ศูนย์จีโนมฯ ชี้ แม้จะประกาศโควิดเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ ก็ต้องฉีดวัคซีน แนะรีบฉีด ก่อน สายพันธุ์ย่อย BA.4 BA.5 และ BA.2.12.1 ระบาดระลอกใหม่
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ชี้ว่า แม้ประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่าง การเตรียมประกาศโควิด ให้เป็น โรคประจำถิ่น แต่ประชาชนที่ยังไม่ได้ฉีควัคซีนแม้แต่เข็มแรก ก็ควรต้องฉีดวัคซีน และฉีดเขฺ็มกระตุ้นทันทีเมื่อตรบกำหนด ข้อความดังนี้
BA.4 BA.5 และ BA.2.12.1 การระบาดระลอกใหม่ เข้ามาแทนที่ BA.2
ผู้ติดเชื้อโอไมครอนรายใหม่ และผู้เสียชีวิตทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง จนอาจเข้าสู่ภาวะ “โรคประจำถิ่น” ที่ระบบสาธารณสุขเราควบคุมการระบาดได้ แต่เหตุใด เรายังสมควรต้องฉีดวัคซีนเข็มแรกหากยังไม่เคยฉีด และฉีดเข็มกระตุ้นทันทีเมื่อครบกำหนด
คำตอบ คือ โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.4” และ “BA.5” ในประเทศแอฟริกาและ “BA.2.12.1” ในสหรัฐอเมริกา กำลังเกิดการระบาดระลอกใหม่ (next wave) เข้ามาแทนที่ BA.2 และมีแนวโน้มสูงที่แพร่ไปทั่วโลก เหมือนกับเหตุการณ์การระบาดใหญ่ ของโอไมครอนจากประเทศแอฟริกาใต้เมื่อปีที่แล้ว (พฤศจิกายน 2564)
ภูมิธรรมชาติจากการติดเชื้อ สู้ BA.4 BA.5 ไม่ได้ แต่หากฉีดวัคซีน ไม่ป่วยไม่ตาย
จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการ พบว่า แอนติบอดีที่ร่างกายเราสร้างขึ้น จากการติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 ตามธรรมชาติ (natural infection) ไม่สามารถปกป้องการติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ที่อุบัติใหม่ อย่าง BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 ได้
คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่เพิ่งหายขาดจากการติดเชื้อ BA.1 ความสามารถของแอนติบอดีในร่างกาย ที่จะต่อต้านไวรัส BA.4 และ BA.5 ลดลงมากกว่า 7 เท่า เมื่อเทียบกับความสามารถในการต่อต้าน BA.1 ในขณะที่ผู้ที่เคยฉีดวัคซีน (วัคซีนผลิตจากส่วนหนามของไวรัสอู่ฮั่น) และเพิ่งหายจากการติดเชื้อ BA.1 ตามธรรมชาติ ความสามารถของแอนติบอดีในร่างกายที่จะต่อต้านไวรัส BA.4 และ BA.5 ลดลงไปเพียง 3 เท่า
อันหมายถึง ลำพังแอนติบอดีจากการติดเชื้อ BA.1 ตามธรรมชาติ ไม่สามารถปกป้องการติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 ได้ดีนัก แต่หากมีการฉีดวัคซีนก่อน และมีการติดเชื้อ BA.1 ร่วมด้วย แอนติบอดีที่ร่างการสร้างขึ้นจะสามารถยับยั้งไวรัส BA.4 และ BA.5 ได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ไม่ป่วยไม่ตาย เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่มีการติดเชื้อ BA.1 ตามธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว
หมายเหตุ: ความสามารถของแอนติบอดีในร่างกายที่จะต่อต้านไวรัส (ในกรณีของไวรัสไข้หวัดใหญ่)ลดลง 8 เท่า เป็นเกณฑ์บ่งชี้ว่า ได้มีการสูญเสียความสามารถในการป้องกัน ต้องมีการปรับปรุงวัคซีน(ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล)อย่างเร่งด่วน
แนะช่วง “พักยก” จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ควรรีบฉีดวัคซีน ก่อนการระบาดระลอกใหม่
ไวรัส BA.4 และ BA.5 และ BA.2.12.1 มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งร่วม คือ “452” ของจีโนมของพวกมัน ทำให้ส่วนหนามมีความเสถียรมากขึ้น เข้าไปยึดเกาะกับปุ่มที่เรียกว่า “ACE-2 receptor” ที่ผิวเซลล์ของผู้ติดเชื้อได้แน่นขึ้น เพื่อจะแทรกตัวเข้าไปภายในเซลล์ และยังทำให้เซลล์หลายเซลล์มาหลอมรวมกัน(cell fusion) กลายเป็นหนึ่งเซลล์ (syncytia giant cell) ช่วยให้ไวรัสติดต่อผ่านเซลล์ต่อเซลล์ ไม่ต้องออกไปนอกเซลล์ให้ถูกแอนติบอดีจับกุมทำลาย ทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนในระหว่างเซลล์ได้อย่างรวดเร็ว
ไวรัส BA.4 และ BA.5 มีการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่ง “486” ด้วยเช่นกัน คาดว่าช่วยให้ไวรัสซ่อนตัว จากระบบภูมิคุ้มกันของเราได้ในระดับหนึ่ง
ส่วน BA.2.12.1 มีการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่ง “704” หน้าที่ยังไม่ชัดเจน คาดว่าจะส่งผลให้เซลล์หลายเซลล์มาหลอมรวมกัน(cell fusion)
ดังนั้นในช่วง “พักยก” (จำนวนผู้ติดเชื้อโอไมครอนรายใหม่และผู้เสียชีวิตลดลง) จึงควรรีบไปฉีดวัคซีนและเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ หากมีการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 เข้ามาในประเทศไทย เพราะภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจาก BA.1 อาจไม่ช่วยปกป้องเรามากนัก จากโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- นายกฯ แนะ รร. ครู นักเรียน ผู้ปกครอง เข้มทุกมาตรการ พร้อมเปิดเทอม เหลื่อมเวลา เรียน-กิน-เล่น
- ผู้สูงอายุ ฉีดเข็มกระตุ้นเกิน 3 เดือน ติดโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 BA.5 และ BA.2.12.1 อาการรุนแรง
- นายกฯ สั่งศธ. กำชับทุกโรงเรียน ‘เข้ม 7 มาตรการ’ ก่อนเปิดเทอมออนไซต์ กลางเดือนนี้