Finance

‘กสิกรไทย’ คว้าดีล 1.27 หมื่นล้าน ขายประกัน ‘เมืองไทยประกันชีวิต’ 10 ปี

“กสิกรไทย” เซ็นขายประกัน ให้ “เมืองไทยประกันชีวิต”  10 ปี รับค่าตอบแทน 12,700 ล้านบาท หวังร่วมพัฒนาบริการ และช่องทางขาย ก้าวเป็นผู้นำในตลาดประกันชีวิต

กสิกรไทย จับมือ เมืองไทยประกันชีวิต เซ็นเป็นพันธมิตรใกล้ชิดขายประกันผ่านแบงก์ และบริษัทย่อย 5 บริษัท เป็นเวลา 10 ปี รับค่าตอบแทน 12,700 ล้านบาท พร้อมร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่องทางการขายใหม่ ๆ เพื่อก้าวเป็นผู้เล่นสำคัญ ในตลาดประกันชีวิตในไทย

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยได้พิจารณาข้อเสนอ และเข้าทำสัญญาจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต (Bancassurance Agreement) ให้กับบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคาร และบริษัทย่อยของธนาคาร 5 บริษัท รวมถึง บริษัทย่อยอื่น ๆ ที่ธนาคารอาจจัดตั้งขึ้นในอนาคต จากการปรับโครงสร้างธุรกิจหลักของธนาคารแต่เพียงผู้เดียว

กสิกรไทย

5 บริษัทย่อย กสิกรไทย ที่เข้าร่วมในข้อตกลง

  • บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด
  • บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด
  • บริษัท หลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด
  • บริษัท แฟคเตอรี แอนด์ อีควิปเมนท์ กสิกรไทย จำกัด
  • บริษัท โพรเกรส มัลติ อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ จำกัด

การขายประกันชีวิตดังกล่าว จะผ่านทางช่องทางการจำหน่ายของธนาคาร และบริษัทย่อยทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต อาทิ สาขา พนักงานสาขา เอทีเอ็ม พนักงานประจำ และชั่วคราว และบุคคลอื่น เช่น ตัวแทน รวมถึง ช่องทางดิจิทัล การตลาดทางตรง (Direct Marketing) และการตลาดผ่านทางโทรศัพท์ (Telemarketing)

สัญญาจะมีระยะเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 และจะมีผลบังคับใช้ เมื่อได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคาร พร้อมให้ยกเลิก และแทนที่สัญญาจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ผ่านธนาคารฉบับเดิม ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2552

ธนาคารจะได้รับค่าตอบแทนจากการให้สิทธิจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแก่ลูกค้า ผ่านช่องทางธนาคาร และบริษัทย่อย แก่เมืองไทยประกันชีวิตเป็นมูลค่า 12,700 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังจะได้รับค่าตอบแทนตามผลการดำเนินการขาย และค่านายหน้าในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตอีกด้วย โดยสัญญาอาจสิ้นสุดลงก่อน 10 ปีได้ หากผลการดำเนินธุรกิจ ถึงเกณฑ์ที่กำหนด และสามารถต่ออายุได้ไม่เกิน 2 ปี ในกรณีที่ผลการดำเนินธุรกิจ ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด

นางสาวขัตติยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำสัญญาในครั้งนี้ เนื่องจากธนาคารมั่นใจว่า เมืองไทยประกันชีวิต เป็นบริษัทประกันชีวิตชั้นนำของประเทศ มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง เชี่ยวชาญในตลาดประกันชีวิต และผลิตภัณฑ์ได้รับการยอมรับจากลูกค้าทุกกลุ่มของธนาคาร เห็นได้จากเมืองไทยประกันชีวิต สามารถครองส่วนแบ่งการตลาด เป็นอันดับ1 และอันดับ 2 จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตผ่านช่องทางการจำหน่ายผ่านธนาคารในช่วงปี 2561-2563

กสิกรไทย

ดังนั้น การเป็นพันธมิตรระยะยาวอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้การพัฒนาบริการ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ต้องลงทุนร่วมกันระยะยาว เช่น การลงทุนด้านไอทีเพิ่มมากขึ้น จะนำไปสู่การให้บริการผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่สะดวกขึ้น สำหรับลูกค้า และได้รับผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการมากขึ้น ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะขยายฐานลูกค้าไปยังลูกค้าของธนาคารตามช่องทางต่าง ๆ ที่ปัจจุบันยังเข้าไม่ถึงได้ในอนาคต

ปัจจุบัน ธนาคารกสิกรไทย มีสัดส่วนการถือหุ้นนับรวมแบบสัดส่วนผลประโยชน์สุทธิ (Effective Shareholding) ในเมืองไทยประกันชีวิต คิดเป็น 38.25% ของจำนวนหุ้นที่ออก และชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท

ในปี 2563 ธนาคารมีรายได้ จากการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต และส่วนแบ่งในกำไรของเมืองไทยประกันชีวิต ทั้งหมด รวมประมาณ 9,000 ล้านบาท

ทางด้านนายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า เมืองไทยประกันชีวิตยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้สานต่อความร่วมมือ อันแน่นแฟ้นยาวนาน กับธนาคารกสิกรไทย

บริษัทตั้งใจที่จะต่อยอดความสำเร็จ ที่เกิดขึ้นกับธนาคารกสิกรไทยให้ดียิ่งขึ้นไปอีก โดยความร่วมมือระยะยาวครั้งนี้ เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ร่วมกัน ของทั้ง 2 องค์กรในการวางเป้าหมาย และพร้อมเป็นผู้นำ ที่จะส่งมอบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตรวมถึงความคุ้มครองสุขภาพอย่างเป็นเลิศ

นอกจากนี้ ยังเล็งเห็นถึงโอกาสในการร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการบริการในรูปแบบใหม่ รวมไปถึงการพัฒนาความรู้ และทักษะใหม่ของบุคลากรให้พร้อมรองรับกับโลกยุคดิจิทัล ตลอดจนเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึง และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในทุกกลุ่มของธนาคาร

ธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารที่มีความมั่นคงแข็งแกร่งเสมอมา และตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยบริการด้านการเงินที่ครบวงจร สำหรับความร่วมมือทางธุรกิจในครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ โดยบริษัทสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ เสริมการให้บริการทางการเงินของธนาคารได้อย่างครบถ้วนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าของธนาคาร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo