผู้ให้บริการธนาคารดิจิทัลแล้ว ประกอบด้วย เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ขณะที่ประเทศไทยเริ่มมีการพูดถึงประเด็นนี้เป็นวงกว้าง เพราะคนไปสาขาธนาคารน้อยลงมาก เมื่อเทคโนโลยีนำความสะดวกสบายให้มาอยู่ที่ปลายนิ้ว

ธนาคารดิจิทัลกำลังจะมีบทบาทในไทย

มีรายงานว่าขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างการพิจารณาออกใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจธนาธารดิจิทัลในประเทศไทย ตามรอยหลายประเทศในเอเชียที่ได้ออกใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยคาดว่าจะมีการทำประชาพิจารณ์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 หลังก่อนหน้า ธปท. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นแนวทางของภูมิทัศน์การเงินไทย ซึ่งมีประเด็นเรื่อง ธนาคารดิจิทัล หรือ Virtual Bank รวมอยู่ด้วย

ดังนั้น ภายในปี 2566 เราน่าจะได้เห็นความชัดเจนของธุรกิจธนาคารดิจิทัลว่าจะออกมาในทิศทางไหน ส่วนคำถามว่าทำไม ธปท. ต้องเร่งพิจารณาใบอนุญาตธนาคารดิจิทัล นั้นก็เพื่อต้องการเพิ่มการเข้าถึงและลดต้นทุนทางการเงินของกลุ่ม SME และครัวเรือน ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินและการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ นอกจากนี้ จะเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการ แข่งขันของระบบการเงินอีกด้วย

ธนาคารดิจิทัล

หุ้นได้ประโยชน์ หากเกิดธนาคารดิจิทัล

บล. บัวหลวง เปิดเผยว่า บนสมมุติฐานที่ว่าธนาคารดิจิทัลจะเริ่มดำเนินการในช่วงปลายปี 2566 คาดจะมีผลกระทบเล็กน้อยต่อประมาณการกำไรของหุ้นกลุ่มธนาคารที่ให้คำแนะนำในปี 2567 ส่วนผู้ที่จะได้รับประโยชน์ก็คือกลุ่มที่จะสามารถได้ใบอนุญาตธนาคารดิจิทัล

ชัดเจนที่สุด คือ กลุ่มการเงิน เพราะใบอนุญาตจะช่วยให้บริษัทสามารถรับเงินฝากได้ หากบริษัทเหล่านั้นสามารถระดมเงินฝากได้ ต้นทุนทางการเงินจะลดลงอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น KTC ที่มีความสามารถทางออนไลน์อยู่แล้ว

อีกกลุ่มคือ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมและผู้ค้าปลีกออนไลน์ ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน เนื่องจากบริษัทในสองอุตสาหกรรมนี้มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ มีข้อมูลธุรกรรมมากมาย และใช้ระบบชำระเงินออนไลน์อยู่แล้ว หากเกิดธนาคารดิจิทัลจะเป็นความก้าวหน้าที่ชัดเจน

ธนาคารดิจิทัล

ทั้งนี้ จึงมีแนวโน้มได้เห็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทการเงินออฟไลน์และบริษัทอื่นๆ ที่มีความสามารถด้านอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยี  ล่าสุด ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) หรือ ADVANC เพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ให้บริการ Virtual Bank

อย่างไรก็ดี ความท้าทายของธนาคารดิจิทัลในต่างประเทศ พบว่าหลายบริษัทยังไม่สามารถทำกำไรได้ แม้ว่าฐานลูกค้าจะเพิ่มขึ้นอย่างตอเนื่อง สาเหตุมาจากต้นทุนในการดึงลูกค้าที่สูง ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงิน ฝากที่สูงกว่ามาก รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นแล้วปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จ คือต้องมีแพลตฟอร์มที่ดี มีฐานลูกค้าเดิมที่กว้างพอ และฐานการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน