Personal Finance

มรดกหนี้!! เมื่อพ่อไม่อยู่ แต่หนี้ยังอยู่ ลูกควรทำอย่างไร?

มรดกหนี้!! เมื่อพ่อเสียชีวิต แต่ยังมีหนี้สิน ตามกฎหมายแล้วทายาทผู้ได้รับมรดกต้องรับผิดชอบหนี้สินก้อนนั้นต่อหรือไม่?

เมื่อพ่อเสียชีวิตและยังมีหนี้สิน ตามกฎหมายแล้ว ทายาทผู้ได้รับมรดกต้องรับผิดชอบหนี้สินก้อนนั้นต่อ เพราะหนี้ถือเป็นมรดกประเภทหนึ่ง แต่ต้องเป็นหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ไม่สามารถใช้ได้กับหนี้นอกระบบ โดยเจ้าหนี้สามารถติดตามทวงถามหนี้กับทายาทได้เท่ากับทรัพย์สินที่ทายาทได้รับมรดกเท่านั้น และต้องเรียกร้องให้ทายาทชำระหนี้แทนใน 1 ปี หากไม่ฟ้องร้องภายในเวลาที่กำหนดจะถือว่าคดีขาดอายุความ

มรดกหนี้ 3106602

หากไม่ต้องการให้ลูกหลานเดือดร้อน ควรเป็นหนี้และบริหารจัดการหนี้อย่างเป็นระบบ หรือทำประกันเพื่อบริหารความเสี่ยง เพราะเมื่อตัวเองเสียชีวิตไปแล้ว หนี้จะไม่ได้หมดไปกับชีวิต แต่จะถูกส่งต่อให้ลูกหลานจัดการต่อไป
ทางออกของการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน คือ ควรจัดสรรปันส่วนให้พอดี และไม่สร้างหนี้ให้ตัวเองต้องเดือดร้อน แต่หากจำเป็นต้องมีหนี้ ก็ควรจัดสรรเพื่อใช้หนี้คืนให้หมดโดยเร็ว และไม่ควรใช้ “ความตาย” เป็นทางออก เพราะ “หนี้” ไม่ได้หมดไปกับชีวิต แต่จะถูกส่งต่อเป็นความเดือดร้อนให้ลูกหลาน

เมื่อพูดถึงมรดก หลายคนอาจนึกถึงแต่การส่งมอบทรัพย์สินเท่านั้น แต่รู้หรือไม่ว่าหนี้ก็เป็นมรดกได้ เพราะมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัว รวมไปถึงความรับผิดชอบในการชำระหนี้ของผู้ตายด้วย

shutterstock 358562702

เมื่อเจ้ามรดกเสียชีวิต ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามกฎหมาย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม และทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย คือ ทายาทโดยธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ได้บัญญัติไว้ว่า ทายาทโดยธรรมมี 6 ลำดับ แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลัง บุตรเป็นผู้สืบสันดาน ถือเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับแรก

ในกรณีที่พ่อเสียชีวิต ลูกจะได้รับมรดกเท่าไรก็ขึ้นกับจำนวนทายาทในลำดับเดียวกัน (จำนวนลูกที่พ่อมี) บิดามารดาของเจ้ามรดก (คุณปู่คุณย่า) และภรรยาของเจ้ามรดก (คุณแม่) ว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เพราะจะมีสิทธิได้รับมรดกในจำนวนเท่า ๆ กัน

เมื่อทายาทได้รับมรดก ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่ามีทรัพย์สินประเภทใดบ้าง และมีหนี้สินอะไร จำนวนเท่าไร หากเจ้ามรดกมีหนี้สินที่สร้างไว้ก่อนเสียชีวิต ทายาทต้องนำเงินมรดกมาชำระหนี้สินให้หมดเสียก่อน จึงจะสามารถทำการแบ่งมรดกได้

shutterstock 2204692107

“เจ้าหนี้” เรียกร้องให้ทายาทชำระหนี้แทนได้หรือไม่

เมื่อลูกหนี้เสียชีวิต (กรณีพ่อเสียชีวิต) เจ้าหนี้สามารถติดตามทวงถามกับทายาทได้ เท่ากับทรัพย์สินที่ทายาทได้รับมรดกมาเท่านั้น หากเจ้ามรดกมีหนี้สินในจำนวนที่มากกว่าทรัพย์มรดก (มีแต่หนี้สิน) ทายาทไม่ต้องรับผิดชอบชำระหนี้สินให้แก่เจ้าหนี้เกินกว่าทรัพย์สินที่ได้รับมรดก

ตัวอย่าง : ทรัพย์มรดกของผู้ตายมีมูลค่า 4 ล้านบาท ผู้ตายมีหนี้สิน 5 ล้านบาท ดังนั้น ทายาทจะต้องรับชดใช้หนี้สินในจำนวนเงินที่ไม่เกิน 4 ล้านบาทเท่านั้น ที่เหลืออีก 1 ล้านบาท ทายาทไม่ต้องรับผิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 บัญญัติว่า “ทายาทไม่จำเป็นต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน”

นอกจากนี้มาตรา 1754 บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก คือ เจ้าหนี้มีสิทธิร้องให้ทายาทของลูกหนี้ชำระหนี้แทน แต่มีกำหนดระยะเวลาภายใน 1 ปี หากเจ้าหนี้ไม่ฟ้องร้องภายในเวลาที่กำหนดจะถือว่าคดีขาดอายุความ

shutterstock 1918830599 1

ตัวอย่าง มรดกหนี้บ้าน : หากในระยะเวลาที่ผ่อนชำระเกิดเหตุไม่คาดฝัน ผู้กู้เสียชีวิตไปก่อน หรือในกรณีนี้ พ่อที่เป็นผู้กู้เสียชีวิต บ้านหรือทรัพย์สินดังกล่าวจะกลายเป็นมรดกตกสู่ทายาท คือ ต้องรับผิดชอบภาระนี้ด้วย โดยสัญญากู้เงินที่ทำกับธนาคารไม่ได้ระงับไปด้วย ดังนั้น เมื่อธนาคารได้รับแจ้งถึงการเสียชีวิต ก็จะเรียกให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดก เข้ามารับสภาพหนี้ภายใน 1 ปี และในส่วนของกรรมสิทธิ์ อาจต้องมีการตกลงกันว่าทายาทมีความพร้อมที่จะผ่อนชำระต่อหรือไม่ หากทายาทไม่มีความสามารถในการชำระหนี้บ้านต่อหรือกู้ไม่ผ่าน (ทายาทต้องได้รับการประเมินสภาพหนี้ใหม่) ธนาคารจะทำการยึดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาด และนำเงินที่ได้จากการขายมาชำระหนี้บ้านที่เหลือต่อไป ซึ่งกรณีนี้มักได้ราคาที่ต่ำกว่ายอดหนี้ จึงอาจทำให้เหลือภาระหนี้บางส่วน

จากข้อกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเมื่อพ่อเสียชีวิตและยังมีหนี้สินติดค้างอยู่ ทายาทผู้ได้รับมรดกต้องรับผิดชอบชำระหนี้สินต่อไป แต่ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ และข้อกฎหมายเรื่องการให้ทายาทใช้หนี้แทนจะใช้ได้เฉพาะหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ไม่สามารถใช้ได้กับหนี้นอกระบบ

shutterstock 2143332347

เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา “หนี้มรดก” ตกสู่ทายาท ผู้กู้หรือผู้ก่อหนี้จึงควรต้องวางแผนสำรองเพื่อเตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์ไม่คาดคิดในระยะยาวด้วย เช่น กรณีหนี้บ้าน ผู้กู้ควรพิจารณาทำประกันสินเชื่อบ้านที่อยู่อาศัย (Mortgage Reducing Term Assurance : MRTA) ซึ่งช่วยคุ้มครองความเสี่ยงให้กับผู้กู้ในช่วงระยะเวลาผ่อนชำระสินเชื่อ และหากเกิดเสียชีวิต บริษัทผู้รับประกันจะรับผิดชอบในการชำระหนี้ที่เหลือแทนทายาท หรือผู้กู้อาจพิจารณาทำประกันชีวิต เพื่อคนข้างหลังจะได้มีเงินก้อนไว้สำหรับปิดหนี้สินต่าง ๆ

โดย กัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

ขอบคุณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK