Politics

‘หมอธีระ’ เผยยอดโควิดทั่วโลกทะลุ 156 ล้าน ย้ำศึกนี้ยาว!!

“หมอธีระ” เผยยอดโควิดทั่วโลกวันนี้อยู่ที่ 156,665,053 คน เสียชีวิตรวม 3,268,860 คน ชี้สถานการณ์ระบาดของไทยเรารุนแรงต่อเนื่อง กระจายไปทั่ว ย้ำว่าศึกนี้ยาว!

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat รายงาน ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้ โดยระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 7 พฤษภาคม 2564… ทะลุ 156 ล้านไปแล้ว ในขณะที่อินเดียทำลายสถิติอย่างต่อเนื่อง วันเดียวติดเพิ่มกว่าสี่แสนหนึ่งหมื่นสี่พันคน ส่วนบราซิลมียอดติดเชื้อรวมเกิน 15 ล้านแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มถึง 862,001 คน รวมแล้วตอนนี้ 156,665,053 คน ตายเพิ่มอีก 14,089 คน ยอดตายรวม 3,268,860 คน

5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อินเดีย บราซิล อเมริกา อาร์เจนติน่า และตุรกี

  • อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 43,787 คน รวม 33,365,160 คน ตายเพิ่ม 824 คน ยอดเสียชีวิตรวม 593,972 คน อัตราตาย 1.8%
  • อินเดีย ติดเพิ่มมากถึง 414,433 คน รวม 21,485,285 คน ตายเพิ่ม 3,920 คน ยอดเสียชีวิตรวม 234,071 คน อัตราตาย 1.1%
  • บราซิล ติดเพิ่ม 67,099 คน รวม 15,003,563 คน ตายเพิ่มถึง 2,304 คน ยอดเสียชีวิตรวม 416,949 คน อัตราตาย 2.8%

หมอธีระ

  • ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 21,712 คน ยอดรวม 5,728,090 คน ตายเพิ่ม 219 คน ยอดเสียชีวิตรวม 105,850 คน อัตราตาย 1.8%
  • ตุรกี ติดเพิ่ม 22,388 คน รวม 4,977,982 คน ตายเพิ่ม 304 คน ยอดเสียชีวิตรวม 42,187 คน อัตราตาย 0.8%
  • อันดับ 6-10 เป็น รัสเซีย สหราชอาณาจักร อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักพันถึงหลักหมื่นต่อวัน
  • แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงบังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เนปาล ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
  • เนปาลตอนนี้ระบาดรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาถึงเกือบสามสัปดาห์แล้ว ล่าสุดติดเพิ่มวันละเกือบเก้าพันคน ตายวันละกว่าห้าสิบคน
  • แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง อยู่ระดับหลักร้อยถึงพันกว่า หลายประเทศกดลงมาอยู่หลักร้อย ยกเว้นลิธัวเนีย คาซักสถาน ยูเครน ที่ยังหลักพัน
  • แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง
  • เกาหลีใต้ และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อยถึงเกือบพัน ส่วนเวียดนาม ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่จีน นิวซีแลนด์ และฮ่องกงติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

…ตอนนี้ดูแนวโน้มการติดเชื้อทั่วโลกจะทรงตัวอยู่ระดับแปดแสนกว่าต่อวัน และน่าจะพ้นจุดพีคของระลอกนี้แล้ว แต่จะลดลงได้เร็วหรือไม่ ปะทุกลับซ้ำหรือไม่นั้นคงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผ่อนคลายมาตรการ การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ ชนิดของวัคซีนที่ใช้และความครอบคลุม และอื่น ๆ ทั้งนี้คงต้องติดตามกันต่อไป

…ช่วงนี้งานวิจัยที่น่าสนใจตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง mRNA vaccines ซึ่งดูจะมีประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดของโรคได้ดี และดูจะไม่มีปัญหากับผลต่อไวรัสกลายพันธุ์บางสายพันธุ์ที่กังวลมาก่อนหน้านี้

สำหรับเรื่องภูมิคุ้มกันหลังติดเชื้อโควิด-19 ว่าจะอยู่ได้นานเพียงใดนั้น ทาง Laing ED และคณะ จากอเมริกา เผยแพร่งานวิจัยใน MedRxiv เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่าสามารถตรวจพบระดับภูมิคุ้มกันในผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน ได้ถึงราว 12 เดือน ทั้งนี้พบว่าคนสูงอายุ (อายุมากกว่า 65 ปี) หรือคนที่เคยป่วยหนัก มักจะมีแนวโน้มจะมีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงกว่า อย่างไรก็ตามนี่เป็นการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่ไม่มากนัก และยังไม่ได้มีการ peer review

บทความวิชาการอีกชิ้นหนึ่งที่เขียนได้ดีมาก และควรลองไปอ่านกันคือ การรีวิวความรู้ปัจจุบันเกี่ยวกับพยาธิสรีรวิทยาของการติดเชื้อโควิด-19 หรือพูดง่าย ๆ คือ พอติดเชื้อไปแล้ว ไวรัสทำให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกายคนอย่างไรบ้าง Osuchowski MF และทีมจากหลายประเทศในยุโรปได้ทำการทบทวนมา และเผยแพร่ใน The Lancet เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2021 เหมาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่สนใจ จะทำให้เข้าใจธรรมชาติของโรค และระมัดระวังตัวได้อย่างเหมาะสม

จากที่ขลุกกับเรื่องโควิด-19 มาตลอดตั้งแต่เริ่มการระบาดระลอกแรกจนถึงบัดนี้ ต้องบอกกันตรงๆ ว่า “การอ่าน”จากแหล่งข้อมูลความรู้ต้นฉบับนั้นมีความสำคัญที่สุด เพราะข้อมูลข่าวสารที่แพร่กระจายในปัจจุบันมีมากมาย และมีโอกาสสูงที่จะได้รับการบิด ปรับ เปลี่ยน หรือตัดทอน จนทำให้คลาดเคลื่อนไปจาก “ความรู้จริง”

หลายครั้งเห็นชัดเจนว่า สิ่งที่บางคนหรือหลายคนเชื่อ หรือนำไปใช้นั้น ไม่ตรงกับความรู้จริงที่มี ก็จะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่างๆ ทั้งต่อระดับบุคคลหรือสังคมได้

ต่อให้อายุน้อย อายุมาก มีตำแหน่งสูงหรือไม่สูง จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือประชาชนทั่วไปก็ตาม สำหรับเรื่องโควิด-19 แล้วถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน ดังนั้นการอ่านเพื่อให้มีความรู้จริงจึงสำคัญมาก

ความรู้จริงและลึกซึ้งนั้น จะทำให้เรามีสมรรถนะในการตัดสินใจอย่างถูกต้อง เลือกประพฤติปฏิบัติอย่างเหมาะสม และนำไปวางแผนเพื่อจัดการสิ่งต่าง ๆ ทั้งส่วนตัวและส่วนรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมวงกว้าง

สถานการณ์ระบาดของไทยเราขณะนี้ยังรุนแรงต่อเนื่อง กระจายไปทั่ว

ย้ำว่าศึกนี้ยาว และขอให้เราทุกคนมีกำลังกายกำลังใจในการร่วมด้วยช่วยกันสู้ต่อไป ใช้ความรู้จริงเป็นแสงส่องทาง ช่วยให้เข้าใจปัญหา เกิดปัญญา หาทางแก้ไขปัญหาตามหลักเหตุและผล และช่วยเหลือแบ่งปันคนตกทุกข์ได้ยากในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่

ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า ปิดปากปิดจมูกให้ดี

พกเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัวเสมอ ล้างมือบ่อยๆ หลังสัมผัสสิ่งของสาธารณะ

อยู่ห่างคนอื่นอย่างน้อยหนึ่งเมตร

ระวังสุขาสาธารณะ ปิดฝาก่อนกดชักโครก ล้างมือทุกครั้ง และใส่หน้ากากเสมอเวลาใช้สุขา

งดตะลอนท่องเที่ยวหรือพบปะสังสรรค์ ไม่ว่าจะกับเพื่อนฝูง ลูกค้า หรือญาติสนิทก็ตาม

คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย ควรแยกตัวจากสมาชิกในครัวเรือน หยุดงาน แล้วรีบไปตรวจรักษา

ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสถานที่เสี่ยง หรือเคสที่ติดเชื้อ หากเรามีประวัติเสี่ยง ควรสังเกตอาการ และรีบไปตรวจที่จุดบริการตรวจฟรีที่รัฐเค้าจัดให้

ประเทศไทยต้องทำได้

ด้วยรักและห่วงใย

อ้างอิง
1. Laing ED et al. SARS-CoV-2 antibodies remain detectable 12 months after infection and antibody magnitude is associated with age and COVID-19 severity. MedRxiv. 2 May 2021.
2. Osuchowski MF et al. The COVID-19 puzzle: deciphering pathophysiology and phenotypes of a new disease entity. The Lancet. 6 May 2021.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK