Politics

อดีตตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ คาดวินิจฉัยปม ‘นายกฯ 8 ปี’ เร็วสุด 2 เดือน

อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มั่นใจศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง ปมนายกรัฐมนตรี 8 ปี คาดใช้เวลาวินิจฉัยเร็วสุด 2 เดือน ต้องรอบคอบ รัดกุม ฟังความทุกฝ่าย ชี้ส่วนสำคัญต้อง ย้อนดูเจตนารมณ์กฎหมาย ต้องรีบหาข้อยุติโดยเร็ว เพราะประชาชนกำลังแตกแยกหนัก  

เว็บไซต์ข่าว Thai PBS ได้เปิดเผยการให้สัมภาษณ์ของ นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีสภาฯ ยื่นคำร้องให้ศาล​รัฐธรรมนูญ​วินิจฉัย​วาระการดำรงตำแหน่ง​นายกรัฐมนตรี​ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 170 วรรคสาม ว่า คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือน แต่หากจะเร็วกว่านั้นคือตีตก

อย่างไรก็ตาม นายจรัญ เชื่อว่า ไม่มีช่องทางที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับคำร้องนี้ เพราะในแวดวงวิชาการมีความเห็นเกือบจะเป็นเอกฉันท์ ว่า ศาลรัฐธรรมนูญคงต้องมีคำสั่งรับคำร้อง แต่กระบวนการทางการศาลอาจไม่รวดเร็ว เพราะต้องรอบคอบ รัดกุม และฟังความจากทุกฝ่าย

ศาลรัฐธรรมนูญ

คาดใช้เวลาวินิจฉัยเร็วสุด 2 เดือน

แต่ปัญหาเรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะกฎหมายไม่ชัดเจน บอกเพียงว่าวาระนายกรัฐมนตรี 8 ปี โดยไม่ได้ระบุว่านับตั้งแต่เมื่อใด เปิดช่องให้ถกเถียงกัน ขัดแย้งกัน และไม่เคยมีบรรทัดฐานมาก่อน โดยศาลจะต้องส่งสำเนาคำร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ว่ามีข้อชี้แจง โต้แย้งคำร้องอย่างไรหรือไม่ ซึ่งมั่นใจว่านายกรัฐมนตรีจะชี้แจง และต้องใช้เวลาในส่วนนี้อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์

“เรื่องนี้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ไม่มีบรรทัดฐานมาให้ กฎหมายว่างเปล่า จุดเริ่มต้นว่านับตั้งแต่วันไหน ต้องฟังความให้ครบทุกด้าน”

นายจรัญ กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้ว ก็มีอำนาจสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งในอดีตแทบไม่มีกรณีที่รับคำร้องแล้วสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในทันที อาจต้องรอฟังคำชี้แจงและข้อโต้แย้งจากผู้ถูกร้อง จากนั้นจะมีการประชุมว่าควรสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ ไม่มีหลักเกณฑ์แน่ชัด

นายจรัญ กล่าวว่า ค่อนข้างแน่ชัดว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องตรวจสอบเจตนารมณ์ของกฎหมายบทนี้ เพราะในทางปฏิบัติถ้ากฎหมายไม่ชัดจะต้องค้นหาเจตนารมณ์ โดยประสานขอข้อมูลบันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว รวมทั้งรายงานการประชุมของสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อประกอบการวิเคราะห์เจตนารมณ์ของกฎหมายว่าชี้ไปในทางใด ถือเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนความเห็นของบุคคล ทั้งประธาน กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และผู้เชี่ยวชาญนั้น เป็นดุลยพินิจ

“เรื่องนี้ต้องหายุติให้เร็วที่สุด เพราะประชาชนกำลังจะขัดแย้งกันอย่างรุนแรงมากขึ้นถ้าหาข้อยุติไม่ได้ แรก ๆ ปัญหานี้จะออกมาว่ามีความเห็นไปได้ 3 ทาง แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ประชาชนถูกนำให้ตัดสินใจว่าจะเอาทางไหน ถ้าไม่มีกระบวนการยุติธรรม ทางศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา จะนำไปสู่ความแตกแยก และแตกสามัคคีในประชาชนอีกรอบหนึ่ง ประเทศจะเสียหายมาก”

ศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญ

ขอบคุณข้อมูล :Thai PBS

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight