Finance

ธ.ก.ส. ‘ตรึงดอกเบี้ยเงินกู้’ ลูกค้ารายย่อย พร้อม ‘ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก’ สูงสุด 0.40% มีผล 15 ส.ค.

ธ.ก.ส. “ตรึงดอกเบี้ยเงินกู้” ลูกค้ารายย่อย พร้อม “ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก” สูงสุด 0.40% มีผล 15 ส.ค.

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.00% ต่อปี มาอยู่ที่ 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2566

ธ.ก.ส.

ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย

และเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของตลาด ธ.ก.ส. จึงได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.10 – 0.40% ต่อปี เพื่อส่งเสริมการออมและเพิ่มผลตอบแทน ให้สอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ประกอบด้วย

ลูกค้าทั่วไป

  • บัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้น 0.40 ต่อปี%
  • บัญชีเงินฝากประจำ 24 เดือน 36 เดือน 48 เดือน และ 60 เดือน ปรับขึ้น 0.30% ต่อปี
  • เงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน ปรับขึ้น 0.15% ต่อปี

ลูกค้านิติบุคคล ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ

  • บัญชีเงินฝากประจำ 24 เดือน 36 เดือน 48 เดือน และ 60 เดือน อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นร้อยละ 0.15 ต่อปี
  • บัญชีเงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน ปรับขึ้น 0.10% ต่อปี

ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ไว้ที่ 6.975% ต่อปี ต่อไป เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรลูกค้า และสนับสนุนการฟื้นตัวจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและโรคระบาดที่เกิดขึ้น

ธ.ก.ส.

ขึ้นดอกเบี้ยเฉพาะลูกค้านายใหญ่เบิกเกินบัญชี

โดยได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

  • อัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบันและนิติบุคคลชั้นดี (MLR) 0.250% ต่อปี จาก 5.625% เป็น 5.875% ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) 0.250% ต่อปี จาก 6.875% เป็น 7.125% ต่อปี

โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป

ธ.ก.ส.

สร้างความเข้มแข็งให้ลูกค้า

อย่างไรก็ตาม แม้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย บางประเภทตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาด แต่ธนาคารฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวและสร้างความเข้มแข็งให้กับลูกค้าในภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน

โดยการสนับสนุนเงินทุนผ่านสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและการลงทุน เช่น สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ย 0.01% สินเชื่อ SME เสริมแกร่ง และสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ อัตราดอกเบี้ย 4% เป็นต้น

พร้อมดูแลภาระหนี้สินเกษตรกรลูกค้า ทั้งหนี้ในและนอกระบบผ่านโครงการมีหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. ควบคู่กับการให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถยืนได้อย่างมั่นคงและสามารถก้าวข้ามกับดักหนี้ได้อย่างยั่งยืน

อ่านข่่าวเพิ่มเติม

Avatar photo