Social

แบงก์พันปลอมระบาด! ตำรวจแนะ ‘ดูแถบสีทอง’ เตือน รู้แล้วใช้ คุก 15 ปี

โฆษกตำรวจ เตือนภัย ระวัง แบงก์พันปลอมระบาด แนะให้ดูแถบสีทอง ย้ำหากรู้แล้วว่าปลอม แต่ยังนำมาใช้ มีโทษหนักจำคุก 15 ปี

จากกรณีบนโลกโซเชียลได้มีการโพสต์ภาพ และข้อความ ระบุให้ระวังแบงก์พันปลอมระบาด จาก 2 พื้นที่ ซอยกำนัน อำเภอเมืองอุดรธานี ลูกค้าเอาเงินปลอมมาซื้อหมูกระทะที่ร้าน และร้านขายของชำที่ ตำบลเชียงหวาง อำเภอเพ็ญ มีลูกค้านำแบงก์พัน มาซื้อของภายในร้านนั้น

แบงก์พันปลอมระบาด

วันนี้ (22 ต.ค.) พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) ระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า ขอให้ตรวจสอบธนบัตรที่ได้รับ โดยเฉพาะธนบัตรที่มีมูลค่าสูง จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพแก๊งปลอมธนบัตร

สำหรับวิธีสังเกตในเบื้องต้นว่า ธนบัตรใบละ 1,000 บาท ปลอมหรือไม่ ให้ดูที่ “แถบสีในเนื้อกระดาษ” ดังนี้

  • เป็นพลาสติกสีทองที่ฝังไว้ในเนื้อกระดาษ ตามแนวตั้งของธนบัตร จึงเรียกว่า “แถบสีทอง”
  • ในมุมปกติจะมองเห็นเป็นเส้นประ แต่เมื่อส่องกับแสง จะเห็นเป็นเส้นตรง และมีข้อความ “1000 บาท 1000 BAHT”
  • เมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมอง จะเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีเขียว และลวดลายในแถบจะกลิ้งเคลื่อนไหวไปมาได้
  • แถบสีอาจมีรอยขูดขีด หลุดลอกชำรุดจากการใช้งานได้ ง
  • แถบสีที่อยู่ในเนื้อกระดาษธนบัตรแต่ละฉบับ สามารถอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ตรงกันได้ โดยอาจเลื่อนไปทางซ้ายหรือขวา ตามระยะที่มาตรฐานกำหนดไว้

แบงก์พันปลอมระบาด

แบงก์พันปลอมระบาด

โทษฐานปลอม หรือแปลงธนบัตร ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 ระบุไว้ว่า ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะปลอมขึ้น เพื่อให้เป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้ หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือทำปลอมขึ้นซึ่งพันธบัตรรัฐบาล หรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 40,000 บาท

สำหรับการใช้เงินปลอมซื้อของโทษสูงสุดติดคุก 15 ปี การใช้ธนบัตรปลอมในการซื้อสินค้า และบริการเป็นการกระทำที่มีความผิดตามกฎหมายอาญา โดยแบ่งความผิดตามเจตนาของผู้ใช้ธนบัตรปลอมออกเป็น 2 ประเด็นหลัก

1. ได้ธนบัตรปลอมมาโดยไม่รู้ว่าเป็นของปลอม แต่ต่อมาเมื่อรู้ว่าเป็นของปลอมแล้ว ยังขืนนำออกไปซื้อสินค้า และบริการ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 245

2. การมีธนบัตรปลอมไว้เพื่อใช้ โดยที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นของปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 30,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244

แบงก์พันปลอมระบาด

พล.ต.ต.อาชยน กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยประชาชน เน้นย้ำให้บังคับใช้กฎหมายจัดการกลุ่มมิจฉาชีพปลอมแบงก์อย่างเคร่งครัด สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งปราบปราม และหาทางป้องกันอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชน ที่เป็นสุจริตชน และเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

หากพบการกระทำความผิดสามารถแจ้งเบาะแสและสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วน 191 หรือสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo