Stock - Finance

มีอะไรในงบ ‘STARK’ สรุปการตกแต่งบัญชี 25,000 ล้าน

ตะลึง!! พบการตกแต่งบัญชี 25,000 ล้านบาท ของ STARK ระหว่างปี 2564-2565 ถึง 5 รายการ การเติบโตที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดขึ้นจริงจากพื้นฐานธุรกิจสายไฟฟ้าอย่างนั้นหรือ

เรื่องราวที่หลายคนสงสัยสุดท้ายก็ชัดเจนออกมาแล้ว สำหรับประเด็นของ หุ้น STARK หรือ บริษัท สตาร์คคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีปัญหาไม่ยอมส่งงบการเงินประจำปี 2565 จนสร้างความเสียหายมากมายให้กับนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นรายย่อย รายใหญ่ หรือสถาบัน

ล่าสุด (วันที่ 16 มิ.ย. 2566)  STARK ได้ส่งรายงานผลการผลดำเนินปี 2565 พร้อมด้วยคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ และชี้แจงเหตุที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินประจำปี 2565 เมื่อเราได้ลองไล่เรียงเอกสารต่าง ๆ ของทางบริษัท ก็พบความผิดปกติหลายประการ  สรุปออกมาให้เห็นทีละประเด็นในบทความนี้

งบปี 2565 ขาดทุน 6,651.1 ล้านบาท

ผลประกอบการ STARK ปี 2565 มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 25,213.1 ล้านบาท  มีผลขาดทุนสุทธิ 6,651.1 ล้านบาท ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการขาดทุน มาจากการปรับตัวขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบหลัก ได้แก่ ทองแดงและอลูมิเนียม ที่ราคาผันผวนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้นทุนเพิ่มจากราคาซื้อวัตถุดิบที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา จึงไม่สามารถส่งผ่านไปสู่ลูกค้าได้ทั้งหมด

ตกแต่งบัญชี

ประกอบกับบริษัทไม่ได้ทำสัญญาลดภาระความผันผวนของราคาวัตถุดิบ (hedging contract) เพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงราคาซื้อวัตถุดิบ ทำให้กระทบต่อผลกำไรของแต่ละคำสั่งซื้อ ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมต้นทุนของการซื้อวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนก่อให้เกิดผลขาดทุนจากการดำเนินการ

แก้ไขงบปี 2564 เป็นขาดทุน 5,989 ล้านบาท

บริษัทแจ้งว่าผู้บริหารชุดใหม่ เจอความผิดปกติหลายรายการในงบการเงิน จึงต้องกลับไปปรับตัวเลขในงบการเงินปี 2564 โดยรายการหลัก ๆ ที่มีการแก้ไข ก็มีตั้งแต่

  • ลูกหนี้การค้า เดิม 6,591.2 ล้านบาท แก้ไขเป็น 2,844.9 ล้านบาท
  • ส่วนของผู้ถือหุ้น เดิม 6,591.2 ล้านบาท แก้ไขเป็น 2,844.9 ล้านบาท
  • รายได้จากการขาย เดิม 25,217.2 ล้านบาท แก้ไขเป็น 17,486.6 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ เดิมกำไร 2,794.9 ล้านบาท แก้ไขเป็นขาดทุน 5,689.3 ล้านบาท

พบการตกแต่งบัญชี 25,000 ล้านบาท

จากข้อมูลที่เปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงิน สรุปได้ว่า STARK ตกแต่งบัญชี คิดเป็นมูลค่ารวมกัน 25,000 ล้านบาท เกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนปี 2564 หนักสุดๆ คือระหว่างปี 2564-2565 โดยมีรายการทั้งหมด ดังนี้

1.  สร้างยอดขายปลอม แบบไม่มีใครจ่ายเงินจริง จำนวน 6,025 ล้านบาท

STARK รายงานเอกสารขายเท็จ ไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง และทำการตั้งยอดลูกหนี้การค้าที่เป็นเท็จจำนวนมาก คิดเป็นเงิน 97 ล้านบาท 923 ล้านบาท และ 5,005 ล้านบาท ในช่วงก่อนปี 2564 ปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ

ตกแต่งบัญชี

2.  สร้างยอดขายปลอม แล้วจ่ายเงินให้พวกเดียวกัน จำนวน 1,890 ล้านบาท

STARK ทำเอกสารการขายให้แก่คนในกลุ่มเดียวกัน ชำระเงินกันเอง ไม่มีการจัดส่งสินค้าจริง ซึ่งเป็นรายการระหว่าง บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง) และ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ป็นบริษัทย่อยของกลุ่มกิจการ) จำนวน 1,890 ล้านบาทในปี 2565

3. จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 611 ล้านบาท

บริษัทตัดจำหน่ายรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ของยอดขาย ซึ่งเป็นรายการปลอมมูลค่า 611 ล้านบาท เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกกรมสรรพากรจับได้ก่อนหน้านี้ จากการสร้างยอดขายปลอม

4.  สร้างรายจ่ายปลอม ให้พวกเดียวกันเอง 10,451 ล้านบาท

STARK ทำเป็นสั่งซื้อสินค้าเพื่อบันทึกเป็นรายจ่ายให้กับบริษัท แล้วลงบัญชีเป็นการจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อซื้อสินค้า ในขณะที่อีกฝั่งตั้งรายการเป็นบริษัทอื่นติดหนี้  STARK ที่จะส่งสินค้าให้ โดยเงินสดไม่ได้ออกไปที่คู่ค้าของบริษัท แต่วิ่งไปที่ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัทเดิมที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง

5. ล้างลูกหนี้ปลอม 6,086 ล้านบาท

บริษัทสร้างรายการชำระเงินปลอมจากต่างประเทศขึ้นมา เพื่อล้างลูกหนี้ในปีก่อน ๆ ให้มียอดน้อยลง จากเส้นทางการรับชำระเงิน ได้แสดงว่าเป็นการโอนเงินจาก บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด อีกแล้ว

สรุปแล้วการเติบโตที่ผ่านมาของ STARK ไม่ได้เกิดขึ้นจริงจากพื้นฐานธุรกิจสายไฟฟ้า ที่กำลังเป็นเมกะเทรนด์แต่อย่างใด ทว่ามาจากการตกแต่งบัญชีมานานแล้ว สะท้อนว่าผู้สอบบัญชีมีความผิดพลาดมาตั้งแต่อดีต แม้จะเป็นบริษัทตรวจสอบบัญชีที่อยู่ใน BIG4 ก็ตาม!

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่าขอให้ผู้ลงทุนพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับงบการเงินของ STARK ด้วยความระมัดระวัง เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจลงทุน

กรณีนี้ ก.ล.ต. ได้ดำเนินการในกระบวนการตรวจสอบการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และหากพบว่าบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ก.ล.ต. จะดำเนินการตามกฎหมายตามกระบวนการต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน