Politics

นักวิชาการชี้ ‘อนาคตหลังเลือกตั้ง’ ความวุ่นวายยังอยู่

วันนี้ (5เม.ย.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2562 พร้อมจัดเสวนา หัวข้อ “ อนาคตการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง ” ณ อาคารเรียนรวมกลุ่มสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

เทวานฤมิตรกุล e1554466793539

สูตรคำนวณสส.ต้องยึดตามเจตนารมณ์ประชาชน

รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเมืองไทยหลังเลือกตั้ง ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด แต่ต้องรู้ผลการเลือกตั้ง เพราะสูตรคำนวณขณะนี้มีสองสูตร โดยสูตรแรกมีถึง 27 พรรค และอีกสูตรมี 16 พรรคเท่านั้น

ระบบการเลือกตั้งได้นำระบบ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มาคิดเป็นที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ดังนั้น ถือเป็นครั้งแรก ที่เลือกตั้งแล้วไม่รู้จำนวน ส.ส. เท่าไหร่ เห็นได้จากผลคำนวณบางสื่อ 6 พรรคร่วมรวมได้ 253 เสียง ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ และอีกซีกรวมได้ 123 เสียง

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีผลมากถ้าใช้สูตรของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ จะเหลือเพียง 246 ที่นั่ง ผลลัพธ์พรรคไม่ประกาศจุดยืน หากร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ จะกลับขึ้นมาทันที ซึ่งเมื่อดูพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 เขียนเพียงหลักการ ส่วนเรื่องการปัดเศษอยู่ในกฎหมายประกอบ

ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะใน (4) และ (5) รวมถึง (7) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเลือกตั้ง ส.ส. เพราะการตีความมีผลแตกต่างกันมาก และในขณะนี้ คนเป็นนายกฯได้มีเพียง 7 พรรคถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตีความตาม กรธ.เสนอมา  ดังนั้นโดยภาพรวมแล้ว  กกต. ต้องระมัดระวัง และทำหน้าที่ให้เกิดความเที่ยงธรรม ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้มีคำถาม กกต.หนักหน่วง

อย่างไรก็ดี หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกฯ อีกครั้ง ก็อาจมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติว่า เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าเป็น เพราะกินเงินเดือน และใช้อำนาจรัฐ

แต่ถ้าหากเป็นพรรคเพื่อไทย อาจมีปัญหาเรื่องทักษิณ ส่วนพรรคอนาคตใหม่ ก็มีแรงเสียดทาน และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเรื่องของการแตกเป็น 2 ฝ่าย จะเห็นว่า หลังการเลือกตั้งก็ยังมีปัญหาอยู่

สำหรับกติกาในการเลือกนายกฯ ต้องเลือกในที่ประชุมรัฐสภา โดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา คือ 375 เสียง ซึ่งสูตรการคำนวณ ส.ส. จะมีผลเป็นอย่างมาก ซึ่งมี 4 แนวทาง คือ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ โดยมีเสียงไม่ถึง 250 เสียง แล้วไปหางูเห่าเอาข้างหน้า หรืออาจมี.ส.ส. ไม่ถึง 250 เสียง จึงให้เลือกนายกฯ ใหม่ไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นนายกฯ ต่อไปในฐานะหัวหน้า คสช.

อีกประการคือ ส.ส. สามารถรวบรวมเสียงได้ 376 เสียง โดยเลือกนายกฯ จากคนที่ทุกฝ่ายยอมรับ กรณีนี้อาจมีบางพรรคโหวตให้ โดยไม่ร่วมรัฐบาล และวิธีสุดท้าย คือ การเป็นนายกฯ คนนอกต้องใช้เสียง 500 เสียง จึงน่าจะเป็นกรณีที่ทุกหนทางใช้ไม่ได้แล้วเท่านั้น

ดร.ปริญญา กล่าวว่า กกต.มีอำนาจในการประกาศผล ตนเห็นว่าควรประกาศให้ครบทั้ง 500 คน เพราะหากประกาศเพียง 95% หรือ 475 คน กรณี 25 คนที่ไม่ประกาศ เป็นคนของข้างหนึ่งข้างใด จะทำให้การโหวตนายกฯ หมิ่นเหม่ ทางที่ดีจึงควรประกาศให้ครบ 100% หากมีปัญหาถึงร้องศาลฎีกา

“เชื่อว่าการเมืองยังมีทางไปได้ยังไม่ตาย แต่แพ้ชนะ ขอให้เป็นไปตามกติกา ทุกฝ่ายเคารพเสียงของผู้อื่น ที่สำคัญการคำนวณสูตร ส.ส. ต้องคำนวณตามเจตนารมณ์ของประชาชน “

บำรุงสุข e1554466841200

เสนอตั้งคณะกรรมการกลางยุติปัญหา

ขณะที่ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากปัญหาการคิดคำนวณหาจำนวนส.ส.  ส่วนตัวเห็นควรให้ตั้งคณะกรรมกลางขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาทางตันในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งการเลือกตั้งรอบนี้เปรียบได้ดั่ง “ไทยเบร็กซิท” และหากให้เทียบก็เหมือน ” 14 ตุลาฯ ยุค 4.0 “ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่ โดยต้องยอมรับว่ามีพลัง เหมือนกับปรากฏการณ์อาหรับสปริง ถ้าเอากรุงเทพฯ มาเทียบกับกรุงไคโร จะคล้ายกัน คือ คนรุ่นใหม่ต่อสู้ โดยใช้เครื่องมือชุดใหม่ ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และยูทูบ สู้กับรัฐบาลทหาร บริบทเปิดพื้นที่ใหม่การเมืองเป็นไซเบอร์

“เรากำลังไปสู่การเมืองคนรุ่นใหม่ แม้จะไม่ถึงอาหรับสปริง แต่พอเทียบกันได้  สถาปนิก คสช. คิดเยอะ แต่ลืมเรื่องใหญ่ ที่การเมืองมีตัวแสดงใหม่เข้ามาเล่นโดยคนรุ่นใหม่ ”

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญถ้าสู้ตามกติกาปกติ จะประเมินได้ว่ารัฐบาลใหม่หน้าตาทิศทางเป็นอย่างไร แต่ครั้งนี้ตัวเลขเป็นปมต่อไม่ได้ สถาปนิกที่ออกแบบ รวมถึงโพล นักวิชาการ ตกม้าตาย เหมือนตอนเลือกประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ทุกคนคิดว่า ฮิลลารี คลินตัน จะชนะโดนัล ทรัมป์ แต่เมื่อเอาจริงก็ไม่ใช่

นอกจากนี้ ระบบทั้งหมดออกแบบมา เพื่อให้มีปัญหาหรือเปล่า และคนที่รับบาปชุดใหญ่สุด คือ กกต. แพะรับบาป บูชายัญ ล้มเลือกตั้งใหม่ เพราะเห็นบางพื้นที่แล้ว การเลือกตั้งเสรี และเป็นธรรม ต้องทำงานได้อย่างประสิทธิภาพมากกว่านี้ ส่วนความเข้มข้นการเมือง กองทัพไม่เคยพูดอะไร เลือกตั้งหรือผลยังไม่ออก แต่ครั้งนี้มาพูดถึง 4 ประเด็น หมายถึงทหารเสนอตัวเป็นผู้จัดการทางการเมืองหรือไม่

“ ทหารกับการเมืองเป็นอะไรที่ต้องคิด สื่อญี่ปุ่นบอกเป็นชัยชนะ คือ ทหาร แต่เป็นชัยชนะเปราะบาง และน่ากังวล ในระยะเวลาไม่นานที่ผ่านมา เห็นการปลุกกระแสขวาจัด มีคนถามเหมือนตุลา 19 หรือไม่ ผมบอกว่าคล้าย เพราะตอนนี้สื่อบางสำนัก วางตัวเป็นดาวสยาม หรือ สถานียานเกราะ ไม่อยากเห็น 6 ตุลา อีกรอบ กระแส 6  ตุลายุคดิจิทัล สัญญาณนี้ไม่เป็นบวกกับสังคมไทย ”

อย่างไรก็ตาม วันนี้ทุกพรรคสู่ประชานิยมกันหมด น่าคิดว่าอนาคตไทยสังคม จะตอบรับ หรือต่อต้านประชานิยม เพราะบางพรรคต่อต้านแต่กลับทำมากกว่าที่คิด สุดท้ายคิดว่าโจทย์ทั้งหมด น่ากลัว เรื่องการคำนวณส.ส. หากไม่ผ่านด่านนี้ตั้งรัฐบาล และ เปิดสภาไม่ได้ ประเทศจะเอาอย่างไร

ศ.ดร.สุรชาติ ย้ำว่า การเมืองไทยอยู่ในสภาวะปัญหาเสถียรภาพ และความไม่แน่นอน อีกทั้งโลกล้อมประเทศไทย เพราะเป็นประธานอาเซียน จึงไม่อยากเห็นนายกฯในฐานะประธานอาเซียนมาจากรัฐประหาร วันนี้ไซเบอร์ใหญ่มาก และน่าสนใจ เพราะเอาการเมือง ความมั่นคง ใส่เข้าไปด้วย

ขณะเดียวกัน ภายใต้ประชาธิปไตย ทหารเป็นกลไกรัฐ ไม่ใช่รัฐ โจทย์เรียกร้องที่เป็นกระแส คือ ปฏิรูปกองทัพ กระแสจะอยู่ และเมื่อคนรุ่นใหม่ ไม่อยากเกณฑ์ทหาร จะเอาด้วย รูปแบบกองทัพอนาคตจะออกแบบอย่างไร ถ้าเชื่อว่าการเมืองตัน แต่ระบบสภาไม่ตัน มีคนเชื่อว่าทหารต้องล้างท่อ ต้องก้าวข้ามชุดความคิดนี้

“ วันนี้โจทย์ใหญ่กว่าสลายสีเสื้อ คือ เศรษฐกิจ ความเหลือมล้ำเศรษฐกิจสูงมากวันนี้ จะเห็นรูปแบบการประท้วงแจ็คเก็ตเหลืองของฝรั่งเศส และระบาดในยุโรป อนาคตไทยสีเสื้อสลายจะเกิดม็อบแบบนี้แทน วันนี้ทุกฝ่ายเห็นพ้องพอสมควรด้วยการออกแบบกติกากันใหม่ อีกฝ่ายไม่ให้แตะ กติกาสร้างปัญหาให้ประเทศไทย กติกาออกแบบติดหล่มกับตัวเอง และพาออกมาไม่ได้ ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนเติบโตหมด ”

ตันไชย 1 e1554466892761

เชื่อความขัดแย้งรอบใหม่กำลังปะทุ

ด้าน รศ.ดร.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า สิ่งที่ห่วงหลังการเลือกตั้ง คือ วิกฤตคำว่า “ถูกกติกาแต่ไม่ชอบธรรม” เช่น ส.ว. 250 คน เลือก      นายกฯได้ แม้จะเป็นกติกาที่ถูกต้อง แต่คนจะรู้สึกว่าไม่ชอบธรรม ถ้าจะทำให้การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับ การเลือกตั้งต้องเสรี และเป็นธรรม ซึ่ง กกต. ต้องทำให้เป็นที่ยอมรับได้ แต่บังเอิญว่ากระบวนการตรงนี้มีปัญหา

“ วันนี้พอมีปัญหาเรื่องผลลัพธ์ จึงเป็นห่วงว่าหลักนิติรัฐ และหลักนิติธรรม ของสังคมกำลังถูกสั่นคลอน สิ่งหนึ่งที่เราต้องเคารพ คือ เกมนี้เป็นเกมของการเมือง และการเมืองเป็นไปได้ทุกอย่าง นอกจากนี้ ระหว่างการเลือกตั้ง มีข้อโต้แย้ง หรือบางคน เรียกว่า วาทกรรม ผมคาดหวังว่าเมื่อการเลือกตั้งจบ วาทกรรมน่าจะจบ แต่ปรากฏว่าวาทกรามยังรุนแรง เป็นการใช้ข้อเท็จจริงบวกอารมณ์ ทำให้น่าเป็นห่วงว่า จะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ ที่จะเกิดความรุนแรงหรือไม่ ”

ทั้งนี้ เชื่อว่าปัญหาควรจบที่ศาล และกติกาจะดีที่สุด คุณสมบัติของสังคมประชาธิปไตย คือ ความอดทน น่าแปลกว่า 4 ปีที่แล้ว ตั้งคำถามกับมาตรา 44 แต่ 2 – 3 ปีหลัง หน่วยงานจำนวนมากทำอะไรไม่ได้  ก็ให้ออกมาตรา 44 เพื่อความรวดเร็ว ซึ่งในสังคมประชาธิปไตย จะใช้แบบนี้ไม่ได้ ต้องเคารพในการตรวจสอบ และความเห็นต่าง เพราะหลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าใครเป็นนายกฯด้วยสูตรแบบไหน ต้องเคารพให้ทำงาน และประชาชนเฝ้าดู

“เราต้องหยุดสิ่งเร่งเร้าที่ทำให้เกิดขึ้นในสังคม วันนี้ตัวเร่ง คือ ไซเบอร์ เป็นความอันตราย และความเสี่ยงของสังคม คาดหวังว่าไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล เราต้องยอมรับ และปล่อยให้กลไกรัฐสภาเดินหน้า ขณะเดียวกันสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน ต้องได้รับความคุ้มครอง กลไกการตรวจสอบต้องทำงาน เมื่อมีรัฐบาลแล้ว ระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสังคม ต้องถูกแก้ การแก้ความเหลื่อมล้ำต้องเกิดขึ้นจริง ”

Avatar photo