เวทีฝ่ายค้าน ชี้ เศรษฐกิจไทยติดลบหนักช่วง “ประยุทธ์” ยึดอำนาจ ถลุงเงินมากถึง 20 ล้านล้านบาท แนะเร่งกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้มีการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจให้หมุนเวียน เลิกซื้อเรือดำน้ำ สร้างความยืดหยุ่น ให้ภาคธุรกิจส่งเสริมลงทุนภาคอุตสาหกรรม
วันนี้ (26 ก.ย.) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้จัดเวทีเสวนา “ฝ่ายค้านรับฟัง 4 กลุ่มเปราะบางจากวิกฤติโควิด” เวทีที่ 4 : ความเดือดร้อนภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก ขึ้นที่จังหวัดชลบุรี โดยมีตัวแทนของแต่ละพรรคการเมืองฝ่ายค้านเข้าร่วมด้วย
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยใน 5-6 ปีที่ผ่านมาไม่โต และหาเงินไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจหยุดนิ่ง โดยขณะนี้มีอัตราว่างงานถึง 11.8 ล้านคน หนี้เสียจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ธนาคารกำไรลดลง ซึ่งรัฐบาลต้องเลิกโกหกว่า ประเทศไทยดีกว่าประเทศอื่น
สำหรับแนวทางที่จะเสนอรัฐบาล คือ ต้องเร่งสร้างความมั่นใจ พ.ร.ก.ซอฟต์โลนต้องทำให้เกิดการจ้างงาน ต้องหารายได้เพิ่มนอกจากเงินภาษี ถ้าแจกเงินอย่างเดียวเศรษฐกิจจะไม่โต โดยเฉพาะพื้นที่ไทยทับซ้อนกับกัมพูชา มีพื้นที่ก๊าซอยู่ อีกทั้งต้องมีการปรับงบประมาณ โดยเฉพาะงบประมาณของทหาร ต้องเลิกซื้อเรือดำน้ำ
ทางด้าน น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า ภาคตะวันออกเป็นหัวหอกทางเศรษฐกิจ จังหวัดชลบุรี มีระบบอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศ มีการจ้างงาน 3.2 ล้านคน เพราะมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม
คณะทำงานติดตามการส่งออก ของพรรคก้าวไกล พบว่า ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 การส่งออกซึมยาวกกว่าที่ผ่านมา เศรษฐกิจติดลบ ส่วนภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกนั้น ไทยอาศัยตลาดจีน แต่จีนเจอสถานการณ์โควิดหนักหน่วง และยังฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกด้วย สถานการณ์ทั่วโลกก็ยังไม่สามารถควบคุมได้
ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคมสูงวัย ก็เป็นอุปสรรคในภาคอุตสาหกรรม และการบริหารการส่งออก รวมทั้ง มีปัญหาทักษะแรงงานด้วย อีกประเด็น คือ การแข็งค่าเงินบาทในช่วงปีที่ผ่านมา และต้นปี 2563 ไม่ได้สอดคล้องในการแข่งขันกับประเทศไทย
“สงครามการค้าครั้งนี้ เกิดจาก New Normal ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ดังนั้น ตลอดครึ่งปีของประเทศ รวมถึงเวทีการค้าโลก ต่างก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ซึ่งประเทศไทยต้องตั้งรับ และเรียนรู้ให้มากขึ้น ไม่อาศัยตลาดจีน หรือสหรัฐอย่างเดียว ต้องตอบรับการเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัฒน์ ยุคออนไลน์ โดยต้องฝากผู้ประกอบการให้ปรับให้ทันกับโลกยุคใหม่ด้วย”
น.ส.เบญจา ระบุว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สร้างความมั่นใจไม่ได้ ในระยะเวลาครึ่งปีมานี้ รัฐบาลไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจเลย ทั้งที่กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท กับ พ.ร.บ.โอนงบฯ รัฐบาล ที่ทำให้มีงบกลาง 8.8 ล้านล้านบาท จะบอกว่าประเทศไม่มีเงินก็ไม่ถูกต้อง แต่เป็นปัญหาการบริหารของรัฐบาลมากกว่า อยากให้รัฐบาลเยียวยาประชาชน และผู้ประกอบการ ไทยมีแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการตีเช็คเปล่า ดังนั้นการปรับแผนงานสามารถทำได้
ส่วนพรรคก้าวไกลมีแนวทางจะเสนอไปยังผู้ประกอบการ เพิ่มความยืดหยุ่นให้ภาคธุรกิจส่งเสริมการลงทุนให้มาก ต้องมีโมเดลในการเปิดประเทศ เพื่อดูแลความปลอดภัยโรคระบาด ต้องมีจินตนาการ วางแผนการลงทุน ส่งออกการท่องเที่ยว มากกว่าเน้นขายทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นอีสปอร์ต การส่งเสริมท่องเที่ยวแบบอีโค และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ภาครัฐก็ต้องปรับตัวส่งเสริมภาคการลงทุนอุตสาหกรรมส่งออกมากขึ้น
ขณะที่ นพ.เรวัต วิศรุตเวช รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ระบุว่า โควิด-19 กระทบประชาชนทั้งโลก ไทยเองก็ได้รับผลกระทบรุนแรงมาก โดยนับถึงสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จีดีพีไทยติดลบ 8 % ทั้งปีจะติดลบ 12% โดยไทยอาจเป็นประเทศที่มีจีดีพีติดลบมากที่สุดในอาเซียน
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเศรษฐกิจของไทยพึ่งพาอุตสาหกรรม การส่งออกเป็นหลัก เมื่อมีโควิด-19 การส่งออกก็หยุดชะงัก ภาคการเกษตร มีแรงงานถึง 40 % แต่คิดเป็นสัดส่วนของจีพีดีเพียงแค่ 10 % ทำให้เมื่อพึ่งส่งออก และท่องเที่ยวไม่ได้ ก็ถูกซ้ำเติมอย่างรุนแรง ตอนที่การท่องเที่ยวโต ต้องการภาคแรงงาน เมื่อท่องเที่ยวตายก็กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงาน
โดยเฉพาะโครงการชิมช้อปใช้ ออกมาหลายเฟสแล้ว แต่ต้องผ่านแอปพลิเคชัน ทำให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงได้ยาก ส่วนโครงการเราเที่ยวด้วยกัน มียอดจองห้องพักเพียง 600,000 กว่าห้อง คิดเป็นวงเงินเพียง 1,800 ล้านบาท เห็นชัดเจนว่า ยังไม่พอ อีกทั้งการจัดสรรงบประมาณ ก็ทำไว้ก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด ทำให้ล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์การจัดงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาโควิด ถือเป็นความไม่ฉลาดของรัฐบาลชุดนี้ ที่แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ไม่่มีความสามารถในการแก้ปัญหา
ขณะนี้ เป็นห่วงในเรื่องหนี้ครัวเรือนเพราะสูงถึง 80 % ของจีดีพี สำนักบริหารหนี้สาธารณะยอมรับว่า หนี้สาธารณะสูงถึง 7 ล้านล้านบาท เมื่อรัฐบาลใช้จ่ายไม่พอ ก็ต้องกู้เงินมาสะสมจนเป็นหนี้ ตนอยากเสนอให้มีการจ้างงาน เพื่อสร้างรายได้ ให้เกิดการใช้จ่าย ทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ต้องรักษาแรงงานไว้อย่าปลดออก ไม่อย่างนั้น จะทำให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ผลกระทบจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังจะต้องเตรียมการรับมือกับวิกฤติ ที่จะเกิดขึ้นหลังโควิดด้วย
ส่วนนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ระบุว่า รัฐบาลไม่มีวิธีแก้ปัญหา นอกจากแจกเงิน แต่ก็แจกไม่เป็น แจกตอนใกล้หาเสียง และเงินก็ไหลไปอยู่ในกระเป๋าเจ้าสัว
ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้เงินไปมากกว่า 20 ล้านล้านบาท แต่ใช้แล้วเศรษฐกิจก็แย่ลง เป็นรัฐบาลที่กู้เงินเยอะที่สุด และไม่คิดว่ามาก่อนว่า จะมีผู้บริหารที่แย่ขนาดนี้
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘กรมบัญชีกลาง’ เผย 8 เดือนเบิกจ่ายงบประมาณเกินเป้า 1.28%
- ครม. ไฟเขียวข้อเสนอลดวงเงิน ‘พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ’ 1.1 หมื่นล้าน
- ผ่านฉลุย! นายกฯ ขอบคุณสภา ผ่านงบฯ รายจ่ายปี 64 ย้ำใช้เงินโปร่งใส