Politics

ครม.ไฟเขียวขยายเวลา ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ ถึง 28 ก.พ. สกัดโควิด!

ขยายเวลา พ.ร.ก. ฉุกเฉิน รอบใหม่! จากเดิมหมดอายุ 15 มกราคม เป็น 16 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกัน “โควิด” ระลอกใหม่

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี มีมติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอขยายระยะเวลา การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2564 จากเดิมครบกำหนดในวันที่ 15 มกราคม 2564 เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐ มีอำนาจในการปฏิบัติงาน กำหนดมาตรการป้องกันควบคุมโรค และมาตรการทางสังคมที่เข้มข้น รวดเร็วยิ่งขึ้น

ขยายเวลา พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ การ ขยายเวลา พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อบริหารจัดการตามมาตรการด้านสาธารณสุข ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นในการกำกับดูแลระบบสาธารณสุขของประเทศ และ ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ด้วยการบูรณาการกำลังทั้ง พลเรือน ตำรวจ และทหารเข้าร่วมปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอ

นายอนุชา กล่าวว่า ปัจจุบัน “โควิด” เกิดการระบาดระลอกใหม่ภายในประเทศเป็นวงกว้าง และกระจายไปในหลายเขตพื้นที่ทั่วประเทศ พบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวัน ทั้งจากคนไทย และแรงงานต่างด้าว รวมทั้งยังมีการเดินทางของผู้ติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่ ยังไม่ปรากฏอาการของโรค ทำให้มีการแพร่เชื้อโรคออกไป ในลักษณะที่เป็นกลุ่มก้อน และอาจมีผู้เสียชีวิตเพิ่มในกลุ่มผู้ป่วยหนัก

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีผู้ติดเชื้อบางส่วนปกปิดข้อมูลการเดินทาง ทำให้ขั้นตอนการสอบสวนโรคเกิดความล่าช้า และ เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน จนส่งผลให้เกิดเป็นการระบาดระลอกใหม่ขึ้นเป็นวงกว้างทั่วประเทศ

ขยายเวลา พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรการในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ว่า มีประชาชนบางส่วน เกิดความสับสนกับคำสั่งต่าง ๆ ในการปฎิบัติตน จึงขอชี้แจงว่า มาตรการจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เป็นมาตรการจากส่วนกลาง แต่ได้ให้อำนาจของแต่ละจังหวัด พิจารณาเพิ่มเติมความเข้มงวดต่าง ๆ

ซึ่ง ศบค. ได้ชี้แจงว่า ถ้ามาตรการใด ๆ ที่เข้มงวดกว่ามาตรการของ ศบค. ก็ให้ยึดมาตรการที่เข้มงวดนั้น เป็นหลักในการดำเนินการ แต่ถ้าในส่วนของจังหวัด มีมาตรการที่หย่อนยานกว่าของ ศบค. ก็ให้ใช้มาตรการของ ศบค. เป็นหลัก พร้อมขอให้ประชาชนติดตามมาตรการของแต่ละจังหวัด ที่จะมีการพิจารณาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

ส่วนพื้นที่ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ที่จะมีการควบคุมเพิ่มเติมนั้น ถือเป็นมาตรการเข้มงวดในส่วนของจังหวัดที่เพิ่มมากขึ้นกว่ามาตรการของ ศบค. โดยวันนี้ (5ม.ค.) ได้หารือกัน และ จะให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ไปพิจารณาออกคำสั่งให้ชัดเจนต่อไป

นายอนุชา กล่าวถึงโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งขณะนี้มีประชาชนหลายคน มีความต้องการยกเลิก หรือเลื่อนการเข้าพักตามโรงแรม และ สถานที่ต่าง ๆ โดยทางกระทรวงการคลังได้เจรจา กับสมาคมผู้ประกอบการโรงแรมไทย ให้พิจารณาเรื่องการคืนเงิน ให้ประชาชนที่จองไปก่อนหน้านี้ รวมถึงการเลื่อนการเข้าพัก ให้สามารถดำเนินการโดยง่าย

ส่วนของระบบที่ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดูแล ก็ได้ให้ปรับระบบบางส่วน ไม่ให้มีปัญหาในการเข้าระบบ ทั้งแอพลิเคชัน และเว็บไซด์ เพื่อให้สามารถรองรับการดำเนินการต่างๆได้

นายอนุชา กล่าวถึงการที่ประชาชนมีความกังวลว่า ผู้เข้าร่วมโครงการ “คนละครึ่ง” รวมถึงโครงการอื่น ๆ ของรัฐ จะต้องเสียภาษีนั้น กระทรวงการคลัง ยืนยันว่า จะไม่มีการนำมาคิดเป็นภาษีรายได้ และ ขอให้ทุกคนคลายความกังวล

ส่วนมาตรการการเยียวยาประชาชนในอนาคต นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ให้เร่งหา มาตรการมาช่วยเหลือประชาชน ในช่วงที่เกิดวิกฤติ ซึ่งเริ่มมีบางกระทรวง ออกมาตรการมาแล้ว อย่างกระทรวงแรงงาน ที่ให้ลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ของทั้งผู้ประกันตน และ นายจ้าง มาตรการชดเชยรายได้ให้กับผู้ประกัน ผู้ที่ว่างงานจากพิษโควิด 50% ของรายได้ต่อวัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo