ยื่นภาษี 2566 ยื่นภาษีออนไลน์วันสุดท้ายวันไหน ใครต้องยื่นภาษีบ้าง เงินเดือนเท่านี้ต้องเสียภาษีหรือไม่ อยากได้คืนเงินภาษีเร็ว ๆ ต้องทำอย่างไร
ใกล้สิ้นสุดเทศกาลยื่นภาษี 2566 แล้ว!! เหล่ามนุษย์เงินเดือนและผู้มีรายได้ทั้งหลายต่างมีหน้าที่ที่ต้องเสียภาษี กรณียื่นแบบเอกสารหรือกระดาษ ผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่งใกล้บ้าน ยื่นได้ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2567 ส่วนผู้ที่ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของ กรมสรรพากร สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 9 เมษายน 2567 นั่นเอง วันนี้ #TheBangkokInsight ได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการยื่นภาษีไว้ที่นี่!!
ใครบ้างที่ต้องยื่นภาษี
กฎหมายกำหนดให้ผู้มีรายได้ทุกคนต้องทำการยื่นภาษีเงินได้ประจำปี และหลายคนมักกลัวการยื่นภาษี เพราะคิดว่า เมื่อยื่นภาษีจะต้องเสียภาษีด้วย แต่ในความจริงแล้ว การที่คุณต้องยื่นภาษีไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องจ่ายภาษีเสมอไป ทั้งนี้เพราะ
- การยื่นภาษี เป็นเพียงการแสดงรายได้ที่ได้รับมาตลอดทั้งปีเท่านั้น โดยปกติการยื่นภาษีจะอยู่ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปี
- การเสียภาษี เป็นหน้าที่ของผู้เสียภาษีที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ คุณจะต้องเสียภาษีก็ต่อเมื่อมีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท เท่านั้น ซึ่งคุณสามารถคำนวณเงินได้สุทธิได้ง่ายๆ โดยคำนวณจาก
“เงินได้ตลอดทั้งปี – ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 100,000 บาท-ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท-ค่าลดหย่อนเงินสมทบประกันสังคม 9,000 บาท = เงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี”
- เงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท ต้องทำการยื่นภาษีเท่านั้น ไม่ต้องเสียภาษี
- เงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท ต้องทำการยื่นภาษีและเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
หมายเหตุ ค่าลดหย่อนเงินสมทบประกันสังคม อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายของรัฐบาล โดนค่าลดหย่อนเงินสมทบประกันสังคม สำหรับการยื่นภาษี 2566 (ยื่นต้นปี 2567) เงินสมทบประกันสังคม ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะอยู่ที่ 9,000 บาท (อ่านเพิ่มเติมที่ได้ ค่าลดหย่อนภาษี 2566)
เงินเดือนเท่านี้ ต้องเสียภาษีเท่าไหร่?
หากคุณเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้จากงานประจำอย่างเดียว และเป็นผู้มีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 120,000 บาท (หรือมีเงินเดือน 10,000 บาท) ไม่ต้องยื่นภาษี และมีการกำหนดขอบเขตของรายได้ที่ต้องยื่นภาษีและต้องเสียภาษีเพิ่มเติมไว้ดังนี้
- เงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ต้องยื่นภาษี
- เงินเดือนไม่เกิน 26,583.33 บาท ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี
- เงินเดือนมากกว่า 26,583.33 บาท ต้องยื่นภาษี และต้องเสียภาษี
- ในกรณีที่มีเงินเดือนไม่เกิน 25,833.33 บาท และไม่ได้จ่ายเงินสมทบประกันสังคม ต้องยื่นภาษีแต่ไม่ต้องเสียภาษี
- ในกรณีที่มีเงินเดือนเกิน 25,833.33 บาท และจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ต้องยื่นภาษีและเสียภาษี
หมายเหตุ
ค่าภาษีตามฐานเงินเดือนตามตารางข้างต้น คิดจากค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และเงินประกันสังคม 9,000 บาทเท่านั้น หากคุณมีสิทธิลดหย่อนภาษีอื่น ๆ เพิ่มเติม ค่าภาษีที่ต้องจ่ายก็อาจจะลดลง รวมถึงโอกาสได้รับเงินคืนภาษีก็จะมากขึ้นด้วย
ใบ 50 ทวิ คืออะไร ขอได้จากใคร?
ใบ 50 ทวิ หรือ หนังสือหัก ณ ที่จ่าย คือ เอกสารที่ใช้ยืนยันว่าการรับเงินค่าจ้างของคุณถูกหัก ณ ที่จ่ายเรียบร้อยแล้ว และเป็นเอกสารที่ช่วยให้คุณยื่นภาษีได้ง่ายขึ้น เพราะคุณสามารถนำรายได้ที่ได้รับทั้งปีและภาษี ณ ที่จ่ายที่ถูกหักสะสม มากรอกยื่นภาษีได้ทันที ซึ่งคุณสามารถขอใบ 50 ทวิ หรือ หนังสือหัก ณ ที่จ่าย ได้จากบริษัท หรือ คนที่จ่ายเงินค่าจ้างให้คุณ
และไม่ว่าคุณจะมีรายได้จากการทำงานประจำเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือ เป็นฟรีแลนซ์ หรือประกอบอาชีพอิสระ ทุกครั้งที่ได้รับเงินค่าจ้างจากผู้ว่าจ้าง จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และต้องได้รับใบ 50 ทวิเหมือนกัน เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่า
กรณีทำงานประจำ
- ทำงานจนถึงสิ้นปี นายจ้างหรือบริษัทจะต้องออกใบ 50 ทวิ ให้แก่ลูกจ้างภายในวันที่ 15 ก.พ. ปีถัดไป
- ออกจากงานระหว่างปี นายจ้างหรือบริษัทจะต้องออกใบ 50 ทวิ ให้แก่ลูกจ้างภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออกจากงาน
กรณีเป็นคนทำงานอิสระ (Freelance) หรือมีรายได้อื่น ๆ
- หากคุณเป็นฟรีแลนซ์ ประกอบอาชีพอิสระ หรือรายได้อื่นๆ คุณจะต้องได้รับใบ 50 ทวิทุกครั้งที่มีการรับเงิน เพราะกฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายเงินหรือผู้ว่าจ้าง ต้องออกใบ 50 ทวิ ให้ผู้รับเงิน หรือผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายทันที
เลขประจำตัวผู้เสียภาษี หาได้จากไหน?
- เลขประจำตัวผู้เสียภาษี คือ เลขที่กรมสรรพากรกำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นฐานในการบริหารจัดเก็บภาษี และถูกระบุอยู่ที่ส่วนบนของหนังสือหัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) ที่คุณได้รับ เมื่อมีการจ่ายเงินค่าจ้างแก่คุณ โดยสามารถแบ่งออกเป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา คือ เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือ เลขประจำตัวคนต่างด้าว
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เลขทะเบียนนิติบุคคล ที่ออกโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เด็กจบใหม่ทำงานไม่ถึงปี ต้องยื่นภาษีมั้ย?
เด็กจบใหม่ทำงานไม่ถึงปีก็ต้องยื่นภาษี เพราะการยื่นภาษีเป็นเรื่องของรายได้ ไม่ใช่เรื่องของอายุหรือระยะเวลาการทำงาน และถึงแม้คุณจะเป็นเด็กจบใหม่ที่มีอายุงานยังไม่ครบ 1 ปี หรือมีอายุน้อยกว่า 18 ปี หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษี ก็ต้องทำการยื่นภาษีเงินได้บุคคลประจำปีเหมือนผู้มีรายได้คนอื่นๆ
มีรายได้แต่ไม่ยื่นภาษีได้มั้ย?
บอกก่อนว่า คุณจะได้รับการยกเว้นการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ต่อเมื่อ คุณมีรายได้ตลอดทั้งปีไม่เกิน 120,000 บาท หรือมีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาทเท่านั้น แต่หากคุณมีรายได้ทั้งปีมากกว่า 120,000 บาท คุณจะต้องทำการยื่นภาษีทุกปี แม้ว่าจะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ตาม โดยกฎหมายได้กำหนดขอบเขตของรายได้ที่ต้องยื่นภาษีและต้องเสียภาษีเพิ่มเติมไว้ดังนี้
- เงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ต้องยื่นภาษี
- เงินเดือนไม่เกิน 26,583.33 บาท ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี
- เงินเดือนมากกว่า 26,583.33 บาท ต้องยื่นภาษี และต้องเสียภาษี
- ในกรณีที่มีเงินเดือนไม่เกิน 25,833.33 บาท และไม่ได้จ่ายเงินสมทบประกันสังคม ต้องยื่นภาษีแต่ไม่ต้องเสียภาษี
- ในกรณีที่มีเงินเดือนเกิน 25,833.33 บาท และจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ต้องยื่นภาษีและเสียภาษี
สำหรับใครที่สงสัยว่า สรรพากรทราบรายได้ต่อปีของคุณได้อย่างไร? เราต้องบอกว่า สรรพากรมีข้อมูลรายได้ของผู้เสียภาษีทุกคนอยู่แล้ว เพราะบริษัทจะต้องทำการหัก ณ ภาษีที่จ่ายไว้ และบริษัทที่ว่าจ้างคุณจะต้องส่งข้อมูลการหัก ณ ที่จ่ายให้สรรพากรตามที่กฎหมายกำหนด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สรรพากรรู้ได้ไม่ยากว่า คุณมีรายได้เท่าไหร่ และมีรายได้จากบริษัทหรือนายจ้างคนไหนบ้าง
ยื่นภาษีผิด ทำอย่างไร?
การยื่นภาษีผิดแทบจะเป็นเรื่องปกติของผู้เสียภาษี ไม่ว่าจะเป็น กรอกค่าลดหย่อนภาษีไม่ครบ, กรอกเงินได้ไม่ครบ ฯลฯ หากคุณยื่นภาษีไปแล้วก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะคุณสามารถยื่นภาษีใหม่อีกครั้งได้ด้วยการ เริ่มต้นยื่นภาษีใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนแรก และคุณสามารถทำการยื่นภาษีใหม่กี่ครั้งก็ได้จนกว่าจะครบกำหนดเวลาการยื่นภาษี
- ยื่นภาษีแบบกระดาษ ได้ตั้งแต่ 1มกราคม – 31 มีนาคม 2566
- ยื่นภาษีออนไลน์ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 เมษายน 2566
1. กรณียื่นภาษีออนไลน์
คุณสามารถกรอกข้อมูลใหม่ ซึ่งระบบจะเตือนว่า คุณทำการยื่นภาษีเรียบร้อยแล้ว ให้เลือก “การยื่นเพิ่มเติม” และแก้ไขเป็นข้อมูลรายได้ที่ถูกต้อง ในกรณีที่คุณทำการยื่นภาษีเพิ่มเติม เราแนะนำให้คุณตรวจสอบรายละเอียดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลรายได้ ข้อมูลค่าลดหย่อน จำนวนภาษีที่ถูกหักไว้ ให้ครบถ้วน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเริ่มต้นยื่นภาษีใหม่อีกครั้ง
2. ยื่นภาษีผิด ได้เงินคืนภาษีแล้ว ต้องทำอย่างไร?
ส่วนใครที่ยื่นภาษีผิดและได้รับเงินคืนภาษีจากสรรพากรเรียบร้อยแล้วแต่พบว่า
- ได้รับเงินคืนภาษีมากกว่า ติดต่อกับเจ้าหน้าที่สรรพากรเขตพื้นที่สาขา แจ้งความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จากนั้นสรรพากรจะพิจารณาคืนเงินภาษีตามการยื่นภาษีครั้งใหม่ให้แก่คุณ
- ได้รับเงินคืนภาษีไม่ครบ เจ้าหน้าที่สรรพากรจะทำการโอนเงินคืนภาษีในส่วนที่เหลือให้คุณอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เจ้าหน้าที่สรรพากรพิจารณาแบบแสดงรายการภาษีที่คุณยื่นแก้ไขเรียบร้อยแล้ว
แต่บอกก่อนว่า ในกรณีที่คุณต้องได้รับเงินคืนภาษี แต่ยื่นภาษีผิด อาจจะทำให้คุณได้รับเงินคืนภาษีช้ากว่าเดิม เพราะเจ้าหน้าที่ต้องทำการตรวจสอบแบบภาษีที่คุณยื่นใหม่อีกครั้ง จึงเป็นเหตุผลให้คุณได้รับเงินคืนภาษีช้านั่นเอง
ทำยังไงให้ได้คืนเงินภาษีเร็ว ๆ
อัปโหลดเอกสารค่าลดหย่อนต่างๆ เพิ่มเติม และผูกหมายเลขบัญชีพร้อมเพย์ที่เป็นเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อความรวดเร็วในการขอคืนภาษี โดยเลือกคืนเงินภาษีผ่านพร้อมเพย์กี่วัน หากผู้เสียภาษีผูกพร้อมเพย์กับบัญชีธนาคาร โดยต้องทำการเชื่อมพร้อมเพย์กับบัตรประชาชน และหากผ่านการพิจารณาคืนภาษี กรมสรรพากรก็จะโอนเงินภาษีนั้นคืนใน 3-5 วันทำการ
กรณีที่ยื่นขอคืนเงินภาษีไปแล้ว แต่พบว่ายอดคืนภาษีไม่ตรงกับยอดที่ยื่นไปที่ควรจะได้รับ และไม่เห็นด้วย ก็สามารถอุทธรณ์ต่อกรมสรรพากรได้เช่นกัน ทั้งนี้การ คืนเงินภาษี จะสามารถได้รับเงินคืนเร็วสุดกี่วัน โดยจะขึ้นอยู่เกณฑ์ความเสี่ยงของผู้ยื่น หากไม่พบปัญหา จะได้คืนภาษีภายใน 3-4 วัน
ขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘สรรพากร’ เผยมีผู้ยื่นภาษีแล้ว 1.5 ล้านแบบ อนุมัติคืนภาษีแล้วเฉียดล้านแบบ!
- ยื่นภาษีออนไลน์ 2566 วันสุดท้ายวันไหน? อัปเดต 8 ขั้นตอนยื่นภาษีด้วยตัวเองที่นี่!
- ยื่นภาษีออนไลน์ 2566 ได้ถึงวันไหน ยื่นภาษีไม่ทัน ยื่นเกินกำหนดจะเกิดอะไรขึ้น?
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg