Stock - Finance

‘CPF’ ลุ้นพลิกกําไรเร็วกว่าคาด – หลังจัดทัพธุรกิจขายบริษัทไก่ในจีน 2,152 ล้านบาท

“CPF” ลุ้นพลิกกําไรเร็วกว่าคาด หลังจัดทัพธุรกิจขายบริษัทไก่แบบครบวงจรในประเทศจีน  2,152 ล้านบาท

ล่าสุด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติให้ CP Food Investment Limited (CP Food) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ CPF ขายเงินลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจไก่แบบครบวงจรในประเทศจีน จํานวน 4 บริษัท มูลค่ารวม 2,152 ล้านบาท ให้กับบริษัทย่อยของบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CPG) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ CPF

บริษัทย่อยทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย

1. C.P. Food (Hengshui) Co., Ltd. ดําเนินธุรกิจในมณฑล Hebei โดยโรงชําแหละไก่มีกําลังการผลิต 50 ล้านตัวต่อปี

2. C.P. Food (Nantong) Co., Ltd. ดําเนินธุรกิจในมณฑล Jiangsu โดยโรงชําแหละไก่มีกําลังการผลิต 15 ล้านตัวต่อปี

3. C.P. Food (Kaifeng) Co., Ltd. ดําเนินธุรกิจในมณฑล Henan โดยโรงชําแหละไก่มีกำลังการผลิต 30 ล้านตัวต่อปี

4. C.P. Food (Zhanjiang) Co., Ltd. ดําเนินธุรกิจในมณฑล Guangdong โดยโรงชําแหละไก่มีกำลังการผลิต 30 ล้านตัวต่อปี

พลิกกําไร

ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีเป้าหมายที่จะจัดทัพธุรกิจใหม่ โดยรวมเอา 4 บริษัทดังกล่าวคืนให้กลุ่มใหญ่ เพื่อให้ Chia Tai CP มุ่งสู่การดําเนินธุรกิจไก่แบบครบวงจร ประกอบไปด้วยการเพาะฟักไข่ การจัดจําหน่ายอาหารสัตว์ การค้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ และอาหาร ซึ่งคาดว่าจะเข้าทำรายการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปี 2566

ขณะเดียวกัน ก็จะส่งผลบวกให้ฝั่งของ CPF มีสถานะทางการเงินและผลการดําเนินงานที่คล่องตัวขึ้น เนื่องจากไม่ต้องรับรู้ผลขาดทุนของธุรกิจไก่ในจีนอีกต่อไป และยังได้รับชําระคืนเงินกู้ยืม รวมไปถึงระดับหนี้สินที่ปรับตัวลดลงอีกด้วย

บล. ฟินันเซีย ไซรัส ให้มุมมองต่อดีลนี้ว่าจะส่งผลบวกต่อหุ้น CPF โดยระยะสั้นในไตรมาส 4/2566 อาจช่วยให้บริษัทพลิกมีกําไรได้เร็วกว่าคาด และเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส เนื่องจากการรับรู้กําไรทางบัญชีจากการขายธุรกิจไก่ในจีนราว 2,000 – 3,000 ล้านบาท ประกอบกับสถานการณ์หมูเถื่อนได้รับการดูแลจากภาครัฐมากขึ้น

นอกจากนี้ การที่ธุรกิจไก่ในจีนมีผลขาดทุนปี 2565 อยู่ที่ 2,050 ล้านบาท และ 9 เดือนแรกของปี 2566 ที่ 1,260 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ CPF ถือหุ้นทางอ้อมผ่าน CPP สัดส่วน 76% คิดเป็นสัดส่วนราว 8% ของ Core loss และธุรกิจไก่จีนมีหนี้สินสิ้นอยู่ราว 15,400 ล้านบาท คิดเป็น 3% ของหนี้ทั้งหมด CPF เพราะฉะนั้น ภายหลังธุรกรรมแล้วเสร็จจะช่วยให้ CPF ไม่ต้องรับรู้ขาดทุนอีก และช่วยลดแรงกดดันด้านสภาพคล่องเล็กน้อย ทำให้ D/E Ratio ลดลง

ทั้งนี้ ได้ปรับคําแนะนําหุ้น CPF ขึ้นเป็น “ซื้อ” ด้วยราคาเป้าหมายเดิมที่ 22 บาทต่อหุ้น โดยคาดว่ายังมีการพิจารณาทยอยขายธุรกิจที่ขาดทุนออกไปอีก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับผลประกอบการยิ่งขึ้น และเพิ่มสภาพคล่องให้กิจการมากขึ้น อีกทั้งด้วยราคาหุ้นที่ปรับลง 16% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ธุรกิจเริ่มฟื้นตัวมีกําไร ประเมินปี 2567 บริษัทจะพลิกมีกําไรสุทธิราว 11,000 ล้านบาท

พลิกกําไร

ปัจจัยหนุนการเติบโตในปี 2567 ของ CPF  

1. การเติบโตของปริมาณขาย เมื่อความต้องการบริโภคปรับตัวสูงขึ้น

2. ราคาเนื้อสัตว์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

3. ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ทรงตัวถึงอ่อนตัวลง

4.บริษัทร่วมและบริษัทย่อยในต่างประเทศมีผลประกอบการฟื้นตัวดีกว่าคาด

อย่างไรก็ดี การลงทุนในหุ้น CPF ก็มีความเสี่ยงที่ต้องระวังเช่นกัน อาทิ กําลังซื้อชะลอตัว ราคาเนื้อสัตว์ฟื้นตัวช้ากว่าคาด ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ค่าเงินบาทแข็งค่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่า และการขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น

พลิกกําไร

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน