Personal Finance

ยื่นภาษีออนไลน์ 2566 ได้ถึงวันไหน ยื่นภาษีไม่ทัน ยื่นเกินกำหนดจะเกิดอะไรขึ้น?

ยื่นภาษีออนไลน์ 2566 ได้ถึงวันไหน ยื่นภาษีทางออนไลน์ผ่านช่องทางใด หากยื่นภาษีไม่ทัน ยื่นภาษีล่าช้าเกินกำหนดจะเกิดอะไรขึ้น?

เวลาผ่านไปเร็วมาก อีกไม่กี่วัน โครงการ “Easy E-Receipt” ก็จะหมดโครงการแล้ว ใครที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิ ก็อย่านิ่งนอนใจ รีบใช้สิทธิเพื่อประหยัดภาษี แต่ก็เลือกใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นด้วยนะ

ยื่นภาษี 126702

อีกเรื่องหนึ่งที่นิ่งนอนใจไม่ได้ ก็คือ การยื่นแบบภาษีเงินได้ ทุกปีกรมสรรพากรจะกำหนดเส้นตายในการยื่นแบบภาษี ถ้ายื่นด้วยตนเองแบบกระดาษ กรมสรรพากรจะเปิดให้ยื่นได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 แต่ถ้าเป็นการยื่นแบบภาษีทางออนไลน์ ที่ www.rd.go.th ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2567

ในการยื่นแบบภาษี แม้เงินได้สุทธิเราไม่ถึง 150,000 บาทที่ต้องเสียภาษี หากเราเข้าเกณฑ์ของกรมสรรพากร ก็ต้องยื่นแบบภาษี ซึ่งกรมสรรพากรกำหนดเกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี คือ

  • บุคคลธรรมดาและผู้ถึงแก่ความตาย มีเงินได้พึงประเมิน ดังนี้
  • ประเภทเงินได้ (เงินเดือนเพียงอย่างเดียว) โสด 120,000 บาท สมรส 220,000 บาท
  • ประเภทเงินได้ (เงินได้ประเภทอื่น) โสด 60,000 บาท สมรส 120,000 บาท
  • ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท
  • กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท

แปลว่า ต่อให้ไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเงินได้ถึงเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด ก็ต้องยื่นแบบ ถ้าไม่ยื่น หรือยื่นช้า มีบทลงโทษ ดังนี้

ยื่นภาษีออนไลน์

1. บุคคลธรรมดาที่ไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ภายในกำหนด หรือยื่นแบบฯ เกินกำหนดเวลา 

ต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้

2. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 /91 ภายในกำหนด แต่ไม่ได้ชำระเงินภาษี (กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ) 

คือ ยื่นภาษีทันกำหนด แต่ไม่ได้ชำระเงินภาษีภายในกำหนด ก็ถือว่าไม่ได้ยื่นแบบ เราต้องไปยื่นแบบอีกทีที่สำนักงานกรมสรรพากรพื้นที่สาขา และชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1

3. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เกินกำหนดเวลา

3.1 กรณีมีเงินภาษีที่ต้องชำระ กรณีนี้เหมือนข้อ 2 เราต้องชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
3.2 กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ แม้จะไม่มีภาษีที่ต้องชำระ เรายังต้องเสียค่าปรับตามข้อ 1 อยู่ดี หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าถ้าไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องยื่นภาษีก็ได้ คงรู้แล้วนะว่า คิดผิด ยื่นภาษีในกำหนดเวลาเถอะ จะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับ

4. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ภายในกำหนด แต่ยื่นเพิ่มเติมภายหลังกำหนดเวลาการยื่นแบบ

4.1 กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ
4.2 กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ

ยื่นภาษีออนไลน์

5. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ขอผ่อนชำระเงินภาษี

กรณีนี้สำหรับคนที่มีภาษีที่ต้องชำระจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ทั้งภาษีครึ่งปีและภาษีสิ้นปี ผู้เสียภาษีมีสิทธิขอผ่อนชำระภาษีได้เป็น 3 งวดเท่า ๆ กัน (แต่ละงวดห่างกัน 1 เดือน) ถ้ามีภาษีที่ต้องชำระจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ทั้งภาษีครึ่งปีและภาษีสิ้นปี ผู้เสียภาษีมีสิทธิขอผ่อนชำระภาษีได้เป็น 3 งวดเท่า ๆ กัน โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มใดๆ ดังนี้

  • งวดที่ 1 ชำระพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภายในวันที่ 30 กันยายน หรือวันที่ 31 มีนาคม (ปีนี้ 30 มิถุนายน)
  • งวดที่ 2 ชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 1
  • งวดที่ 3 ชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 2

ถ้าภาษีงวดใดงวดหนึ่งมิได้ชำระภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้เสียภาษีหมดสิทธิที่จะชำระภาษีเป็นรายงวด และต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ

6. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 มารู้ว่าจ่ายภาษีมากเกินไปหลังกำหนดการยื่นแบบ อยากขอคืนทำยังไง? 

กรณีนี้สำหรับคนมีสิทธิขอภาษีคืน แต่ไม่ได้ทำเรื่องขอคืนไว้ตอนยื่นภาษีเงินได้ กรมสรรพากรก็ยังใจดีเปิดโอกาสให้คนที่เกิดเปลี่ยนใจอยากขอภาษีคืน ก็ขอได้ โดยให้ยื่นคำร้องขอคืนเงินตามแบบ ค.10 ณ สำนักงานกรมสรรพากรพื้นที่ท้องที่ที่มีภูมิลำเนาอยู่ ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี โดยแนบเอกสารแล้วแต่กรณี เช่น หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย แบบ ล.ย.03 (ถ้ามี) ใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา/มารดา (ถ้ามี) ฯลฯ

7. กรณีรับคืนเงินภาษีอากรเกินไป และได้รับหนังสือทวงถามให้นำเงินไปคืน

โอกาสเกิดมีน้อยมาก แต่อย่าคิดว่าเป็น “ลาภลอย” เพราะกรณีนี้เป็น “ลาภมิควรได้” อย่าคิดว่าเป็นความผิดของกรมสรรพากรที่คืนภาษีให้เราเยอะเกินไปเอง เราต้องนำเงินไปคืนกรมสรรพากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถาม หากเราไม่นำส่งเงินคืนที่ได้รับเกินไปภายในกำหนดเวลา ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 แห่งประมวลแพ่งและพาณิชย์ โดยนับตั้งแต่วันที่เริ่มผิดนัด

ขอบคุณ สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK