Stock - Finance

รู้จักหุ้น ‘ ANAN’ เจ้าของคอนโดร้อน ‘แอชตัน อโศก’

กลายเป็นประเด็นร้อนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2560 และเปิดขายห้องไปแล้วถึง 84% ซึ่งเป็นคอนโดมิเนียม High Rise สูง 50 ชั้น 1 อาคาร หนึ่งในโครงการร่วมทุนระหว่างมิตซุย ฟูโดซัง บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น กับ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้น ANAN ที่เราจะพาไปทำความรู้จักในวันนี้นั่นเอง

รู้จักหุ้น e1627831165585

หุ้น ANAN ทำธุรกิจอะไร มีความเป็นมาอย่างไร?

ANAN เป็นบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โครงการคอนโดนมิเนียม บ้านจัดสรร และทาวน์เฮ้าส์ นอกจากนี้ ยังประกอบธุรกิจภายใต้บริษัทย่อยอื่นๆ ได้แก่ ตัวแทนการซื้อขายห้องชุด, บริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้กับนิติบุคคลบ้านจัดสรร และนิติบุคคลอาคารชุด  

สำหรับโครงการเด่นๆ ของ ANAN ก็อย่างเช่น ASHTON, IDEO, ELIO และ UNiO เป็นต้น โดยจะเน้นพัฒนาโครงการตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ที สำหรับตอบโจทย์ลูกค้าคนเมือง 

จุดเริ่มต้นของ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ก่อตั้งโดยคุณชานนท์ เรืองกฤตยา และเปิดตัวโครงการแรกในปี 2550 นั่นคือ ไอดีโอ ลาดพร้าว 17 ก่อนที่จะสามารถระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2555 จำนวน 5,600 ล้านบาท ซึ่งใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า ANAN ที่ราคา IPO เท่ากับ 4.20 บาทต่อหุ้น

ผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรกหุ้น ANAN

  1. นาย ชานนท์ เรืองกฤตยา สัดส่วน 31.48%
  2. นาย พิพัฒ พะเนียงเวทย์ สัดส่วน 8.20%
  3. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 5.87%
  4. น.ส. พัชราวลัย เรืองกฤตยา สัดส่วน 4.97%
  5. น.ส. มลลิกา เรืองกฤตยา สัดส่วน 4.08%

ผลประกอบการ 5 yrs edit2 e1627830906692

ย้อนมองประวัติหุ้น ANAN ตั้งแต่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือว่าเป็นหุ้นที่ภาพลักษณ์ดี ไม่ค่อยมีข่าวลือเพื่อหวังเก็งกำไร ส่วนผลประกอบการก็มีกำไรต่อเนื่อง สามารถจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ทำให้ราคาหุ้นขยับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปี 2560 ทำราคานิวไฮที่ระดับ 6.40 บาท กระทั่งต้นปี 2561 หุ้น ANAN ถึงเจอบททดสอบครั้งใหญ่กับประเด็นของโครงการแอชตัน อโศก ที่กำลังกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งในตอนนี้

แอชตัน อโศก ปัญหาที่แก้ไม่จบของหุ้น ANAN

ความจริงแล้วปัญหาของโครงการแอชตัน อโศก ยืดเยื้อมานานแล้วตั้งแต่ก่อสร้างเสร็จ เพราะตอนนั้นในปี 2561 บริษัทไม่สามารถโอนห้องให้ลูกค้าที่จองซื้อได้ตามกำหนด เพราะติดขั้นตอนการยื่นขอใบรับรองการก่อสร้างอาคาร (แบบ อ.6) เนื่องจากปัญหาทางเข้าออกที่ด้านหนึ่งด้านใดต้องยาว 12 เมตรขึ้นไป และส่วนที่ติดถนนสาธารณะต้องกว้าง 18 เมตรขึ้นไป

บริษัทจึงไปเจรจากับ รฟม. ซึ่งมีที่ดินติดทางเข้าออกโครงการ ให้ช่วยขยายทางกว้างเป็น 13 เมตร แลกกับค่าตอบแทน 97 ล้านบาท และทาง รฟม. ยินยอม หลังจากนั้นบริษัทจึงขอใบรับรองการก่อสร้างจากกรุงเทพมหานครได้สำเร็จ และเริ่มมีการโอนห้องในช่วงเดือนมิถุนายน 2564

แต่ด้วยความล่าช้าของการขอใบอนุญาต และแอชตัน อโศก เป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงส่งผลกระทบต่อรายได้และกำไรของบริษัทในปี 2561 แถมยังเป็นจุดชนวนให้นักลงทุนเทขายหุ้น ANAN จนกลายเป็นขาลงอย่างเนื่องนับตั้งแต่ตอนนั้น โดยราคาหุ้นนิวโลว์ในรอบ 5 ปี เลยทีเดียว

แอชตัน อโศก

กระทั่งล่าสุดแอชตัน อโศก ก็กลับมาหลอกหลอน ANAN อีกครั้ง เมื่อศาลฯ เห็นว่า ทางเข้าออกของโครงการนั้น เป็นที่ดินของ รฟม. ที่ยินยอมให้ใช้โดยมีเงื่อนไข ไม่ได้ให้ใช้ถาวร! และไม่ใช่ถนนสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนด จึงเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโดยให้มีผลย้อนหลัง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม 2564 นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ANAN แถลงผ่าน  Facebook Page Ananda Development ว่าพร้อมที่จะยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด และมั่นใจว่าต้องชนะ ยืนยันว่าบริษัททำตามกฎหมายทุกประการ

สุดท้ายนี้นักลงทุนที่กำลังจับตามองหุ้น ANAN อาจจะต้องระมัดระวังให้ดี ไม่ว่าจะประเด็นของแอชตัน อโศกที่ยังคงคลุมเคลือ รวมถึงปัจจัยลบอื่นๆ ของวงการอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวอย่างหนักในช่วงนี้ ขณะเดียวกันบทวิเคราะห์หลายแห่งก็คาดว่าจะต้องใช้เวลานานกว่าหุ้นจะกลับสู่จุดเดิม แม้ปัจจุบันราคาหุ้นจะต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน จาก P/BV ที่ 0.37 เท่า แต่กำไรยังมีความเสี่ยงเป็นขาลงอยู่เช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน