Social

เตือนอีก! ชวนเทรดหุ้น ลงทุนน้อยกำไรมาก ไม่มีอยู่จริง

เตือนอีก! ชวนเทรดหุ้น ทอง เงินดิจิทัล ลงทุนน้อยกำไรมาก ไม่มีอยู่จริง ไม่กลัว ไม่โลภ ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

จากกรณี “น้องเดียว” อายุ 21 ปี ชาว อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากก่อเหตุผูกคอตัวเองเสียชีวิตที่บ้านพัก เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา โดยสาเหตุมาจากถูกหลอกให้ลงหุ้นในแอปออนไลน์ เป็นเงินกว่า 1 ล้านบาท ทั้งนี้ก่อนก่อเหตุ ยังได้ทิ้งจดหมายขอโทษแม่ ที่ทำให้เดือดร้อนด้วย ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

อย่าเชื่อ

ในเรื่องนี้หากเทียบสถิติคดีอาชญากรรมออนไลน์ประเภท “หลอกให้ลงทุน” และอุบายในการหลอกลวง โดยสถิติคดีออนไลน์ที่ประชาชนแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com โดยคดีหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มีคนร้องเรียนมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น เทรดหุ้น เทรดทอง เงินดิจิทัล ทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ และสูญเสียทรพย์สินเป็นจำนวนมาก บางรายอาจรุนแรงถึงขึ้นก่อเหตุจบชีวิตตนเอง

ผลตอบแทนสูง จูงใจให้ลงทุน

การหลอกลงทุน ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ เสนอผลตอบแทนที่จูงใจและสูงเกินจริง ทำนองรวยง่าย รวยเร็ว รวยจริง แต่ไม่บอกที่มาของผลตอบแทนให้ชัดเจน หรือชวนให้เข้ากลุ่มโพยหุ้น หรือชวนให้เข้ากลุ่มสอนการลงทุน ฯลฯ วิธีสังเกต

  • มีการสร้างโปรไฟล์ให้น่าเชื่อถือ อย่างเช่น CEO เจ้าของธุรกิจ เซียนหุ้นชื่อดัง ผู้บริหารภาครัฐ ฯลฯ
  • จะมียอดไลค์เยอะมาก และมีคอมเมนท์บอก “สนใจ” เต็มไปหมด
  • คลิกไปที่หน้าเพจของสื่อนั้น ลองกดที่ “about” เพจจะเพิ่งสร้างไม่นาน และไม่มีกิจกรรมของเพจเลย ถ้าเป็นเพจของบุคคลธรรมดา มักจะใส่รูปอื่นที่ไม่ใช่รูปตนเองเป็นหน้าโปรไฟล์ ช่องทางการติดต่อส่วนใหญ่เป็นการทักเข้าหาเราทางแชท messenger หรือชวนให้เข้ากลุ่มไลน์
  • ชักจูงให้โอนเงินไปยังบัญชีบุคคลธรรมดา (อันนี้สำคัญ ถ้าเจอแบบนี้ 100% โกง) เพราะบัญชีม้าทำไม่ยาก แต่มีบ้างเหมือนกัน ให้โอนเข้าบัญชีนิติบุคคล แต่น้อยมาก เพราะการเปิดบัญชีนิติบุคคลทำยากกว่า และสามารถสืบไปยังเจ้าของนิติบุคคลได้ แต่ล่าสุดก็มีเหมือนกัน มิจฉาชีพมาในรูปแบบของการเป็นบริษัทเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ และหลอกให้ทำงานออนไลน์ เป็นงาน “คอนเฟิร์มออเดอร์” เราจะต้องทำการใส่เงินเข้าไปในระบบจากนั้นทำการคอนเฟิร์มสินค้า เมื่อทำถึงจำนวนที่กำหนดก็เสร็จสิ้นภารกิจ จะได้รับเงินรางวัล วิธีตรวจสอบบริษัทนี้มีตัวตนจริงหรือไม่ ให้เข้าเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ https://datawarehouse.dbd.go.th/index
    1. ดูงบการเงินว่ามีรายได้จากการประกอบธุรกิจหรือไม่ ถ้าไม่มีรายได้ แนวโน้ม “โกง”
    2. สถานะ “ยังดำเนินกิจการอยู่” หรือไม่ ถ้าสถานะ “เลิก” แนวโน้ม “โกง”
    3. วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง จัดตั้งมานานหลายปีหรือไม่ ถ้าเพิ่งตั้งไม่นาน แนวโน้ม “โกง”

การหลอกขายของ วิธีสังเกต คือ มักขายของถูกกว่าที่ควรจะเป็น โดยมิจฉาชีพจะเข้ามาหาเหยื่อในกลุ่มซื้อขายของออนไลน์ใน Facebook และมักจะทักขายของที่เราสนใจให้เราทาง messenger วิธีสังเกต

    1. จะเพิ่งเข้าในกลุ่มที่เราเป็นสมาชิกไม่นาน ไม่มีกิจกรรมในกลุ่ม
    2. ไปดูหน้า Facebook มักจะเพิ่งสร้างไม่นาน ไม่มีกิจกรรมในเพจ
    3. ก่อนชำระเงิน
      • เช็กรูปสินค้า โดยเช็กได้จาก Google ว่ารูปนี้เคยโพสต์ที่ไหนมาแล้วบ้าง เจ้าของใช่คนเดียวกับคนที่ขายให้เราหรือไม่
      • เช็กข้อมูลผู้ขายที่ https://www.blacklistseller.com/ หรือ https://chaladohn.com/check

ดังนั้นประชาชนต้องระวัง รู้ทันมิจฉาชีพหลอกลงทุนต่างๆ แนะจุดสังเกต เพื่อไม่ให้คุณตกเป็นเหยื่อ ดังนี้

จุดสังเกต

  • ถ้าให้ในสิ่งที่เหลือเชื่อ ท่องไว้เลย “เหลือเชื่อ” คือ อย่าไปเชื่อ ไม่ว่าจะให้เงินหรือผลตอบแทนที่สูงจนเกินจริง
  • ถ้าให้โอนเงินเข้าบัญชีบุคคลธรรมดา คือ โกง
  • ถ้าอ้างเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ เช่น ปปส. สรรพากร กรมที่ดิน ฯลฯ ให้กดลิงค์แอดไลน์ โหลดแอป หรือให้โทรไปตามเบอร์ที่ให้ อย่าไปเชื่อ คือ โกง ให้ติดต่อหน่วยงานนั้นโดยตรง
  • แม้จะให้ข้อมูลเชิงลึกของเราได้อย่างถูกต้อง ก็อย่าไปเชื่อ เพราะหลายกรณีที่โดนหลอก ก็เพราะเห็นว่ารู้ข้อมูลละเอียด ไม่น่าจะเป็นมิจฉาชีพ สุดท้ายก็ถูกหลอก

แต่การป้องกันตัวจากกลโกงทำได้ยากมาก เพราะมิจฉาชีพมาทุกรูปแบบ และพัฒนาวิธีการโกงไปเรื่อย มีการใช้จิตวิทยาในการหลอกให้เราเชื่อ ไม่ว่าจะหลอกด้วยความโลภ หรือความกลัว สำคัญเราต้องมีสติ

ขอบคุณข้อมูล SET

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo