Politics

เปิดปม ‘คดีพักบ้านหลวง’ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ชะตา ‘บิ๊กตู่’ พรุ่งนี้!

 

ในวันพรุ่งนี้ (2 ธ.ค.)  มีเหตุการณ์สำคัญที่ต้องจับตาว่า จะเป็นจุดพลิกผันทางการเมืองไทยอีกครั้งหรือไม่ จากการที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ ก่อนอ่านคำวินิจฉัยให้คู่ความฟังในเวลา 15.00 น.ว่า ความเป็น “นายกรัฐมนตรี” ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสิ้นสุดลงหรือไม่ จากกรณีที่ยังพักอาศัยในบ้านพักของข้าราชการทหาร ทั้งที่เกษียณอายุมาแล้ว 6 ปี หรือที่รู้จักในชื่อ ” คดีพักบ้านหลวง ” 

เส้นทาง ‘คดีพักบ้านหลวง’

การขุดคุ้ยเรื่องที่อยู่อาศัยของ พล.อ. ประยุทธ์ ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถ.วิภาวดีรังสิต เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ระหว่างฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรวม 6 คน เมื่อช่วงต้นปีนี้ แม้ผู้ถูกซักฟอกจะกำชัยชนะกลางสภาด้วยมติ “ไว้วางใจ” อย่างท้วมท้น แต่ฝ่ายค้านก็ยังไม่ยอมแพ้  เร่งเดินเกมการเมืองนอกสภา คดีพักบ้านหลวง ต่อทันควัน

bbc

  • 25-27 กุมภาพันธ์ 2563

ระหว่างเปิดศึกซักฟอกรัฐบาล นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ได้เปิดประเด็นกล่าวหา พล.อ. ประยุทธ์ ว่า จงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ว่าด้วยการขัดกันของผลประโยชน์ เนื่องจากยัง พักในบ้านพักทหาร โดยไม่จ่ายค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ทั้งที่เกษียณอายุราชการ จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ไปตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557  ถือเป็นการรับประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ในลักษณะที่ร้ายแรง

อีกทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ รับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาท โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ร่วมอภิปรายสนับสนุนว่า นายกรัฐมนตรีไม่สามารถอยู่บ้านหลวงต่อ โดยอ้างเหตุความปลอดภัยได้

  •  9 มีนาคม 2563

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภา พร้อม ส.ส.ฝ่ายค้านรวม 56 คน ได้ร่วมลงชื่อ ยื่นคำร้องผ่านประธานสภา เพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ จากกรณีพักอาศัยในบ้านหลวง

  • 10 มีนาคม 2563

นายชวน หลีกภัย ประธานสภา เปิดเผยว่าได้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยแล้ว

  • 11 มิถุนายน 2563 

ศาลรัฐธรรมนูญทำหนังสือแจ้งคู่ความว่า มีคำสั่งรับคำร้อง คดีพักบ้านหลวง ไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาล

ต่อมา กองทัพบก (ทบ.) ได้ส่งเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวให้ พล.อ. ประยุทธ์ ไปยังศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 2 ครั้ง  เอกสารดังกล่าวลงนามโดย “ผบ.ทบ. 2 ยุค” ทั้ง พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ และสำทับอีกครั้งโดย พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้

  • 4 พฤศจิกายน 2563 

ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่า ศาลได้ประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า คดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน และกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในวันที่ 2 ธันวาคม เวลา 15.00 น.

1581598006 4

ข้อกล่าวหาของฝ่ายค้าน

การอยู่บ้านหลวง ของนายกรัฐมนตรีวัย 66 ปี ถูกฝ่ายค้านตีความว่าเป็นการ “รับประโยชน์อื่นใด” และชี้ชวนให้สังคมเห็นว่า นี่คือเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายและกฎระเบียบอย่างน้อย 3 ฉบับ

  • จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560

มาตรา 184 และมาตรา 186 ของรัฐธรรมนูญ ห้าม ส.ส. ส.ว. หรือรัฐมนตรีรับเงิน หรือ “ประโยชน์ใด ๆ” จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกจากที่หน่วยงานเหล่านั้นปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานปกติ

  • ผิดกฎหมาย ป.ป.ช. ปี 2561

มาตรา 128 ของ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับทรัพย์สิน หรือ “ประโยชน์อื่นใด” ที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท

  • ขัดมาตรฐานจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองปี 2561

ข้อ 9 ของมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ (ซึ่งใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย) ระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือ “ประโยชน์อื่นใด” ในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคเพื่อไทย มองแง่มุมกฎหมายแล้วฟันธงว่า “พล.อ. ประยุทธ์ หาทางออกยาก”

คดีพักบ้านหลวง
พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์

ข้อต่อสู้-คำแก้ต่างของฝ่าย พล.อ. ประยุทธ์

ข้อกฎหมายที่ ทบ. งัดขึ้นมาช่วยชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาให้ พล.อ. ประยุทธ์ คือระเบียบภายในของ ทบ. อย่างน้อย 2 ฉบับ

ฉบับแรก ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรอง ปี 2548 ลงนามโดย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผบ.ทบ. ขณะนั้น

ฉบับที่สอง ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคารบ้านพักของข้าราชการ และลูกจ้างประจำในกองทัพบก ปี 2553 ลงนามโดย พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ขณะนั้น

ขณะที่ หนังสือที่ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 28 กันยายน 2563 สาระสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า ทบ. ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลอดีตผู้บังคับบัญชาที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น องคมนตรี ครม. ส.ส. ส.ว. จึงจัดให้มีบ้านพักรับรองในพื้นที่ของ ทบ. เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวก ในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในยามปกติ และในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่ต้องการความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา และเพื่อให้สามารถดำรงสถานะทางสังคมได้อย่างสมเกียรติและมีศักดิ์ศรี

สำหรับผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัย ต้องเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของ ทบ. หรืออดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของ ทบ. ซึ่งยังคงทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. มาแล้ว

“พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นบุคคลสำคัญระดับประเทศ และเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของ ทบ. ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติและ ทบ. หากพักอยู่นอกเขตทหาร จะทำให้เกิดความยากลำบากในการรักษาความปลอดภัย จึงอนุมัติให้เข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองของ ทบ. รวมถึงให้การรักษาความปลอดภัย และการสนับสนุนอื่น ๆ ในฐานะบุคคลสำคัญของประเทศ”

นักการเมืองระดับกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์กับบีบีซีไทยตรงกันว่า “ไม่มีอะไรตื่นเต้น” และ “ไม่รู้สึกกังวลใจ” เกี่ยวกับคำตัดสินคดีนี้ เพราะ “นายกฯ เข้าข้อยกเว้น”

พล.อ. ประยุทธ์ และครอบครัวเข้าพักอาศัยในบ้านหลังนี้ ตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. เมื่อปี 2555 จนถึงปัจจุบัน

คดีพักบ้านหลวง

สิ่งที่ฝ่าย พล.อ. ประยุทธ์ ต้องพิสูจน์ต่อศาลคือ มีการเปลี่ยนแปลงใช้ประโยชน์บ้านหลังดังกล่าวจาก “บ้านพักสวัสดิการ” (ตามระเบียบปี 2553) เป็น “บ้านพักรับรอง” (ตามระเบียบปี 2548) เมื่อไร และอย่างไร เพื่อให้สอดรับ กับเอกสารชี้แจงที่ พล.อ. อภิรัชต์ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าบ้านหลังดังกล่าวยังอยู่ในฐานะ “บ้านพักสวัสดิการ” สิทธิพักอาศัยของ พล.อ. ประยุทธ์ และบริวารก็จะหมดลงตั้งแต่เกษียณอายุราชการ

หากการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ เป็นไปในทางลบ พล.อ. ประยุทธ์ต้องเผชิญวิบากกรรมทางกฎหมายอย่างหลากหลาย ตามแต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้

  • หากศาลชี้ว่าฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ

พล.อ. ประยุทธ์ต้องพ้นตำแหน่งนายกฯ ทันที (ตามมาตรา 160, 170 ของรัฐธรรมนูญ) ส่งผลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องหลุดจากเก้าอี้ยกคณะ (ตามมาตรา 167 ของรัฐธรรมนูญ) ทว่าพวกเขายังต้องอยู่ทำหน้าที่ “รัฐบาลรักษาการ” ต่อไปในระหว่างรอรัฐบาลชุดใหม่

จากนั้นรัฐสภาต้องร่วมกันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จากบัญชีผู้ท้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่เหลืออยู่ นั่นหมายความว่า ส.ว. ยังมีส่วนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีดังเดิมตามบทเฉพาะกาล เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ยังไม่ถูกแก้ไข

แต่อาจไม่สามารถโหวตเลือก พล.อ. ประยุทธ์ให้หวนคืนอำนาจได้อีก หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า กระทำการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งจะส่งผลให้เขาต้อง “เว้นวรรคการเมือง” 2 ปี ตามมาตรา 186 (8) ของรัฐธรรมนูญ

  • หากศาลชี้ว่าฝ่าฝืน พ.ร.บ.ป.ป.ช.

พล.อ. ประยุทธ์ อาจต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 169 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช.  ซึ่งขณะนี้มีคดีคา ป.ป.ช. อยู่แล้ว หลังจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เข้ายื่นเรื่องให้ตรวจสอบ พล.อ. ประยุทธ์ พร้อมบรรดานายพลและนายพันนับร้อยคนที่พักอาศัยในบ้านหลวง ว่าเข้าข่ายรับทรัพย์สินเกิน 3,000 บาทหรือไม่

  • หากศาลชี้ว่าฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯ

ฝ่ายค้านอาจเดินเกมต่อเพื่อนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากศาลฎีกาชี้ว่าผิดจริง พล.อ. ประยุทธ์ ก็จะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และห้ามลงสมัคร ส.ส. ตลอดชีวิต ตามมาตรา 235 ของรัฐธรรมนูญ

ที่มา : บีบีซี ไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo