แกะงบ “BTS” ทำไมขาดทุนหนักถึง 4.76 พันล้าน พร้อมเปิดมุมมองนักวิเคราะห์ต่อหุ้น BTS
การรายงานผลประกอบการของ BTS หรือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) งวดไตรมาส 3 ปี 2566/2567 (ตุลาคม – ธันวาคม 2566) สร้างความฉงนให้นักลงทุนพอสมควร เนื่องจากมีผลขาดทุนสิทธิ 4,760 ล้านบาท พลิกจากช่วงปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 1,040 ล้านบาท
แม้ว่าภาพรวมรายได้อยู่ที่ 6,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้ 6,620 ล้านบาท ซึ่งรายได้ที่ขยายตัวมีสาเหตุหลัก มาจากรายได้จากการให้บริการรับเหมาที่เพิ่มขึ้น 217 ล้านบาท เพราะการเร่งงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูให้แล้วเสร็จ รวมทั้งมีรายได้จากการบริการและการขายที่เพิ่มขึ้น 197 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
BTS รายได้โต แต่ทำไมขาดทุน
เมื่อเจาะลงไปในรายละเอียดจะพบว่า ผลขาดทุนส่วนใหญ่ของ BTS ในไตรมาสนี้ มาจากบันทึกรายการพิเศษ ที่เกิดขึ้นจากการด้อยค่าของเงินลงทุนในหลายรายการ ซึ่งเป็นเพราะราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลง ได้แก่
ผลขาดทุน จากการถือหุ้น KEX หรือ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ผลขาดทุน จากการถือหุ้น SINGER หรือ บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน)
ผลขาดทุน จากการถือหุ้น JMART หรือ บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
ผลขาดทุน จากการถือหุ้น VGI หรือ บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ หากไม่นับรวมผลขาดทุนจากรายการดังกล่าว BTS จะรายงานกำไรสุทธิหลังปรับปรุงแล้ว จำนวน 144 ล้านบาท และคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 2.1%
กทม. เตรียมจ่ายหนี้ให้ BTS ก้อนแรก 2.3 หมื่นล้าน
อย่างไรก็ดี BTS ก็ยังพอมีประเด็นบวกอยู่บ้าง นั่นคือประเด็นปัญหาหนี้สินกับทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) หลังจากที่สภากรุงเทพมหานครได้มีมติอนุมัติงบประมาณสำหรับการชำระหนี้ค่างานติดดั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยายที่ 2) จำนวน 23,400 ล้านบาท ซึ่งคาดว่า BTS จะได้รับการชำระในเดือนมีนาคม – เมษายน
ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องของบริษัทให้ดีขึ้น โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 9,200 ล้านบาท เงินลงทุนที่มีสภาพคล่อง 11,200 ล้านบาท นอกจากนี้ ผู้บริหาร BTS ยังคาดว่า กทม. จะชำระหนี้ค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ีกประมาณ 30,000 ล้านบาท ภายในปี 2567-2568
มุมมองนักวิเคราะห์ต่อหุ้น BTS
จะเห็นว่าแม้ราคาหุ้น BTS จะปรับตัวลดลงมาแล้ว 22.8% Year to Date แต่คำแนะนำการลงทุนส่วนใหญ่ยังมีความเป็นกลาง “NEUTRAL” โดยสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA Consensus) ให้ราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 7.70 บาทต่อหุ้น นักวิเคราะห์ 9 ราย แนะนำ “ถือ” ถึง 5 ราย
โดย บล. อินโนเวสท์ เอกซ์ คงคําแนะนํา NEUTRAL พร้อมปรับราคาเป้าหมายลดลงสู่ 9.6 บาท (จาก 11.2 บาท) เพื่อสะท้อนการปรับประมาณการผลประกอบการที่ลดลง และมูลค่าเงินลงทุนใน VGI และ RABBIT ที่ลดลง
จุดสำคัญคือมองว่าราคาหุ้น BTS ยังขาดปัจจัยกระตุ้น เนื่องจากกําไรปกติยังไม่ถึงจุดตํ่าสุด เพราะว่าในไตรมาส 4 ปี 2566/2567 คาดว่าต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู จะสร้างแรงกดดันต่อการดําเนินงานปกติ หลังได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนมกราคม
ด้าน บล. บัวหลวง วิเคราะห์ว่านักลงทุนน่าจะเห็น BTS ขาดทุนมากกว่าเดิม ด้วยแนวโน้มไตรมาส 4 ที่มีแนวโน้มลดลงต่อไปได้อีก นอกจากนี้ แนวโน้มกำไรของบริษัทดูไม่น่าตื่นเต้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า จึงไม่เห็นปัจจัยหนุนราคาหุ้นในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม การขยายระบบขนส่งมวลชนทั่วกรุงเทพฯ ในอีกหลายปีข้างหน้าจะเสริมสร้างโอกาสในการเติบโตในระยะยาวให้กับ BTS จึงยังคงคำแนะนา “ถือ” สำหรับคนที่มีหุ้นอยู่
ขณะที่ บล.ทิสโก้ ดูเหมือนว่าจะมองต่างออกไป โดยเชื่อว่า BTS จะฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสถัดไป จากธุรกิจ MOVE ที่ยังคงเป็นหลักที่มีรายได้สม่ำเสมอจากรับจ้างเดินรถ และคาดส่วนแบ่งกำไรจาก BTSGIF จะเพิ่มขึ้นต่อตามจำนวนผู้โดยสาร รวมทั้งความคืบหน้าคดีความ ประกอบกับธุรกิจ MIX คาดจะฟื้นตัวในธุรกิจสื่อนอกบ้าน รวมถึงไม่มีส่วนแบ่งขาดทุนจาก KEX อีก หาก BTS รับคำเสนอซื้อ Tender offer
อีกทั้งคาดว่า BTS ตั้งด้อยค่าเงินลงทุนไปเกือบหมดแล้ว จึงไม่น่าจะมีการตั้งด้อยค่าจำนวนมากๆ อีก แต่เนื่องด้วยภาพรวมผลประกอบการที่ประกาศออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้ตอนนี้อยู่ระหว่างทบทวนประมาณการกำไร มูลค่าที่เหมาะสม และคำแนะนำสำหรับ BTS
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- วันนี้ไม่ฟรีแล้ว! ‘รถไฟฟ้าสายสีชมพู’ ขึ้น-ลงสถานีไหน เสียเงินกี่บาท เช็กที่นี่ก่อนใช้บริการ
- ด่วน! รางรถไฟฟ้าสายสีชมพูหล่น ทับรถพังยับ 3 คัน ปิดการจราจรถึงเที่ยงวันนี้
- ปังมาก! ‘รถไฟฟ้าสายสีชมพู’ วันครบรอบ 1 เดือน ทำนิวไฮ ผู้โดยสารเฉียดแสนคน