Politics

สปสช. ปรับแนวจ่ายค่าบริการ ‘ดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน’ รับมือโอไมครอน

สปสช. เตรียมพร้อม “ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน” หลังพบมีผู้ติดโอไมครอนเพิ่มต่อเนื่อง ปรับแนวทางเบิกจ่ายค่าบริการ พัฒนาระบบพิสูจน์ตัวตน  ยันการรับบริการโดยผู้ติดเชื้อร่วมทำแบบประเมินในระบบ LINE OA @nhso ลดขั้นตอนการโทรตรวจสอบ เบิกจ่ายค่าบริการรวดเร็วขึ้น พร้อมชวนหน่วยบริการ

สปสช. ปรับแนวจ่ายค่าบริการ ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในประเทศไทยที่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากข้อมูลสายพันธุ์โอไมครอน ที่มีรายงานการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว อาจส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นกระจายไปในหลายพื้นที่ได้ สปสช. ได้จัดเตรียมระบบการเบิกจ่ายงบประมาณเตรียมพร้อม “ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน” (Home Isolation : HI) เพื่อรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น

สปสช.

ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยบริการร่วมระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านเพิ่มขึ้น สปสช.ได้ปรับปรุงแนวทางการจ่ายชดเชยค่าบริการเพื่อให้เกิดการสนับสนุนการบริการที่เหมาะสม รวมถึงการเบิกจ่ายที่รวดเร็วขึ้น

ประเด็นการจ่ายชดเชยบริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านที่มีการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ค่าบริการเหมาจ่ายล่วงหน้า ปรับเป็นจำนวน 1,000 บาท โอนให้หน่วยบริการทุกสัปดาห์  ในระหว่างการดูแลผู้ป่วย หน่วยบริการสามารถเบิกค่าดูแลเพิ่มเติมตามรายการ ดังนี้

สปสช.

1. RT-PCR มีค่าตรวจ Lab 1,000-1,200 บาท/ครั้ง, ค่าอื่นๆในห้อง Lab 200 บาท/ครั้ง และค่าเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ 100 บาท / ครั้ง
2. ค่าดูแลการให้บริการผู้ป่วย แบบไม่รวมค่าอาหารจ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 600 บาทต่อวัน และแบบรวมค่าอาหาร 3 มื้อ เหมาจ่าย ใน 1,000 บาทต่อวัน
3. ค่าอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วย ได้แก่ ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล เครื่องวัด Oxygen Sat ตามรายการที่ใช้จริง ไม่เกินจำนวน 1,100 บาทต่อราย
4. ค่ายาที่เป็นการรักษาเฉพาะ โรคติดเชื้อโควิด-19 จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาทต่อราย
5. ค่ารถส่งต่อ จ่ายตามจริงตามระยะทาง รวมค่าทำความสะอาด 1,400 บาท
6. ค่า chest X-ray (การเอกซเรย์ปอด) จ่ายในอัตรา 100 บาทต่อครั้ง
7. ค่าออกซิเจน จ่ายในอัตรา 450 บาทต่อวัน

สปสช. รับมือโอไมครอน

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ส่วนขั้นตอนการเบิกจ่าย ตามที่ สปสช.ได้วางระบบตรวจสอบ 100% ก่อนเบิกจ่ายให้หน่วยบริการ แต่มีการทักท้วงถึงความล่าช้าในการเบิกจ่าย เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สปสช.จึงปรับระบบการตรวจสอบโดยใช้วิธียืนยันพิสูจน์ตัวตนผู้ติดเชื้อที่เข้ารับบริการ HI ผ่าน LINE OA : @nhso เบื้องต้นหน่วยบริการจะได้รับค่าบริการเหมาจ่าย 1,000 บาท

ภายหลังจากผู้ติดเชื้อได้รับบริการ ก่อนจำหน่ายออกจากการดูแลในระบบ HI หน่วยบริการเพียงให้ผู้ติดเชื้อทำแบบประเมิน “การติดตามผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในระบบดูแลที่บ้าน” ในระบบ LINE OA @nhso   สปสช. ได้เชื่อมโยงกับระบบบันทึกข้อมูลและประมวลผลข้อมูลการบริการทางการแพทย์ (e-Claim) เมื่อผู้ติดเชื้อตอบคำถามแบบประเมินนี้ครบถ้วนก็จะถือเป็นหลักฐานการรับบริการเพื่อเบิกจ่ายค่าบริการ ทำให้การเบิกค่าบริการรวดเร็วขึ้น โดย สปสช. ไม่ต้องตรวจสอบยืนยันโดยโทรหาผู้ติดเชื้อที่เข้ารับบริการ ที่ผ่านมามีส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถติดต่อได้ ทั้งยังช่วยลดปัญหาการส่งเอกสารทักท้วงของหน่วยบริการ

สปสช.

“การทำแบบประเมินการเข้ารับบริการในระบบ HI โดยผู้ติดเชื้อเอง จะเป็นการเพิ่มความสะดวกในการเบิกจ่ายค่าบริการให้กับหน่วยบริการ และได้รับค่าบริการที่รวดเร็วขึ้น  ที่ผ่านมาติดที่ขั้นตอนที่ สปสช. ต้องโทรตรวจสอบยืนยันการเข้ารับบริการกับผู้ติดเชื้อก่อน มีหลายรายที่มีปัญหาไม่สามารถติดต่อได้ ทำให้ไม่สามารถเบิกจ่าย” นพ.จเด็จ กล่าว

นอกจากนี้ สปสช. ได้จัดระบบสายด่วน สปสช. 1330 กด 14 เป็นจุดประสานงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้เข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้านหรือ Home Isolation รวมถึงการจัดระบบประสานงานส่งต่อผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการหากมีอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งได้จัดระบบคู่สายและเพิ่มจำนวนจาก 120 คู่สายในปี 2563 เป็น 3,000 คู่สายในปัจจุบัน เพื่อให้เพียงพอกับการให้บริการประชาชน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight