Finance

อัปเดต ‘ลงทะเบียนแก้หนี้’ 62 วัน 1.37 แสนราย มูลหนี้ 9.3 พันล้านบาท ไกล่เกลี่ยสำเร็จทะลุหมื่นรายแล้ว

อัปเดต “ลงทะเบียนแก้หนี้” 62 วัน 1.37 แสนราย มูลหนี้ 9.3 พันล้านบาท ไกล่เกลี่ยสำเร็จทะลุ 1 หมื่นรายแล้ว ย้ำดำเนินคดีเจ้าหนี้้ เพราะไม่ยอมเจรจาเก็บดอกเบี้ยตามกฎหมายกำหนด

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ 62 วัน นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา โดยจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 31 มกราคม 2567

มีมูลหนี้รวม 9,361.348 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 137,019 ราย เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 115,761 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 21,258 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 105,050 ราย

ลงทะเบียนแก้หนี้

5 จังหวัดลงทะเบียนมากที่สุดน้อยที่สุด

มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก

  1. กรุงเทพมหานคร ยังคงมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 11,086 ราย เจ้าหนี้ 7,624 ราย มูลหนี้ 828.208 ล้านบาท
  2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 5,605 ราย เจ้าหนี้ 5,111 ราย มูลหนี้ 379.240 ล้านบาท
  3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 5,085 ราย เจ้าหนี้ 3,992 ราย มูลหนี้ 333.125 ล้านบาท
  4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 4,804 ราย เจ้าหนี้ 3,605 ราย มูลหนี้ 392.300 ล้านบาท
  5. จังหวัดขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 3,589 ราย เจ้าหนี้ 2,972 ราย มูลหนี้ 310.134 ล้านบาท

ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่

  1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 221 ราย เจ้าหนี้ 231 ราย มูลหนี้ 14.023 ล้านบาท
  2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 307 ราย เจ้าหนี้ 221 ราย มูลหนี้ 20.818 ล้านบาท
  3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 363 ราย เจ้าหนี้ 281 ราย มูลหนี้ 13.126 ล้านบาท
  4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 440 ราย เจ้าหนี้ 329 ราย มูลหนี้ 20.074 ล้านบาท
  5. จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 467 ราย เจ้าหนี้ 344 ราย มูลหนี้ 23.725 ล้านบาท
ลงทะเบียนแก้หนี้
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ

ไกล่เกลี่ยสำเร็จกว่าหมื่นราย มูลหนี้ลดลง 618 ล้านบาท

สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศพบว่า มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 17,012 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 10,036 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 1,647.801 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 1,029.436 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 618.365 ล้านบาท

และจังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดนครสวรรค์เช่นเดิม โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 3,116 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 267 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 249.446 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 23.294 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง 226.152 ล้านบาท

สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการส่งสำนวนแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ มีการดำเนินคดีไปแล้ว 198 คดี ใน 31 จังหวัด

ลงทะเบียนแก้หนี้

จัดการเจ้าหนี้ข่มขู่ลูกหนี้

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้เชิญชวนให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากหนี้นอกระบบมามาลงทะเบียนทั้งทางระบบออนไลน์และออนไซต์ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ และสำนักงานเขตกรุงเทพมหานครทุกแห่ง ปัจจุบันมียอดผู้มาลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากมองถึงการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถือว่ามีผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะเราสามารถจูงใจให้พี่น้องประชาชนมาร่วมลงทะเบียนได้มากกว่าแสนราย

สำหรับการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยถือว่ายังไม่สิ้นสุด แม้ว่าขณะนี้ยังมีจำนวนผู้เข้าสู่กระบวนการยังน้อย เพราะต้องใช้เวลาในการนำทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้มาคุยกัน โดยหลังจากที่ประชาชนมาลงทะเบียนแล้ว ทางกระทรวงมหาดไทยจะมีการดำเนินการภายใน 15 วัน โดยเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้มาไกล่เกลี่ยพูดคุยกัน เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีหลายกรณีที่ทางจังหวัดและอำเภอพบเจอ คือ ความไม่ชัดเจนของข้อมูลส่วนตัวของเจ้าหนี้นอกระบบ เช่น ชื่อสกุล ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ เป็นต้น ซึ่งบางรายเป็นชื่อเล่นหรือนามแฝง

ดังนั้น เมื่อข้อมูลไม่ครบจึงต้องส่งข้อมูลไปตรวจสอบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้มีการประชุมหารือร่วมกับผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงการคลัง และผู้แทนหน่วยงาน ซึ่งในการประชุมเราได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาปรึกษาหารือและมีแนวทางว่าให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอสืบสวนสอบสวนข้อมูลจากลูกหนี้เองอีกทางหนึ่งด้วย โดยพบว่าเจ้าหนี้นอกระบบได้จ้างวานกลุ่มแก๊งหมวกกันน็อคเป็นคนมาปล่อยเงินกู้ ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนในท้องที่ ประกอบลูกนี้เองก็ไม่เคยไปพบเจอกับเจ้าหนี้ตัวจริง จึงเชื่อได้ว่าเป็นการปล่อยเงินกู้นอกระบบแบบมืออาชีพ

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงมหาดไทยได้ส่งข้อมูลไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ไม่มีข้อมูลแน่ชัด แต่น่าจะมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง เพราะต้องติดต่อกับลูกหนี้นอกระบบเป็นประจำ เพื่อมาเก็บทวงหนี้กับลูกหนี้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ขยายผลจากลูกน้องไปยังเครือข่ายเจ้าหนี้ต่อไป

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งรายชื่อลูกหนี้นอกระบบที่มีพฤติกรรมข่มขู่ลูกหนี้ เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยโดยผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ดำเนินการต่อไป ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังได้ประสานเสนอเรื่องการปล่อยกู้ในระบบจากธนาคารออมสิน และ ธกส. เพื่อที่จะให้ลูกหนี้นอกระบบที่ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยแล้วได้มีแหล่งเงินไปใช้หนี้เจ้าหนี้นอกระบบ โดยกระทรวงมหาดไทยได้ร้องขอให้พิจารณายกเว้นหลักเกณฑ์การพิจารณาบางประการ เพื่อนำเข้าสู่หนี้ในระบบ อาทิ การปล่อยสินเชื้อกู้ยืมจากธนาคารออมสิน เป็นต้น

ลงทะเบียนแก้หนี้

แจงดำเนินคดีเจ้าหนี้ เพราะไม่ยอมเจรจาเก็บดอกเบี้ยตามกฎหมายกำหนด

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของการดำเนินคดีกว่า 198 คดี ใน 31 จังหวัด หมายถึง เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้วไม่ยอมดำเนินการตามอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนด หรือไม่ยินยอมตกลงกัน ก็จะต้องดำเนินคดี รวมถึงผู้ที่ขู่กรรโชกและไปทำร้ายหรือทำลายทรัพย์สินของลูกหนี้ด้วย

สิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมประการแรก คือ เจ้าหนี้นอกระบบทุกรายถือว่าทำผิดกฎหมายทุกคน เพราะไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบอาชีพการปล่อยกู้ อีกประการหนึ่ง คือ เก็บดอกเบี้ยแพงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด แต่สังคมต้องอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เราจึงเชิญมาพูดคุยหารือกัน ถ้าไกล่เกลี่ยตกลงคุยกันได้ก็ให้ดำเนินการตามขั้นตอน หากตกลงกันไม่ได้ก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย

กระทรวงมหาดไทยยังคงเปิดรับลงทะเบียนพี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งทางระบบออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือลงทะเบียนได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo