General

ทำความรู้จัก ‘มะเร็งโคนลิ้น’ โรคร้ายที่ไม่พบบ่อยในคนไทย มีอาการแบบนี้ รีบพบแพทย์ด่วน

มะเร็งโคนลิ้น พบน้อยในไทย แต่มีแนวโน้มที่มากขึ้น สังเกตอาการกลืนลำบาก เจ็บคอเวลากลืนอาหาร เลือดออกทางช่องปาก ปวดหู เสียงเปลี่ยน มีก้อนที่คอ ควรรีบพบแพทย์

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งโคนลิ้น เป็นส่วนหนึ่งของมะเร็งคอหอยส่วนปาก หรือที่เรียกว่ามะเร็งคอหอยหลังช่องปาก มีแนวโน้มที่พบมากขึ้นในคนไทย ผู้ป่วยส่วนมากที่เป็นโรคนี้ มักจะได้รับการวินิจฉัยในระยะลุกลามแล้ว

มะเร็งโคนลิ้น

จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ พบว่า แม้ปัจจุบันจะพบได้น้อยในคนไทย แต่ก็พบว่ามีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งคอหอยส่วนปากรายใหม่ 800 ราย ซึ่งถือว่าน้อย ถ้าเทียบกับจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทั้งหมด 140,000 ราย แต่ก็พบว่ามีแนวโน้มจะพบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับพฤติกรรมความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคดังกล่าว ได้แก่ การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ เคี้ยวหมากร่วมกับใบยาสูบ และการติดเชื้อไวรัส Human papilloma virus (HPV) ซึ่งเป็นไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ดังนั้น การมีคู่นอนหลายคนและการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก จึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคนี้ด้วย ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ผู้หญิงเองก็สามารถป่วยเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน หากมีพฤติกรรมเสี่ยงข้างต้น

1

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจวินิจฉัยโรค หากผู้ป่วยพบว่า ตนเองมีอาการกลืนลำบาก เจ็บคอเวลากลืนอาหาร มีเลือดออกทางช่องปาก ปวดหู พูดเสียงเปลี่ยนหรือมีก้อนที่คอ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

ทั้งนี้ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายส่องกล้องทาง หู คอ จมูก เพื่อตรวจในลำคอ หากจำเป็นแพทย์จะสั่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กเพิ่มเติม

การรักษา อาจสามารถหายได้ หากรีบเข้ารับการรักษา ตั้งแต่ตอนที่รู้ตัวว่าป่วยในระยะเริ่มต้น เพราะยิ่งรู้ตัวเร็วก็จะรักษาได้อย่างทันท่วงที และมีโอกาสหายสูง วิธีการรักษา สามารถทำได้ด้วยการให้รังสีรักษาและการผ่าตัด

2

ในกรณีที่เป็นระยะลุกลามที่ผ่าตัดไม่ได้ จะเป็นการรักษาโดยให้รังสีรักษา ควบคู่กับเคมีบำบัด ซึ่งทั้งหมดจำเป็นต้องประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องจากมีปัจจัยที่ต้องคำนึงหลายประการ

สำหรับการป้องกัน ทำได้โดยการงดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ที่สำคัญหากมีอาการหรือสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อมะเร็งคอหอยส่วนปาก ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ซึ่งจะช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที และลดอัตราการเสียชีวิตได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo