Politics

เช็คเงินเข้าเยียวยาเกษตรกร ด่วน!! เตรียมโอนเงินอีกกว่า 3 แสนราย

เช็คเงินเข้าเยียวยาเกษตรกร วันนี้ “ธ.ก.ส.” เตรียมโอนเงินอีกกว่า 3 แสนราย ด้าน “ปลัดกระทรวงเกษตรฯ” เตรียมถกข้ออุทธรณ์ของเกษตรกรที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา

เช็คเงินเข้าเยียวยาเกษตรกร : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2563 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 แล้ว 7,103,721 ราย รวมเป็นเงิน 35,518 ล้านบาท ขณะที่ เกษตรกรกลุ่มที่ 3 หรือ เกษตรกรกลุ่มผู้ที่ยังอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน จะได้รับเงินครั้งเดียว 15,000 บาท ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2563

สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่มีปัญหาเรื่องเลขบัญชีธนาคาร หรือ ไม่ได้แจ้งหมายเลขธนาคารมาเพื่อรับเงินเยียวยา หลังจากผ่านการตรวจสอบสิทธิ์เงินเยียวยาเกษตรกรในสัปดาห์ที่แล้วจำนวน 356,080 ราย จากการที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา และหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศเร่งประชาสัมพันธ์และไปหาเกษตรกรถึงบ้าน ทำให้ได้บัญชีธนาคารมาแล้ว คงเหลืออยู่ระหว่างติดตาม 62,714 ราย

เช็คเงินเข้าเยียวยาเกษตรกร

ทั้งนี้ หลังจากตรวจสอบสิทธิ์เงินเยียวยาเกษตรกรพบว่า หมายเลขบัญชีของเกษตรกรรับเงินเยียวยา 5,000 ที่ได้เพิ่มมา 293,366 ราย ส่วนใหญ่เป็นบัญชีต่างธนาคาร ซึ่ง ธ.ก.ส.จะส่งชื่อและหมายเลขบัญชีให้ธนาคารนั้น ๆ ตรวจสอบความถูกต้อง จากนั้น ธ.ก.ส.จะโอนให้วันนี้ (8 มิ.ย.)

ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันนี้ (8 มิ.ย.) มอบหมายให้นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ประธานคณะกรรมการ พิจารณาอุทธรณ์สิทธิ์เงินเยียวยาเกษตรกร ประชุมเพื่อพิจารณาสรุป ข้ออุทธรณ์ของเกษตรกรที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา ซึ่งกำหนดกรอบระยะเวลา การพิจารณาข้อร้องเรียนแต่ละรายภายใน 5 วัน โดยย้ำให้คณะกรรมการพิจารณา ด้วยความรอบคอบยึดวัตถุประสงค์ของรัฐบาล ที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด แต่ต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สามารถจ่ายเงินเยียวยาให้แก่กลุ่มบุคคลใดบ้าง รวมทั้งต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้

เช็คเงินเข้าเยียวยาเกษตรกร
ภาพจากเฟซบุ๊ก เรารักชลประทาน

สำหรับจำนวนเกษตรกรที่ยื่นอุทธรณ์ คาดว่า มีประมาณ 200,000 ราย โดยวันที่ 5 มิถุนายนเป็นวันสุดท้าย มีเกษตรกรยื่นอุทธรณ์จำนวนมาก ซึ่งทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ รับเรื่องไว้ทุกราย แม้จะเลยเวลาราชการแล้วก็ตาม

สำหรับผู้ยื่นอุทธรณ์รวบรวมจนถึงเวลา 11.00 น. ของวันที่ 7 มิถุนายน 186,292 ราย แก้ไขปัญหาแล้ว 14,470 ราย อยู่ระหว่างพิจารณา 58,623 ราย ในจำนวนนี้ จะต้องผ่านการพิจารณาในหน่วยงานรับขึ้นทะเบียนระดับภูมิภาค หากเกินอำนาจระดับภูมิภาค จะส่งเข้ามาพิจารณาในส่วนกลาง และถ้ายังสรุปไม่ได้ ให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนเรื่องที่จะเข้าสู่การพิจารณา ของคณะกรรมการ 113,199 ราย โดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ยังคงนำประมวลเรื่องแจ้งอุทธรณ์เข้าสู่ระบบ โดยคาดว่าใช้เวลาอีก 2 – 3 วัน จะได้จำนวนทั้งหมด

ด้านน.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก รัชดา ธนาดิเรก – รองโฆษกรัฐบาล ระบุว่า สำหรับปัญหาการแก้ หนี้เกษตรกร แบ่งเป็น 4 เรื่องด้วยกันคือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้

1. เร่งรัดและดำเนินการจนมีการออกประกาศและระเบียบให้กองทุนฟื้นฟูฯ สามารถวางเงินชำระหนี้แทนเกษตรกรในชั้นบังคับคดีได้ ทำให้ที่ทำกินเกษตรกรไม่ถูกขายทอดตลาด โดยมีเกษตรกรรายแรกได้รับการแก้ปัญหาไปเมื่อ วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา และจะมีเกษตรรายอื่นๆทั่วประเทศอีก 2,743 ราย

2. เตรียมออกมาตรการพักหนี้เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นเวลา 1 ปี ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการแก้ระเบียบ และ

3. เรื่องที่เกษตรกรรอคอยมานาน คือการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรให้สามารถเข้าไปจัดการหนี้เกษตรกรที่มีบุคคลค้ำประกันได้ ขณะนี้อยู่ในขั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะมีการประกาศใช้ในอีกไม่นานนี้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่เกษตรกรเกือบ 4 แสนราย

4. การปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ณ เวลานี้ได้ความชัดเจนเรื่องแนวทางการเจรจาเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การชำระเงินต้นและดอกเบี้ยกับธนาคารของรัฐ 4 แห่ง คือ

  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์
  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์
  • ธนาคารออมสิน
  • ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และจะเริ่มกระบวนการเจรจาจากนี้ไป

อย่างไรก็ตาม ขอเรียนว่า การแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรเป็นวาระสำคัญที่รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างรอบด้าน มีทั้งเรื่องการปรับแก้กฏหมาย/ระเบียบ และการเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ ซึ่งจะบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกรได้มาก มีเกษตรกรหลายรายเป็นหนี้ขึ้นทะเบียนมากว่า 20 ปี หากเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เป็นตามที่ตั้งเป้าไว้ เกษตรกร 4.4 หมื่นราย จะได้รับการลดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย มีที่ดินทำกิน ในขณะที่ธนาคารเจ้าหนี้ไม่ต้องเสี่ยงต่อหนี้สูญ

Avatar photo