Politics

ส่องนโยบาย 100 วันแรกของ ‘ก้าวไกล’ พร้อมทำทันทีหลังเป็นรัฐบาล!

ส่องนโยบาย 100 วันแรกของพรรคก้าวไกล ที่ “พิธา” ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เคยประกาศไว้ว่าพร้อมทำทันทีหลังเป็นรัฐบาล!

หลังวานนี้ (16 พ.ค.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ประกาศพร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ดึงพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก หลังการประกาศดังกล่าว ทำให้เรื่องนโยบายของพรรคก้าวไกลได้ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง

นโยบาย 100 วันแรก

นายพิธา เคยระบุว่า หากได้เป็นรัฐบาล 100 วันแรก จะเป็นการทำงานที่ไม่ต้องแก้กฎหมาย สามารถทำได้เลย เช่น การเสนอ ครม. ทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยต้องผ่านสสร. ให้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลงบทุกบาท นำกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่พิจารณาค้างไว้ในรัฐบาลที่แล้ว มาทำให้เสร็จ ยกเลิกบังคับใส่ชุดนักเรียนและทรงผม พร้อมทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ทันที อาทิ หวยใบเสร็จ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท แก้สูตรค่าไฟ สุราก้าวหน้า ออกโฉนดนิคมสหกรณ์ และเปิดเสรีโซลาร์เซลล์ เป็นต้น

ส่วนภายใน 1 ปีแรก จะเดินหน้านโยบาย อาทิ ปลดล็อคเลือกตั้งผู้ว่าทุกจังหวัด แก้ไขกฎหมายการเกณฑ์ทหาร ให้เป็นโดยสมัครใจ และรื้อฝื้นคดีสลายการชุมนุม 2553 พร้อมยื่นแก้ไขจดหมาย 45 ฉบับ เช่น แก้กฎหมายการหมิ่นประมาท มาตรา 112 และ 116 น้ำประปาดื่มได้ และแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น

นโยบาย 100 วันแรก

เปิดนโยบาย 100 วันแรกของพรรคก้าวไกล

1. ประชามติ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จัดให้มีการทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่าควรมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ภายใน 100 วันแรก ของรัฐบาลก้าวไกล

2. ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกในชายแดนใต้ ยุติการใช้กฎอัยการศึกในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายสถานการณ์รุนแรง

3. ประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ไม่มีใครตกงาน-เสียประโยชน์ โดยจะจัดให้มีประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ ให้มีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และโอนถ่ายอำนาจการบริหารจังหวัดไปสู่ท้องถิ่น หากประชามติได้รับความเห็นชอบจากประชาชน จะปูทางไปสู่การเปลี่ยนสังกัดของข้าราชการส่วนภูมิภาคและฝ่ายท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน)

โดยไม่มีตำแหน่งใดที่หาย และไม่มีใครตกงานหรือสูญเสียสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับ เดิมที่ทำแยกกันภายใต้ผู้ว่าฯ แต่งตั้ง อธิบดีกรม ปลัดกระทรวง เป็นการทำงานร่วมกันภายใต้ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่ จากเดิมที่ทำงานแยกกันภายใต้ผู้ว่าฯ แต่งตั้ง อธิบดีกรม ปลัดกระทรวง ที่ถูกแต่งตั้งโดยราชการส่วนกลาง ไปเป็นรูปแบบใหม่ที่มีการทำงานร่วมกันภายใต้ผู้บริหารท้องถิ่น (นายกจังหวัด) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่

นโยบาย 100 วันแรก

4. ยกเลิกกฎระเบียบและคำสั่ง คสช. ที่ล็อกคอ-ล้วงลูกท้องถิ่น ยกเลิกคำสั่ง คสช. 8/2560 ที่เข้ามาแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของ อปท. ทำให้ท้องถิ่นขาดกำลังคน และยกเลิกกฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ที่จำกัดอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และไม่จำเป็นต่อการบริหารราชการท้องถิ่น เช่น การใช้จ่ายประมาณของท้องถิ่น การสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่น การลาของผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น การเห็นชอบข้อบัญญัติท้องถิ่น

5. ห้ามใช้เงินหลวงโปรโมตตัวเอง ตรวจสอบการใช้งบประชาสัมพันธ์ภาครัฐอย่างเข้มข้น และกำหนดว่าการใช้งบจะต้องเป็นการโฆษณาโครงการ หรือผลงานของหน่วยงานเท่านั้น โดยห้ามไม่ให้ใช้เพื่อโฆษณาตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี อธิบดี หรือหัวหน้าหน่วยงาน ที่ไม่ได้ควักเงินตัวเองมาทำโครงการ

6. กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ออกข้อกำหนด กฎโรงเรียนต้องห้าม เพื่อไม่ให้โรงเรียนออกกฎระเบียบของโรงเรียนที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียน (เช่น การบังคับเรื่องทรงผม การลงโทษด้วยวิธีรุนแรงทุกประเภท การบังคับให้เด็กบริจาคเงินหรือสิ่งของ การบังคับซื้อของ และการบังคับให้ทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน) รวมถึงอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็ก

7. ครูละเมิดสิทธิ พักใบประกอบทันที พักใบประกอบวิชาชีพครูทันทีเมื่อมีการละเมิดสิทธิเด็ก (เช่น การทำร้ายร่างกายเด็ก การล่วงละเมิดทางเพศ) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการงดโทษหรือลงโทษเพียงแค่ย้ายโรงเรียน ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่ปลอดภัยของผู้เรียนในสถานศึกษาอื่น แก้ปัญหาการปกปิดความผิดโดยโรงเรียนเมื่อเกิดเหตุการละเมิดสิทธิกับนักเรียน ผ่านการจัดให้มีผู้ตรวจการนักเรียน (Student Ombudsman) ที่ขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เป็นช่องทางร้องเรียนที่เป็นอิสระจริงจากโรงเรียน-เขตพื้นที่

นโยบาย 100 วันแรก

8. เลิกให้ครูนอนเวร ยกเลิกการให้ครูนอนเวรเฝ้าโรงเรียน เพื่อให้คุณครูสามารถโฟกัสไปที่การเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่

9. ยกเลิกพิธีรีตองในการประเมินครู-รับแขก เช่น การจัดแต่งอาคารสถานที่ต้อนรับผู้ประเมิน เพื่อให้คุณครูสามารถโฟกัสไปที่การเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่

10. เปลี่ยนนิคมสหกรณ์เป็นโฉนดทันที เร่งเปลี่ยนที่ดินนิคมสหกรณ์ทุกแห่งทั่วประเทศ เป็นเอกสารสิทธิ หรือโฉนดให้เกษตรกรและประชาชนทันที

11. หยุดบังคับติดตั้งระบบ Automatic Identification System ยกเลิกนโยบายกำหนดให้เรือประมงพาณิชย์ติดตั้งระบบ Automatic Identification System ที่ซ้ำซ้อนกับ VMS ที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้เหลือเพียงระบบเดียว

12. ค่าไฟแฟร์ ถูกและเป็นธรรมสำหรับประชาชน ลดค่าไฟให้กับประชาชนได้อย่างน้อย 70 สตางค์ต่อหน่วย (เฉลี่ยบ้านละ 150 บาท) โดยปรับนโยบายเพื่อให้ความสำคัญกับประชาชนก่อนกลุ่มทุน (เช่น การเปลี่ยนนโยบายก๊าซธรรมชาติให้โรงแยกก๊าซร่วมหารต้นทุนก๊าซใน Energy Pool ด้วย และให้ก๊าซจากอ่าวไทยขายให้โรงไฟฟ้าก่อนโรงงานอุตสาหกรรม หรือขายก๊าซให้โรงงานอุตสาหกรรมในราคา LNG เพื่อให้ก๊าซจากอ่าวไทยราคาถูกกว่าป้อนโรงไฟฟ้าได้มากขึ้น) เจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับสัมปทานทุนใหญ่พลังงานใหม่ เพื่อลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจากค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง

นโยบาย 100 วันแรก

13. หลังคาสร้างรายได้ เปิดเสรีโซลาร์เซลล์ ประกันราคาซื้อพลังงานสะอาดสำหรับครัวเรือน

14. ลดรายจ่าย SME : หักค่าใช้จ่ายเหมาภาษี เพิ่มจาก 60% เป็น 90%

15. เพิ่มแต้มต่อให้ SME: หวยใบเสร็จ ซื้อของร้านค้ารายย่อย ทั้งคนซื้อคนขายได้หวย ลุ้นรวยเงินล้าน โดยจะเพิ่มลูกค้าให้ SMEs โดยการเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนที่เลือกซื้อสินค้า SME ได้รับแถมสลากกินแบ่งของรัฐบาลไปลุ้นรางวัล

สำหรับคนซื้อ หรือประชาชนทั่วไป: เมื่อซื้อสินค้าจาก SMEs ครบ 500 บาท สามารถแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ 1 ใบ (จำกัดไม่เกิน 2 ใบ/คน/เดือน และจำนวน 10 ล้านคน/เดือน) เพิ่มโอกาสลุ้นหวยให้ SMEs โดยการนำยอดขายมาแลกเป็นสลากกินแบ่งของรัฐบาลได้ด้วย

สำหรับคนขาย หรือผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ : เมื่อขายสินค้าครบ 5,000 บาท สามารถแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ 1 ใบ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK