Politics

‘วิษณุ’ เตือน! โหวต ‘ประธานสภา’ ห้ามเกิน 13 ก.ค. ส่วน ‘นายกฯ’ ลากยาวได้!

“วิษณุ” เตือน! โหวต “ประธานสภา” ห้ามเกิน 13 กรกฎาคม ส่วนเลือก “นายกรัฐมนตรี” ลากยาวได้จนกว่าจะครบ 376 เสียง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเลือกประธานสภาต้องประชุมให้มีการเลือกให้ได้ภายใน 10 วัน นับแต่วันเสด็จเปิดรัฐสภา ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 หรือไม่เกินวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 และไม่มีเหตุที่จะเลือกกันไม่ได้ เพราะไม่เหมือนการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ต้องใช้คะแนนเสียงเกิน 376 ของ 2 สภา แต่การเลือกประธานสภาใช้สภาเดียว และใช้เสียงข้างมากของ ส.ส. ก็สามารถทำได้

ประธานสภา

เมื่อถามว่า การเสนอชื่อประธานสภาสามารถเสนอชื่อแข่งขันมากกว่า 2 คนได้หรือไม่นายวิษณุ กล่าวว่า จะเสนอแข่ง 5 คนก็ได้ และใช้เสียงข้างมากของ ส.ส. ในการตัดสิน จึงขอย้ำว่าโอกาสที่จะเลือกไม่ได้จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น หาก 2 พรรคคะแนนเสียงต่างกันใครชนะก็ได้

เมื่อถามว่า หากพรรคอันดับหนึ่ง และอันดับสองเสนอชื่อแข่งกัน และหากมีกลุ่มพรรคขั้วที่สามที่มี 188 เสียง เสนอแข่งมีโอกาสส้มหล่นได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เห็นเหตุที่จะเกิดขึ้น เพราะตอนนั้นต้องเสนอไปพร้อมกัน พรรคหนึ่งก็เสนอ พรรคสองก็เสนอ และกลุ่มพรรคขั้วที่สามอยากจะเสนอก็เสนอไป 3 คนแล้วก็โหวตแข่งกัน เพราะอาจต้องมีการแสดงวิสัยทัศน์ หรือไม่ต้องก็ได้ขึ้นอยู่กับมติสภา แต่หากมีแล้วฟังไม่หมดก็เลื่อนไปโหวตต่อในวันถัดไปก็ได้

เมื่อถามว่า ตามหลักการประธานสภาในฐานะประธานรัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจควบคุมการเลือกนายกฯ หรือเป็นเรื่องของมติที่ประชุมรัฐสภา นายวิษณุ กล่าวว่า ประธานสภามีหน้าที่กำหนดวันโหวตนายกฯ ถึงเวลาจะเลือกกันอย่างไร มีกี่ชื่อก็เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา

เมื่อถามว่า หากการโหวตนายกฯ ไม่ถึง 376 เสียง จะต้องทำยังไง นายวิษณุ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องของประธานสภาที่ต้องดำเนินการ และไม่มีกรอบเวลา จะวันรุ่งขึ้นหรือ 7 วันหรือ 15 วันก็ได้ โดยให้สมาชิกกลับไปคิด

ประธานสภา

เมื่อถามว่า ดูจากสถานการณ์การเมืองขณะนี้มองว่าจะเลือกนายกฯ ได้ช้าหรือเร็ว นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ

เมื่อถามว่า หากเกิดเหตุการณ์เลือกนายกฯ ไม่ได้ ประธานสภาสามารถเป็นผู้กำหนดพลิกเกมไปเลือกแคนดิเดตคนอื่นได้หรือไม่ หรือเป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภา นายวิษณุ พยักหน้า พร้อมระบุว่า ตอนนั้น ส.ส. ปฎิญาณตนเสร็จแล้ว จึงมีฐานะในการประชุมสภาปกติ ใครเสนอมาถ้าอีกฝ่ายไม่เห็นด้วยก็เสนอมาแข่ง ประธานสภาก็จะให้โหวตกันว่าจะเลือกแบบไหน

ถามว่า หากเลือกนายกฯ ไม่ได้ แต่ต้องการเลือกต่อ เป็นอำนาจสมาชิกรัฐสภา หรือประธานรัฐสภา นายวิษณุ กล่าวว่า แล้วแต่ประธานรัฐสภาจะนัดวัน แต่ส่วนใหญ่ประธานรัฐสภาจะฟังเสียงสมาชิก

เมื่อถามว่า ส่วนใหญ่หากนัดโหวตนายกฯ เพื่อเปิดทางมีการล็อบบี้กันใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องล็อบบี้สื่อเป็นคนพูด การนัดใหม่อาจมีเหตุหลายอย่างก็ได้เหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ไม่ให้ลงมติในวันเดียวกัน เพราะต้องการให้กลับไปคิดกันใหม่ เพราะอาจจะมาด้วยขอเสนอที่ดีกว่าเดิมก็ได้ เช่น เปลี่ยนคน

เมื่อถามย้ำว่า สุดท้ายคือใช้มติเสียงข้างมากในการตัดสินใช่หรือไม่ นายวิษณุ พยักหน้าและบอกว่า “ใช่”

ประธานสภา

เมื่อถามว่า สุดท้ายแล้วอำนาจของประธานสภาแค่กำหนดวันในการเลือกนายกฯ ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับตอนช่วงเลือกนายกฯ แต่เขาไม่ได้แย่งตำแหน่งกันเกี่ยวกับการเรื่องนายกฯ หรอก เขาต้องการเอาตำแหน่งประธานสภาเพื่อทำหน้าที่อื่น ๆ ต่อไปด้วย ทั้งเรื่องกฎหมาย กระบวนการต่าง ๆ การนัดวันประชุมเพราะจบเรื่องการเลือกนายกฯ แล้ว ได้นายกฯ แล้วประธานก็ยังมีอำนาจ แต่ไม่ได้มีอำนาจยิ่งใหญ่ไพศาล อย่างที่นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภาพูด ชี้เป็นชี้ตายอะไรไม่ได้ เพราะบางอย่างประธานสภาตัดสินใจเองได้ บางอย่างก็ต้องอยู่ภายใต้เสียงข้างมาก และอำนาจอีกอย่างของประธานสภาคือเปิดและปิดประชุม

เมื่อถามว่า ประธานสภามีอำนาจตัดตอนการนำเสนอกฎหมายได้หรือไม่ อย่างเช่นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นายวิษณุ กล่าวว่า ประธานชี้ขาดตอนแรกว่าจะรับหรือไม่รับ ที่ผ่านมาชี้ว่าไม่รับ เพราะเป็นการเสนอกฎหมายที่ผิดกฎหมายก็ไม่รับ

เมื่อถามต่อว่า จึงเป็นเหตุที่พรรคก้าวไกลอยากได้ตำแหน่งประธานสภาใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่ทราบว่าเขาอยากได้เพราะอะไร แต่แน่นอนถ้าใครได้ก็ดีทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วหากได้ตัวประธานสภาแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่ขณะเดียวกันหากได้นายกฯคนใหม่ ประธานสภาต้องเป็นผู้รับสนองฯ

เมื่อถามว่า คนที่มีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ สามารถลาออกได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ แต่จะใช้วิธีว่าถ้าเขาเลือกแล้วคุณไม่ต้องรับ หรือไม่ก็ทำให้ตัวเองขาดคุณสมบัติ แต่จะไปลาออกไม่ได้ เพราะว่าตั้งแต่ตอนสมัครแล้วเขาระบุไว้แล้วว่าถอนตัวไม่ได้ ยกเว้นเสียชีวิต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo