Politics

‘บิ๊กตู่’ ติดตามสถานการณ์น้ำ สั่งเตรียมพร้อมรับมือฝนน้อยจากเอลนีโญ!

“โฆษกรัฐบาล” เผย “บิ๊กตู่” ติดตามสถานการณ์น้ำและแผนบริหารจัดการน้ำใกล้ชิด กำชับเตรียมพร้อมรับมือฝนน้อยจากเอลนีโญ เร่งกักเก็บน้ำ ส่งต่อให้ถึงปีหน้ามากที่สุด

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์น้ำแลการวางแผนบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

เอลนีโญ

ล่าสุด รัฐบาล โดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ฯลฯ ติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบของสภาวะเอลนีโญ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นยาวไปถึงปี 2567

โดยคาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำในปี 2566 และ 2567 จะคล้ายกับสถานการณ์น้ำเมื่อปี 2562 ซึ่งเกิดสภาวะเอลนีโญต่อเนื่องจนถึงปี 2563 ทั้งนี้ใช้ข้อมูลในปี 2563 เพื่อประเมินปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พ.ย. 2567 สำหรับใช้ในการบริหารจัดการน้ำระยะยาว 2 ปี โดยมุ่งกักเก็บน้ำต้นทุนส่งต่อไปยังปี 25667 ให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้งหากยังคงมีปริมาณฝนน้อยต่อเนื่องถึงปีหน้า

เนื่องจากปัจจุบันคาดว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนปี 2566 ปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 จะมีปริมาณเพียง 60-70% เท่านั้น ดังนั้นที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ฯลฯ จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนต่างๆ รวมถึงแหล่งน้ำสำรองในการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

อนุชา
นายอนุชา บูรพชัยศรี

นายอนุชา กล่าวว่า จากข้อมูล กอนช.และสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยประชาชนและเกษตรกร เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการวางแผนเตรียมความพร้อมทุกด้านอยู่เสมอเพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า และให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรได้เข้าใจสถานการณ์น้ำทั้งในปีนี้และปีหน้า ส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกเพียงหนึ่งรอบ เพื่อสงวนน้ำไว้สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ในฤดูแล้งที่จะมาถึง

โดยให้ความสำคัญกับน้ำอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก รวมถึงป้องกันการยืนต้นตายของไม้ผล ไปจนถึงการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมและรักษาระบบนิเวศ พร้อมขอให้เกษตรกรติดตามข่าวสารจากภาครัฐอย่างใกล้ชิดเพื่อลดความเสี่ยงของการเพาะปลูกจากฝนทิ้งช่วง ซึ่งขณะนี้ กรมชลประทานได้มีการส่งเสริมการปลูกข้าวเบาที่มีอายุสั้นและเก็บเกี่ยวได้เร็ว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์ที่สุด รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนพัฒนาแหล่งน้ำของตนเองเพื่อรองรับหากเกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงด้วย

shutterstock 1672414813

“ข้อมูล สทนช. ระบุพื้นที่ประสบภัยแล้ง ตามประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบว่ามีพื้นที่ประสบภัยแล้ง เช่น อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ซึ่ง รัฐบาล โดย สทนช. ได้มีการติดตามสถานการณ์และประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่เพจเฟซบุ๊คของ สทนช. หรือแจ้งไปยัง สทนช.ทั้ง 4 ภาค โดยจะมีการติดตามตรวจสอบและประสานงานให้ความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาโดยเร็วที่สุด” นายอนุชา กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK