Politics

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-โพลชี้ ‘ชัชชาติ’ ยังนำ ‘สกลธี-วิโรจน์’ คะแนนเพิ่ม ‘พลังเงียบ’ ตัวแปรชี้ขาด

“ซูเปอร์โพล” เปิดผลสำรวจรอบ 3 “เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” พบ “สกลธี-วิโรจน์” มีลุ้นคะแนนเพิ่ม ส่วน “ชัชชาติ” ยังนำ แต่คะแนนลด ทั้งยังมีคนจำนวนมาก ที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร

วันนี้ (23 เม.ย.)  ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง กลุ่มคนเลือกตั้งหน้าใหม่ (New Voters) กับ กลุ่มคนเคยเลือก ในความต้องการเปลี่ยนแปลง กทม.ให้ดีขึ้น สอบถามกลุ่มตัวอย่าง 1,506 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 21-22 เมษายนที่ผ่านมา โดยร้อยละ 23.0 เป็นกลุ่มคนเลือกตั้งหน้าใหม่ หรือ นิวโหวตเตอร์ ในขณะที่ ร้อยละ 77.0 เป็น กลุ่มคนที่เคยเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. มาแล้ว

ที่น่าพิจารณาคือ สิ่งที่ต้องการเห็นผู้สมัคร ทำให้ กทม. เปลี่ยนแปลงดีขึ้น จึงตั้งใจจะไปใช้สิทธิ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 80.2 ระบุ ต้องการเห็นผู้สมัครทำถนนให้เรียบ ไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ น้ำไม่ท่วมขัง รองลงมาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.1 ระบุ ความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง ทำให้คน กทม. เดินทางได้สะดวก รวดเร็ว รถไม่ติด และทุกคนมีความปลอดภัยทางถนน ร้อยละ 79.2 ระบุ ทำทางเท้าให้น่าเดิน ไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ ปลอดภัยบนทางเท้า

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ความตั้งใจจะเลือกผู้ว่าฯ กทม. ของ คนสองกลุ่ม โดยกลุ่มคนเลือกตั้งหน้าใหม่เลือก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร้อยละ 19.9 รองลงมาเลือก นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ร้อยละ 8.4 นายสกลธี ภัททิยกุล ร้อยละ 4.3 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ร้อยละ 4.9 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ร้อยละ 2.3 อื่น ๆ ได้แก่ นางสาวรสนา โตสิตระกูล และ น.ต.ศิธา ทิวารี เป็นต้น ร้อยละ 1.5 ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 58.7

ส่วนกลุ่มคนเคยเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. เลือกนาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร้อยละ 17 รองลงมาเลือก นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ร้อยละ 12.8 นายสกลธี ภัททิยกุล ร้อยละ 12.7 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ร้อยละ 8.5 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ร้อยละ 6.6 อื่น ๆ ได้แก่ นางสาวรสนา โตสิตระกูล และ น.ต.ศิธา ทิวารี เป็นต้น ร้อยละ 5 ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 37.4

ดร.นพดล กล่าวว่าเมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจครั้งแรก หลังลงสมัครอย่างเป็นทางการ จนถึงครั้งที่ล่าสุด คือครั้งที่สาม มีลุ้น มีเสียว เพราะคนตั้งใจจะเลือก นายชัชชาติ ลดลงจากร้อยละ 24.5 ในครั้งที่สอง มาอยู่ที่ร้อยละ 17.7 ในครั้งล่าสุด นายสุชัชวีร์ ก็ลดลง อาจเป็นผลจาก “ปริญญ์เอฟเฟกต์” จากร้อยละ 13.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 11.8

แต่ที่มีลุ้นคือ นายสกลธี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 10.8 ที่น่าพิจารณาคือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ลดลงจากร้อยละ 9.8 มาอยู่ที่ ร้อยละ 7.7 เพราะคนกรุงเทพมหานคร เห็นว่า เคยเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาหลายปีแล้ว แต่ปัญหา กทม. ก็ยังเหมือนเดิม

ที่น่าจับตามองคือ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่ยังรักษาแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของกลุ่มคนตั้งใจจะเลือก ที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.5 ในครั้งแรก มาอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ในครั้งสองและร้อยละ 5.6 ในครั้งล่าสุด ขณะที่ผู้สมัครอื่น ๆ มีแนวโน้มลดลงไปอยู่ในกลุ่มคนไม่ตัดสินใจเป็นจำนวนมาก จึงขึ้นอยู่กับการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครแต่ละคน ที่จะสามารถตอบโจทย์ตรงใจของประชาชนคน กทม. ได้มากน้อยเพียงไร

09029267A7785E5894E53CB5122ACE6Aผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลนี้ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มคนเลือกตั้งหน้าใหม่ กับกลุ่มคนเคยเลือก ผู้ว่าฯ กทม. มีความตั้งใจจะเลือกผู้สมัครแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือ นายสกลธี มีลุ้น คู่ไปกับนายวิโรจน์ ที่มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่คนอื่น ๆ มีลดลง และคงที่ เพราะกลุ่มคน กทม. ในผลโพลนี้กลับไปรวมตัวกันที่ฐานเดิมคือ ยังไม่ตัดสินใจ

เมื่อวิเคราะห์เหตุปัจจัยใดที่มีผลต่อการเปลี่ยนใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่ กลุ่มคนเคยเลือก ผู้ว่าฯ กทม. พบว่า “ภาพจำ” ของ คน กทม. มีผล ทั้งปัญหาเดิม ๆ ซ้ำซาก เช่น คุณภาพชีวิตของ คน กทม. ที่ยังย่ำแย่เหมือนเดิม ปัญหาจราจร การเดินทางของคน กทม. ความไม่ปลอดภัยบนท้องถนน-ทางเท้า และปัญหาการศึกษา

นอกจากนี้ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ยังมีข่าวการเมืองสำคัญ ๆ บางอย่าง ได้แก่ ข่าวแบ่งเค้กตำแหน่ง รองผู้ว่าฯ กทม. ให้กับนักการเมืองของพรรคการเมือง ที่ถูกมองว่าหนุนหลังเชื่อมโยงกับผู้สมัคร ข่าวแกนนำพรรคการเมืองเคลื่อนไหวเกี่ยวโยงกับคนแดนไกล ที่อาจจะนำไปสู่ ภาพจำแห่งความขัดแย้งในหมู่ประชาชนแบบเดิม ๆ และอื่น ๆ

จึงน่าจะเป็นข้อสมมุติฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นได้ว่า ทำไมผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า จึงกลับไปอยู่ในฐานที่มั่นเดิมคือ ยังไม่ตัดสินใจ และทำไม ผู้สมัครฯ บางคนมีคะแนนเพิ่มขึ้นแต่บางคนลดลง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo