Politics

เตือน! ‘ซุปโอไมครอน’ ระบาดระลอกใหม่ ทั่วโลกติดเชื้อ ‘สายพันธุ์ย่อย’ แตกต่างกัน

เตือน! ‘ซุปโอไมครอน’ ระบาดระลอกใหม่ ทั่วโลกติดเชื้อ ‘สายพันธุ์ย่อย’ แตกต่างกัน จากการกลายพันธุ์รวดเร็วของไวรัส

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics กล่าวถึง การกลายพันธุ์ของไวรัส ที่มีสายพันะุ์ย่อยอย่างมากมาย หรือ ‘ซุปโอไมครอน’ ซึ่งคาดว่าการระบาดระลอกใหม่ แต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างของสายพันธุ์ไวรัสมากขึ้น ดังนี้

“ซุปโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย” (A soup of omicron subvariants) อาจก่อให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ (new wave) ในแต่ละภูมิภาคด้วยสายพันธุ์ย่อยที่แตกต่างกัน

ซุปโอไมครอน

วลีเด่นช่วงนี้คือ ‘ซุปโอไมครอน’ เรียกขานโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญโควิด-19 ทั่วโลก บ่งชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายตามธรรมชาติของการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ที่เปลี่ยนไปในยุคของโอไมครอน

การกลายพันธุ์ จนเกิดสายพันธุ์ย่อยจำนวนมาก

การดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 จากผู้ติดเชื้อทั่วโลก ซึ่งถูกจัดเก็บในฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID”ตลอด 3 ปี จำนวนกว่า 13.7 ล้านตัวอย่าง (ณ. วันที่ 1 พ.ย. 2565) ได้ถูกนำมาประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง สร้างเป็นต้นไม้แห่งการวิวัฒนาการ (phylogenetic tree) เพื่อดูความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม ระหว่างตระกูลของโคโรนา 2019 (-2022)

พบว่าในช่วง 2 ปีแรก ตระกูลใหญ่ของโคโรนาไวรัสซึ่งมีรหัสพันธุกรรมแตกต่างกันอย่างมากได้เกิดขึ้น และถูกแทนที่ด้วยตระกูลใหญ่ถัดไปอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ตระกูลไวรัสอู่ฮั่น ได้ถูกแทนที่ด้วยตระกูล อัลฟา, เบตา, แกมมา, เดลตา และ โอไมครอน ตามลำดับ

ซุปโอไมครอน

และเนื่องจากส่วนหนามแหลมของแต่ละตระกูล มีการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงแตกต่างกันอย่างมาก ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราพัฒนาตามไม่ทัน เข้าไปจับทำลายไวรัสไม่ได้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อเจ็บป่วย รุนแรง และเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของตระกูลเดลตา

แต่เมื่อการระบาดย่างเข้าสู่ช่วงปีที่ 3 ในยุคของตระกูลโอไมครอน กลับมีวิวัฒนาการเกิดเป็นสายพันธุ์ย่อยมากกว่า 300 สายพันธุ์ (omicron subvariants) พร้อมกัน

โดยแต่ละสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ดั้งเดิม “อู่ฮั่น” มากกว่า 100 ตำแหน่ง โดยเฉพาะส่วนหนามที่อยู่ส่วนเปลือกนอกห่อหุ้มอนุภาคไวรัสไว้

ส่วนหนามมีบทบาทสำคัญในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีน และจากภูมิคุ้มกันที่เราได้รับจากการติดเชื้อโควิด-19 ตามธรรมชาติ รวมทั้งจับกับผิวเซลล์ของผู้ติดเชื้ออย่างจำเพาะ

และเป็นที่น่าสนใจมากว่า ส่วนหนามของโอไมครอนแต่ละสายพันธุ์ย่อย มีทั้งที่ซ้ำกับสายพันธุ์โอไมครอนดั้งเดิมประหนึ่งเป็นการรีไซเคิล (recycle) นำตำแหน่งการกลายพันธุ์ดั้งเดิมที่ใช้ได้ผล (ในการหลบเลี่ยงภูมิ หรือจับกับผิวเซลล์) กลับมาใช้ใหม่ ผสมผสานกับการกลายพันธุ์ตำแหน่งใหม่ ซึ่งจำเป็นใช้แข่งขันกันเองเพื่อการอยู่รอดในหมู่ของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย

ซุปโอไมครอน

คาดเดาแนวโน้มการระบาดได้ยากขึ้น

สรุปได้ว่าการระบาดของโอไมครอน มีความหลากหลายในรูปแบบของการหมุนเวียนอยู่ในประชากรของโลก ซึ่งทำให้คาดเดาแนวโน้มการระบาดในอนาคตได้ยากขึ้น

ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกจึ งได้เปรียบการระบาดของโควิดในช่วงปีที่ 3 เสมือน ซุปโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย (A soup of omicron subvariants) อันประกอบด้วยหลายหลายของสายพันธุ์ย่อยเหมือนส่วนประกอบมากมายในน้ำซุป เช่น BA.2.75, BA.2.75.2,BQ.1, BQ.1.1, BF.7,  XBB, XBB.1,XBB.2, XBB.3,XBB.4, และ XBB.5  มีแข่งขันกันแพร่ระบาดเพื่อความอยู่รอด

ซุปโอไมครอน

และเนื่องจากแต่ละสายพันธุ์ย่อย มีการรีไซเคิลตำแหน่งการกลายพันธุ์ของโอไมครอนดั้งเดิม เช่นในตำแหน่ง “R346, L452, K444, F486, N460”  มาใช้ร่วมด้วย อันอาจเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่ง ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเรารู้จักคุ้นตำแหน่งกลายพันธุ์เหล่านี้มาก่อนล่วงหน้า

สังเกตได้ว่าการติดเชื้อเจ็บป่วยจากโอไมครอนสายพันธุ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น BA.1,BA.2,BA.4,BA.5 และล่าสุด BQ.1 และ XBB จึงมีอาการที่ไม่แตกต่างกัน คือไม่รุนแรงต้องรักษาตัวใน รพ. รวมทั้งมีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยกว่า เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตา

ซุปโอไมครอน

การระบาดระลอกใหม่ จากการติดเชื้อหลากหลายสายพันธุ์

ในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวปลายปีนี้และต้นปีหน้า 2565 คาดว่าแต่ละภูมิภาคทั่วโลก จะมีการติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยที่แตกต่างกัน

เช่น ในทวีปยุโรปและอเมริกา มีการติดเชื้อโอไมครอน BQ.1 และ BQ.1.1 ในขณะที่ทวีปเอเชีย โดยเฉพาะ อินเดีย บังกลาเทศ มาเลเซีย และสิงคโปร์ พบการระบาดของ XBB,XBB.1-XBB.5 ในขณะที่ทวีปออสเตรเลียพบการระบาดผสมผสานระหว่าง BQ.1* และ XBB*

BA.5 ยังครองพื้นที่ในไทย-ระวังช่วงหน้าหนาว

สำหรับประเทศไทยยังคงพบโอไมครอนสาย BA.5* ถึงร้อยละ 97.83%

ส่วนสายพันธุ์ย่อย

  • BA.4.6    จำนวน 2 ราย
  • BQ.1.1    ไม่พบ
  • BQ.1      จำนวน 1 ราย
  • BF.7       จำนวน 2 ราย
  • BA.2.75    จำนวน 24 ราย
  • BA.2.75.2 จำนวน 6 ราย
  • XBB         ไม่พบ

ปล. ข้อมูลจาก GISAID วันที่ 1/11/2565 https://gisaid.org/

ซุปโอไมครอน

ช่วงหน้าหนาวในประเทศไทยซึ่งคาดกันว่าจะยาวนาน จะมีส่วนทำให้อนุภาคไวรัสคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น อันอาจส่งเสริมให้มีการระบาดระลอกใหม่หรือไม่ และเป็นโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยใดนั้นยังตอบไม่ได้

แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศ รวมทั้งศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี กำลังเฝ้าติดตามโดยการถอดรหัสพันธุกรรม (sequencing) ทั้งจีโนมหรือบางส่วน (genotyping) ซึ่งขณะนี้จำนวนการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมในประเทศไทยลดลงอย่างมาก เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนา 2019 ในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างที่ส่งมาตรวจที่ห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา รพ. รามาธิบดี ช่วงนี้ลดเหลือเพียง 4-12 ตัวอย่างต่อวัน และตรวจพบ PCR เป็นบวกประมาณวันละรายเดียวเท่านั้น

ซุปโอไมครอน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo