Politics

โควิด ‘พุ่ง 5 เท่า’ ในเดือนครี่ง แม้จะตายน้อย อนุทิน ชง ศบค. ถก ‘ปรับมาตรการ’ พรุ่งนี้!

โควิด ‘พุ่ง 5 เท่า’ ในเดือนครี่ง แม้จะตายน้อย เตรียมพร้อมรับมือ หากติดเชื้อเพิ่มตามคาดการณ์ อนุทิน ชง ศบค.ถก ‘ปรับมาตรการ’ พรุ่งนี้!

วันนี้ (10 ก.พ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเสนอมาตรการรับมือโรคโควิด-19 ในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 หรือ ศบค.ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ ว่า

ศบค.

แม้จะมีการติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น แต่ สธ.มีความพร้อมด้านระบบสถานพยาบาล หรือ โรงพยาบาล (รพ.) ยาและเวชภัณฑ์ ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ โดยจะมี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. เป็นประธานบริหารสถานการณ์นี้อยู่ มีการประชุมทุกสัปดาห์ที่กรมการแพทย์ ซึ่งยังยืนยันว่าเรื่องจำนวนสถานพยาบาล ทรัพยากรที่จะนำมาใช้ดูแลผู้เจ็บป่วยโควิด-19 ก็ยังมีความพร้อมอยู่เต็มที่

“เวลาควบคุมสถานการณ์โรคระบาด บางช่วงเราก็ต้องดูเรื่องการติดเชื้อ ถ้าเชื้อยังความรุนแรงอยู่ แต่เมื่อมีการฉีดวัคซีน มีการใช้ระบบรักษาตัวที่บ้าน (HI) มีความพร้อมของสถานพยาบาลแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นโฟกัสตรงการควบคุมผู้ป่วยที่มีอาการหนัก แล้วคุมจำนวนผู้เสียชีวิตที่ปัจจุบันกว่าร้อยละ 80 คือ ผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงสูง มีโรคประจำตัวและไม่ได้รับวัคซีน ก็ต้องแก้ไข คือให้ทุกคนมารับวัคซีนจนถึงบูสเตอร์โดส นี่ก็ฉีดเกิน 20 ล้านคนแล้ว เกินครึ่งแล้ว”

ส่วนเรื่องจะมีการปรับมาตรการอย่างไรนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องหารือศบค. เพราะว่า วันนี้ติดเชื้อก็เกือบ 15,000 ราย ก็ต้องมีการพูดคุย ไม่ใช่ปล่อยไปเฉยๆ เพราะหากเทียบก่อนสิ้นปีถึงปัจจุบัน เพียง 1 เดือนครึ่ง ตัวเลขเพิ่มขึ้นมาประมาณ 5 เท่า แต่ก็อยู่ที่ว่าจะมองอย่างไร ถ้ามองว่าเพิ่มขึ้น 15,000 ราย แต่ป่วยหนักกับเสียชีวิต จำนวนคนยังเท่าเดิม เท่ากับอัตราส่วนนี้ลดลงไป 5 เท่าเหมือนกัน

ศบค.

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวถึงการติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น โดยนักวิชาการหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอาจจะเห็นถึง 4 หมื่นราย สธ.เตรียมพร้อมมาตลอด คือเตรียมสถานพยาบาล การควบคุมโรคตามมาตรการ VUCA พร้อมการเร่งรัดฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเห็นจากเข็มที่ 3 ขณะนี้เร็วมาก ฉีดแล้วกว่าร้อยละ 20 แล้ว เฉพาะวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฉีดเข็มที่ 3 ถึง 400,000 โดส

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนทุกคนในมาตรการ Universal Prevention แต่อาจจะมีบางกลุ่มที่ขาดความรับผิดชอบบ้าง ไปกินดื่มสุราแล้วเกิดคลัสเตอร์ ซึ่งก็ต้องขอความร่วมมืออย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม มาตรการ COVID-19 Free Setting ในสถานประกอบการก็มีเพิ่มขึ้น หากทำได้มากขึ้น ก็จะช่วยให้สถานที่นั้นเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย สุดท้ายก็การตรวจ ATK เป็นระยะ ซึ่งตอนนี้ในตลาดมีมากเพียงพอ ดังนั้น ถ้าเราช่วยกันดำเนินมาตรการตรงนี้ตัวเลขการติดเชื้อก็จะไม่เพิ่มสูงมาก

เมื่อถามถึงการรายงานผลของ สธ.จะมีการปรับให้เหลือเพียงตัวเลขป่วยรักษา โดยจะไม่รายงานติดเชื้อใหม่หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า หากเราจะดำเนินการให้โควิด-19 เข้าไปอยู่ในโรคประจำถิ่น การรายงานการติดเชื้อก็ไม่มีความจำเป็น แล้วเราก็มาดูตัวเลขป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันจำนวนไม่ได้เพิ่มขึ้น จากที่เราเคยมีผู้ป่วยหนักโรคปอดอักเสบถึงวันละ 6,000 ราย เข้าห้อง ICU ประมาณ 1,200 ราย

ศบค.

ตอนนี้เรามีผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจอยู่เพียง 110 คน ต่ำกว่าสมัยก่อนถึง 10 เท่า เช่นเดียวกับผู้ป่วยปอดอักเสบ 500 กว่าคนต่ำกว่าสมัยก่อน 10 เท่าเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่า สธ.มีระบบรองรับ เตียงใน รพ.เราเหลืออยู่กว่าร้อยละ 70 อย่างไรแล้ว

ประชาชนที่ไม่มีอาการขอให้เข้าระบบรักษาที่บ้าน (HI) ขณะนี้ก็พบปัญหาอยู่บ้าง เช่น คนที่นอนในคอนโดมิเนียมนิติบุคคลก็บอกว่ามีเชื้อ แต่จริงๆ หากเราระวังโอกาสติดจะน้อยมาก เมื่อก่อนมีคนติดเชื้อยู่ในบ้าน เมื่อไม่รู้ก็มีการติดในบ้าน แต่ถ้าคนในบ้านรู้แล้วเข้าระบบ HI ตามที่เราทำมากว่า 1 แสนราย ก็พบว่าไม่มีใครติดเชื้อจากตรงนี้

ปลัด สธ. กล่าวว่า ตัวเลขพบว่าผู้ที่มีอาการรุนแรงลดลง เหลือประมาณร้อยละ 3-4 เท่านั้นเอง เสียชีวิตต่ำกว่า ร้อยละ 0.2 และยังเกี่ยวข้องกับช่วงอายุ เมื่อเช้าเราพบว่าช่วงอายุก่อน 60 ปี เสียชีวิตต่ำกว่า ร้อยละ 0.1 ถ้าเกิน 60 ปีขึ้นไป ก็จะสูงขึ้นตามช่วงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 70 กว่าปีขึ้นไปก็จะเสียชีวิตมาก

ฉะนั้น อยากให้ลูกหลานช่วยกันพาคนที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ร่วมใจกันฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกัน แม้ป้องกันการติดไม่ได้ 100% แต่ป้องกันการป่วยหนักและการตายได้ ร้อยละ 98-99 อย่างไรก็ตาม ในการประชุม ศบค. วันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ ก็อาจจะคุยกันเรื่องการปรับรายงานตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะเปลี่ยนให้เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งที่ผ่านมา เราก็ได้ปรับกันต่อเนื่อง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo