Personal Finance

มีหนี้ต้องรู้!! จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อผิดนัดชำระหนี้!

คนเป็นหนี้ต้องรู้!! เมื่อมีภาระหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด หนี้สินเชื่อรถ หนี้สินเชื่อบ้าน หากผิดนัดชำระหนี้ จะเกิดอะไรขึ้น!!

สำหรับมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายที่มีภาระหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด หนี้สินเชื่อรถ หนี้สินเชื่อบ้าน จากการกู้ยืมสินเชื่อต่างๆ จากสถาบันการเงินนั้น สิ่งสำคัญที่ควรพึงระวังให้มาก คือ ความการมีวินัยในการชำระหนี้ให้ตรงเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการชำระหนี้ล่าช้า หรือการไม่ชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบหลายอย่างเลยทีเดียว

ผิดนัดชำระหนี้

สิ่งที่ต้องเจอเมื่อผิดนัดชำระหนี้

1. ค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นกว่าเดิม

สิ่งแรกที่เราต้องเจอในกรณีผิดนัดชำระหนี้คือ ค่าใช้จ่ายหรือภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ซึ่งมันเพิ่มมาจาก 2 อย่างด้วยกัน คือ

  • ค่าติดตามทวงถามหนี้ 

สำหรับใครที่เคยชำระหนี้ล่าช้าก็คงจะเคยเจอกับเหตุการณ์ที่ถูกโทรติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ และแน่นอนการโทรแต่ละครั้งย่อมมีค่าใช้จ่าย ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวเรียกว่า ‘ค่าติดตามทวงถามหนี้’ ที่จะถูกคิดและถูกทบไปในรอบบิลถัดไป โดยแต่ละสถาบันการเงินมีการคิดอัตราค่าติดตามทวงถามที่แตกต่างกัน แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นยอดเงินแค่หลักร้อย แต่ถ้าถูกทบไปเรื่อย ๆ มันก็คงจะไม่ใช่จำนวนเงินน้อย ๆ

  • ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ คือ ดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายเพิ่มจากดอกเบี้ยปกติในกรณีที่เราผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งถือว่าเป็นค่าปรับสำหรับการชำระหนี้ก้อนดังกล่าวค่างวดล่าช้าเกินระยะเวลาที่กำหนด โดยดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคิดบนยอดเงินต้นของค่างวดที่เราผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น เช่น ค่างวดแต่ละเดือนจำนวน 8,000 บาท ของงวดนั้นๆ แบ่งเป็นดอกเบี้ย 3,000 บาท และเงินต้น 5,000 บาท ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะถูกคิดบนยอดเงินต้น 5,000 บาท โดยคิดตามจำนวนวันตั้งแต่มีการผิดนัดชำระหนี้ จนถึงวันที่มีการชำระหนี้ก้อนนั้น ซึ่งเท่ากับว่าเราจะต้องจ่ายทั้งเงินต้น ดอกเบี้ยปกติ และดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้นหากเรายังไม่ทำการชำระหนี้สักที ดอกเบี้ยก้อนดังกล่าวก็จะถูกคิดไปเรื่อยๆ ทุกวัน จนอาจกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่ได้ในที่สุด

ผิดนัดชำระหนี้

2. เสียประวัติ

สถานบันการเงินส่วนใหญ่จะมีการรายงานข้อมูลการชำระหนี้ของลูกหนี้คุณไปยังบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ แน่นอนว่าประวัติที่ลูกหนี้คุณจ่ายล่าช้า หรือค้างชำระหนี้ก็จะถูกส่งไปยังบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติเช่นกัน หากถามว่าการมีประวัติแบบนี้จะส่งผลอย่างไร คำตอบคือทุกครั้งที่ลูกหนี้คุณจะไปทำธุรกรรมการเงิน เช่น กู้เงิน กู้ซื้อบ้าน กู้ซื้อรถ รีไฟแนนซ์บ้าน ฯลฯ สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกอยู่ในระบบก็จะมีการเช็คข้อมูลตรงนี้ จากระบบของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ

แน่นอนว่าหากมีประวัติการชำระล่าช้าบ่อย ๆ ก็จะส่งผลต่อการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน และที่น่ากลัวกว่านั้นคือ หากลูกหนี้เรามีการค้างชำระนานกว่า 90 วัน หรือ 3 งวด ก็จะถือว่าเสียเครดิต ส่งผลให้การทำธุรกรรมทางการเงินกลายเป็นเรื่องยากมากยิ่งขึ้น ซึ่งกว่าสถานะบัญชีจะกลับมาเป็นปกติได้ก็ต้องรอถึง 3 ปี

ผิดนัดชำระหนี้

3. ถูกฟ้องร้อง

หากมีการค้างชำระหนี้ในระยะเวลาที่ยาวนาน สถาบันการเงินจะทำการฟ้องร้องคดีแพ่งเพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้คืนทั้งจำนวน ซึ่งผลหนักที่สุดที่จะต้องเจอก็คือการถูกตัดสินให้เป็นบุคคลล้มละลาย แม้ว่ากรณีแบบนี้จะเป็นคดีแพ่งที่ไม่มีโทษจำการติดคุก แต่ความยุ่งยากก็มีมากไม่ใช่น้อย เพราะการฟ้องร้องคดีต่อศาล หากคู่กรณีตกลงกันไม่ได้ก็อาจจะใช้เวลาเป็นปีกว่าศาลจะมีคำพิพากษา และการไปศาลแต่ละครั้งย่อมมีค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย และสิ่งที่คุณจะต้องเจอคือ

กรณีที่ 1 ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง กรณีนี้คือการที่ยังมีทางหาเงินมาชำระหนี้ก้อนนั้นๆ ได้อยู่ แต่ต้องทำการตกลงกับเจ้าหนี้ว่าจะชำระคืนอย่างไรและจำนวนเท่าไหร่

กรณีที่ 2 ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง กรณีนี้เจ้าหนี้จะดำเนินการบังคับคดี ยึดทรัพย์ และอายัดเงินเดือน โดยมีอายุความทั้งสิ้น 10 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพกาษาหรือคำสั่ง ซึ่งในกรณีที่ไม่มีทรัพย์สินให้ยึดทรัพย์ เจ้าหนี้จะสืบต่อไปว่าลูกหนี้ทำงานที่ไหน เพื่ออายัดสิทธิเรียกร้องที่เป็นเงินของลูกหนี้

ผิดนัดชำระหนี้

หลักเกณฑ์การอายัดจะดำเนินการ ดังนี้

  • เงินเดือน ค่าจ้าง สามารถถูกอายัดได้ไม่เกิน 30% ของอัตราเงินเดือนก่อนหักรายจ่าย และต้องมีเงินเหลือไม่น้อยกว่า 20,000 บาท
  • เบี้ยขยัน ค่าล่วงเวลา หรือเบี้ยเลี้ยงชีพ อายัดได้ไม่เกิน 30% ของเงินที่ได้รับ
  • เงินโบนัส สามารถอายัดได้ไม่เกิน 50% ของเงินที่ได้รับ
  • เงินตอบแทนการออกจากงาน สามารถอายัดได้ตามที่ขอ แต่ต้องเหลือให้ไม่น้อยกว่าไว้ได้ไม่เกิน 300,000 บาท หรือตามดุลพินิจของเจ้าพนักงานหน้าที่บังคับคดี
  • เงินฝากในบัญชี อายัดได้ตามที่ขอแต่ไม่เกินจำนวนหนี้ตามหมายบังคับคดี
  • เงินปันผลจากการลงทุน สามารถให้อายัดได้ตามที่ขอ โดยหากเจ้าหนี้ไม่ได้ระบุให้อายัดเฉพาะปีใดปีหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเป็นประจำทุกปีจนกว่าจะครบพ้นหนี้
  • เงินค่าหุ้น เงินลงหุ้นของสหกรณ์ออมทรัพย์สินที่เป็นการลงทุน สามารถใหอายัดได้ตามที่ขอ โดยระบุให้บุคคลภายนอกเป็นผู้รับคำสั่งอายัดและส่งเงินให้เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาสิ้นสมาชิกภาพ

ทุกคนคงจะเห็นกันแล้วว่าการผิดนัดชำระหนี้ส่งผลกระทบอะไรบ้าง ซึ่งกว่าจะฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติได้ก็ต้องใช้เวลาหลายปีเลยทีเดียว ดังนั้น ควรวางแผนการเงินในแต่ละเดือนให้ดี หากเริ่มมีปัญหาควรรีบหาทางแก้ก่อนที่ปัญหาจะบานปลาย และส่งผลกระทบในที่สุด

ที่มาข้อมูลจาก KKP Advice Center

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo