Politics

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. : ‘ศิธา’ ชู ‘3P-บำนาญประชาชน’ จัดแพ็คเกจนโยบายทางสังคม ให้คนกรุงร่วมกำหนด

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. -“ศิธา” ลั่น “ทำในสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.ไม่เคยทำ” ชูนโยบาย “3P-บำนาญประชาชน” พร้อมจัดแพ็คเกจนโยบายทางสังคม ลั่นดึงทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกำหนดทิศทางกรุงเทพมหานคร 

วันนี้ (6 เม.ย.) น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย ร่วมเวทีสาธารณะ “เสนอไป-แถลงมา นโยบายทางสังคมของว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.” จัดโดยวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อีก 5 คน นำเสนอนโยบาย และประเด็นทางสังคม โดยมีตัวแทนกลุ่มต่างเป็นผู้นำเสนอประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรุนแรงทางเพศ เรื่องของกลุ่มสตรีและผู้สูงอายุ ข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงาน ผู้แทนคนพิการ ผู้แทนกลุ่มเด็กเล็ก ร่วมเสนอปัญหาและนโยบายที่อยากให้ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ทำ

น.ต.ศิธา ได้ยกนโยบาย “3 P” ของตัวเองขึ้นมากล่าวถึง คือ People การสร้างคน , Profit สร้างมหานครแห่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และ Planet สร้างคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน โดยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างเมือง ผ่านการเสนอโครงการที่ตรงกับความต้องการของพื้นที่ การมีส่วนจัดสรรงบประมาณ ตลอดจนการ “ปรับลดปลดย้ายข้าราชการ” ด้วย

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคไทยสร้างไทย ระบุว่า เมืองไม่สามารถสร้างได้ด้วยซูเปอร์ฮีโร่ 1 คน ผู้คนต่างหากที่เป็นคนสร้างเหมือง NGO คนที่ทำงานเพื่อสังคม ต่างเป็นคนที่มีความรู้มีความคิดดี ๆ ที่ทำให้กับเมือง กฎหมายอันไหนที่บล็อก ก็ต้องแก้ไข อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

“เราจะร่วมสร้างคน สร้างเมืองไปด้วยกัน คือแคมเปญที่บอกว่า ผมจะทำในสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.ไม่เคยทำ”

พร้อมกันนี้ ยืนยันว่า ต้องให้โอกาสผู้หญิงในการเปลี่ยน และสร้างประชาชนที่มีคุณภาพให้กับประเทศ การลงทุนกับเด็กและการศึกษา ที่คนมักจะพูดถึง ‘”ความเป็นเลิศทางด้านการศึกษา” แต่ความเป็นเลิศอาจจะเป็นบ่อเกิดของความไม่เท่าเทียมกันได้ ดังนั้น จะทำให้โรงเรียน กทม.ทุกแห่งมีคุณภาพทัดเทียมเท่ากับโรงเรียนเอกชน มีอาหารที่ปลอดภัยถูกสุขลักษณะ

ผู้พิการคือคนที่กำลังถูกทิ้งไว้อยู่ข้างหลัง การลงทุนผ่านสิ่งปลูกสร้างที่ลงทุนเป็นพันเป็นหมื่นล้าน ถ้าเจียดมาแค่ไม่ถึง 5% ที่ใช้มาดูแลก็เพียงพอ และทำในสิ่งปลูกสร้างให้สามารถไปใช้ร่วมกันได้ ดังนั้น ผู้ว่า กทม.ทำได้ 2 อย่างคือ ไม่กดทับอัตลักษณ์ที่แตกต่าง กับปลดปล่อยให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนอื่น

นอกจากนี้ จะเปลี่ยนเจ้าหน้าที่เทศกิจจากคนที่ไปตรวจสอบเอาผิดหาบเร่แผงลอย ให้มาสนับสนุนให้ชาวบ้านทำมาหากินได้

น.ต. ศิธา ย้ำด้วยว่า ตนเป็นอดีตข้าราชการ เข้าใจระบบงานราชการ และเป็นอดีต ส.ส.ซึ่งคลุกคลีกับชุมชนเมือง โดยเฉพาะพื้นที่คลองเตย รวมถึงเครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงเข้าใจความทุกข์ยาก โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย และต้องการสร้างสวัสดิการให้ประชาชน

ส่วนจุดเสี่ยงใน กทม. ซึ่งมีภาคประชาสังคมสำรวจแล้วพบกว่า 600 จุด แนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าเป็นความล้มเหลวของระบบราชการ ถ้าตนเป็นผู้ว่าฯ กทม.จุดเสี่ยงที่เพิ่มเข้าไม่ว่าเท่าไหร่ จะต้องลดลงตลอด ซึ่งมีการวางระบบและบุคลากรดูแลใช้งบประมาณจุดละ 10,000 บาทต่อเดือน หากมี 600 จุดก็เท่ากับ 6 ล้านบาทซึ่งความจริงสามารถจัดงบประมาณดูแลแต่ละแห่งให้มากกว่านี้ได้

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

สำหรับเรื่อง ศูนย์เด็กเล็กใน กทม. นั้น น.ต.ศิธา มองว่า เกี่ยวพันกับปากท้องของประชาชนที่เป็นพ่อแม่ จึงจะต้องบริหารให้พ่อแม่อุ่นใจว่า ลูกได้ทั้งความรู้ความปลอดภัยโภชนาการ และมีการออกกำลังกาย ส่วนผู้หญิงที่มีลูกจะต้องได้ลดเวลางาน เพื่อที่จะกลับไปดูแลลูก โดยจะนำนโยบายด้านสังคมของพรรคไทยสร้างไทย เข้ามาบรรจุใน กทม.และเสนอต่อรัฐบาลด้วย

หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะผลักดันบทบาทของสตรี ในองค์กรต่าง ๆ ให้ขึ้นมาทำหน้าที่มากยิ่งขึ้น โดยนำร่องระบบบริหารองค์กรอัตโนมัติ หรือองค์กรที่กระจายอำนาจ ให้องค์กรที่ทำงานด้านผู้หญิง เป็นผู้เสนอตัวบุคคลที่เหมาะสมเข้ามาทำงาน ซึ่งจะมีเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่ทุกคนสามารถออกความเห็น โดยที่ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขหรือบิดเบือนได้

“ผมไม่ได้ต้องการที่จะตั้งคณะทำงานของผู้ว่าฯ กทม. เพื่อจะมาสนับสนุนพรรคการเมือง ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อจะมาถอนทุน และผมไม่ต้องไปตอบแทนบุญคุณใครหรือนายทุน เพราะ พรรคไทยสร้างไทย เราทำของเรา ในระบบของเราเอง”

“ผมจะแก้ปัญหาของ กทม. ที่เป็นภูเขาน้ำแข็ง จะทลายจากข้างล่าง จะทุบหม้อข้าวของนักการเมือง ที่ทำงานเหมือนลูบหน้าปะจมูก ปากว่าตาขยิบ หรือ ทำงานแบบไก่เห็นตีนงูงูเห็นนมไก่ ผมจะทุบหม้อข้าวเหล่านี้ให้หมด ผมยืนยันว่า ผมจะทำในสิ่งที่ผู้ว่า กทม.ไม่ทำ และจะกระจายอำนาจให้ประชาชนเข้ามาร่วมบริหาร กทม.ทำให้เมืองหลวงของประเทศไทย เจริญทัดเทียมกับมหานครทั่วโลก”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo