Personal Finance

พร้อมรับวัยเกษียณ ทำความรู้จัก ‘Reverse Mortgage’ สินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ

วัยเกษียณควรรู้ “Reverse Mortgage” สินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ด้วยวิธีแปลงสินทรัพย์เป็นทุน รวมไว้แล้วที่นี่

Reverse mortgage หรือสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุในลักษณะ การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภทหนึ่งที่มีขึ้น เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้สูงอายุโดยเฉพาะ สำหรับผู้สูงอายุที่มีบ้านเป็นของตนเองแต่ไม่ต้องการขายบ้านทันที เพราะยังต้องใช้อยู่อาศัย และต้องการมีรายได้รายเดือน เพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

สินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ

ดังนั้น จึงถือเป็นทางเลือกให้ผู้สูงอายุ สามารถนำบ้านมาสร้างกระแสเงินสดไว้ใช้ในวัยหลังเกษียณได้ และเป็นทางออกหนึ่งสำหรับสังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ดีดี พร็อพเพอร์ตี้ ได้ให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสินเชื่อ Reverse mortgage รวมถึงหลักการทำงานไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

Reverse mortgage คืออะไร

ตามปกติแล้วหากเราต้องการซื้อบ้านสักหลัง ปกติคนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้การกู้เงินจากธนาคารมาซื้อหาที่อยู่อาศัย หรือนำทรัพย์สินที่มีอยู่มาค้ำประกัน แล้วก็นำเงินมาผ่อนคืนธนาคารทุกเดือน พร้อมกับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกำหนด ซึ่งวิธีนี้เป็นการจำนองแบบปกติทั่วไปที่ทำกัน

บ้านผู้สูงอายุ

แต่ในทางกลับกัน มีการจำนองอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า Reverse mortgage ซึ่งแปลได้ว่าเป็น การจำนองแบบย้อนกลับ อธิบายง่าย ๆ คือ เมื่อเรานำบ้านไปจำนองไว้กับธนาคารแล้ว แทนที่เราจะเป็นผู้จ่ายเงินให้ธนาคารทุกเดือน กลับกลายเป็นว่าทางธนาคาร จะเป็นผู้จ่ายเงินให้เราทุกเดือน เสมือนธนาคารเป็นผู้มาซื้อบ้านของเราแทน

ขณะที่เจ้าของบ้าน จะได้กระแสเงินสดเพื่อนำมาใช้จ่ายแต่ละงวด ตามที่ทำสัญญากับธนาคาร จนเมื่อครบกำหนดชำระสุดท้าย บ้านหลังนั้นก็จะตกเป็นของธนาคาร ซึ่งต่างกับการจำนองทั่วไป ที่สุดท้ายแล้วบ้านจะมาเป็นของเรา

ดังนั้น จึงนับเป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภทหนึ่ง ที่มีขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้สูงอายุโดยเฉพาะ สำหรับผู้สูงอายุที่มีบ้านเป็นของตนเอง แต่ไม่ต้องการขายบ้านทันที เพราะยังต้องใช้อยู่อาศัย และต้องการมีรายได้รายเดือนเพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

shutterstock 618458198

หลักการทำงานของสินเชื่อ

หลักการทำงานของสินเชื่อประเภทนี้ ก็เหมือนกับการทยอยขายบ้านให้กับธนาคาร ซึ่งธนาคารจะตีมูลค่าบ้านพร้อมกับประเมินอายุเฉลี่ยของผู้กู้ แล้วจะทยอยจ่ายเงินค่าบ้านให้เป็นรายเดือน โดยผู้กู้ก็ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านหลังนั้น และยังสามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้ จนกระทั่งผู้กู้นั้นเสียชีวิต หรือตัดสินใจขายบ้านไปก่อน

หลังครบกำหนดตามสัญญา บ้านก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร โดยธนาคารสามารถนำบ้านไปขายทอดตลาดต่อไป

ทั้งนี้ ผู้กู้หรือทายาท สามารถปิดบัญชี หรือไถ่ถอนจำนองคืนได้ โดยชำระเงินต้นรวมกับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม หรือหากผู้กู้หรือผู้รับผลประโยชน์ (กรณีที่ผู้กู้เสียชีวิตแล้ว) ไม่ประสงค์ขอชำระหนี้ปิดบัญชีไถ่ถอนจำนอง ธนาคารจะนำหลักประกันขายทอดตลาด

หากมีเงินส่วนต่างสูงกว่ายอดไถ่ถอน ธนาคารจะคืนให้ ผู้กู้หรือผู้รับผลประโยชน์ หากขายทอดตลาดต่ำกว่ายอดชำระหนี้เพื่อขอไถ่ถอนจำนอง ธนาคารจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าส่วนต่างและค่าใช้จ่ายจากการดำเนินการต่าง ๆ เอง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo