Economics

ครม.รับทราบภาวะเศรษฐกิจไทย คาดใช้เวลาฟื้นตัวไม่น้อยกว่า 2 ปี

“รองโฆษกรัฐบาล” เผย “ครม.” รับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2563 คาดปีนี้ขยายตัว 3.6% ด้าน “กนง.” มองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานภาวะ และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ของกระทรวงการคลัง ที่ระบุว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังการผ่อนปรนมาตรการควบคุม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ การบริโภคภาคเอกชนเริ่มทยอยฟื้นตัว แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำตามรายได้ครัวเรือนที่ลดลง

ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อ่อนแอ และหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น การลงทุนภาคเอกชนหดตัวตามความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำ แต่การใช้จ่ายภาครัฐ ยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ

ทั้งนี้ สำหรับเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2563 กระทรวงการคลัง มองว่า มีแนวโน้มหดตัว 7.8% เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ได้รับผลกระทบรุนแรง จากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวดทั้งใน และต่างประเทศ การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ

ไตรศุลี5164

ในส่วนของการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัว 8.2% โดยการส่งออกไปอาเซียนและตะวันออกกลางยังอยู่ในระดับต่ำตามแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่การส่งออกไปกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักและจีนเริ่มทยอยฟื้นตัว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัว 3.6% คาดว่า การส่งออกจะกลับมาขยายตัวที่ 4.5% ขณะที่การส่งออกบริการมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เนื่องจาก คาดว่า จะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้จำกัด จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 9 ล้านคน

ด้านอุปสงค์ในประเทศการใช้จ่ายภาครัฐ ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ในส่วนการบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยฉุดรั้งจากหนี้ครัวเรือนสูง รวมถึงรายได้ครัวเรือนที่เปราะบาง และไม่แน่นอนสูง โดยมีสาเหตุมาจากปริมาณผู้ว่างงาน และเสมือนผู้ว่างงานที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันอยู่ในระดับสูง และผู้มีงานทำมีรายได้ลดลงจากค่าจ้างและค่าล่วงเวลาที่ลดลง

ขณะที่เสถียรภาพระบบการเงินไทย ยังมีความเสี่ยงสูง ตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวมากจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ฐานะทางการเงิน ของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเปราะบาง และมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

อย่างไรก็ตาม มาตรการด้านการเงิน และสินเชื่อเชิงรุกของภาครัฐที่ได้ดำเนินการไป รวมถึงมาตรการเพิ่มเติมที่ตรงจุดมากขึ้น เช่น โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจธุรกิจไทยมั่นคง และมาตรการการปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้รายย่อยโดยการรวมหนี้ จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ถึงจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่แตกต่างกันมาก ระหว่างภาคเศรษฐกิจและผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม ภาครัฐจึงควรใช้มาตรการที่ตรงจุด ทันการ เอื้อให้เกิดการปรับตัวอย่างเหมาะสม รวมทั้งบูรณาการมาตรการให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกันมากขึ้น

ทั้งนี้ นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนนโยบายการคลังผ่านต้นทุนการกู้ยืมในตลาดการเงินที่อยู่ในระดับต่ำภายใต้สภาพคล่องในตลาดการเงินที่มีอยู่สูง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo